GCAP เจอผลกระทบโควิด-19 กดดันผลการดำเนินงาน ระบุสาเหตุหลักที่รายได้ลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลง ส่วนแผนการดำเนินงานยังปักธงธุรกิจภาคการเกษตร เน้นให้ความสำคัญในการให้บริการสินเชื่อที่บริษัทมีความชำนาญ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรมากขึ้น ทั้งเล็งหาโอกาสเพิ่มไลน์การทำธุรกิจ ต่อยอดเพิ่มมูลค่า พร้อมเจรจาพันธมิตรใหม่เข้ามาเสริมทัพ

 

นายอนุวัตร โกศล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร สินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อประเภทอื่นๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบภาพรวม ทั้งในเรื่องยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ หรือการขยายเวลาในการผ่อนชำระ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของบริษัท ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

“ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ GCAP หันกลับมาให้ความสำคัญต่อเรื่องการให้บริการในสินเชื่อที่บริษัทมีความชำนาญ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรมากขึ้น รวมทั้งการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบในด้านอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่โดยส่วนตัวยังเชื่อว่า ธุรกิจภาคการเกษตรยังเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจ และยังมีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับอีกหลายภาคธุรกิจ เห็นได้จากผลกระทบที่เกิดขึ้น แม้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ภาคการเกษตรก็ถือว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบทางตรง เนื่องจากผู้คนยังมีความจำเป็นในเรื่องการบริโภค” นายอนุวัตร กล่าว

ทั้งนี้ การให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ กลุ่มเกษตรกรจะยังเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท สัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อส่วนบุคคลในปัจจุบันอยู่ในระดับ 74%และ 26% ตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารต้นทุน การคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในไตรมาส 3/64 ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทลดลง 3.13% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 3/64 มีกำไรสุทธิ 1.61 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลง โดยบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 64.39 ล้านบาท ลดลง 8.10 ล้านบาท หรือ 11.18.% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 72.50 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในสถานการณ์ที่แม้ว่าจะเป็นภาวะวิกฤติอย่างในปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้ศึกษารูปแบบการสร้างรายได้ในด้านอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างสมดุลของโครงสร้างรายได้ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการเปิดรับพันธมิตรใหม่ที่สนใจจะเข้าร่วมทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการศึกษาร่วมกับกลุ่มผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตร โดยล่าสุดได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกลุ่มพันธมิตรเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะเล็งเห็นว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับสู่สภาวะปกติ ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างโอกาสให้อย่างมาก เพราะการท่องเที่ยวในประเทศไทยยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกและจากคนไทย ซึ่งภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงโครงการธุรกิจใหม่ ซึ่งบริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้และเตรียมการอยู่ อีกทั้งได้เตรียมขยายบริการสินเชื่อเช่าซื้อ ให้ครอบคลุมกลุ่มตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความสมดุลให้กับโครงสร้างรายได้ของบริษัทในอนาคต

*************************************

- Advertisement -