KS Daily View 19.12.2024 >>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรง S&P 500 หลุด 6,000 จุด หลังเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีหน้า ด้านหุ้นไทยแกว่งแคบใกล้ 1,400 หลัง กนง. คงดอกเบี้ยตามคาด ทำให้ไม่มีปัจจัยหนุนใหม่จากภายใน อีกทั้งปัจจัยภายนอกยังกดดัน มองกรอบวันนี้ที่ 1,380 – 1,420
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในทุก Sector หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 25 bps แต่ส่งสัญญาณว่าจะชะลอการปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้าจากเดิม 4 ครั้งเป็น 2 ครั้ง โดยดัชนี S&P 500 ร่วงลง 2.95% หลุด 6,000 จุด, Nasdaq Composite ลดลง 3.56% หลุด 20,000 จุด และ Dow Jones ปรับตัวลง 2.58% ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นวันที่ 10 ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 1974 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 4.5% และดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ขึ้นเหนือ 108
ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,398.95 จุด แกว่งตัวบริเวณแนวสำคัญ 1,400 จุด ภายหลัง กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 2.25% ตามคาด ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นโดดเด่น นำโดย SCB ที่ปิดที่ระดับสูงสุดของปี พร้อมด้วยกลุ่มค้าปลีกและอาหารที่รีบาวด์หลังจากลงแรง ขณะที่กลุ่มพลังงาน การเงิน และ TRUE ปรับตัวลงและกดดันตลาด ทิศทางตลาดยังขาดปัจจัยหนุนจากในประเทศ ขณะที่ต่างประเทศมีปัจจัยกดดันค่อนข้างมากจากการส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยที่ช้ากว่าเดิมในปี 2025 ของเฟด ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 34.5 บาทต่อดอลลาร์ วันนี้เราคาดกรอบการเคลื่อนไหวของ SET ที่ 1,380-1,420 จุด แนะนำ SHR, KTB
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
- ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps ตามคาด มาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.5% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2025 ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 4 ครั้ง รวมถึงปรับตัวเลขคาดการณ์ปี 2025 ขึ้น โดย GDP ปรับจาก 2% เป็น 2.1%, อัตราการว่างงานจาก 4.4% เป็น 4.3%, Core PCE จาก 2.2% เป็น 2.5% และมีการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะยาว (Neutral Rate) ขึ้นจาก 2.9% เป็น 3.0% สะท้อนให้เห็นว่า Fed มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมาย จึงต้องระมัดระวังในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยจะปรับลดดอกเบี้ยช้าลงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
- ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติเป็นเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 2.25% ท่ามกลางแรงกดดันจากรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ย โดยคงคาดการณ์ GDP ปี 2567 ที่ 2.7% และปี 2568 ที่ 2.9% แต่เตือนถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจากนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง กนง. ระบุว่าดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% โดยการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก แม้การฟื้นตัวจะไม่ทั่วถึงในทุกภาคส่วน
- ประธานใหญ่โตโยต้าญี่ปุ่น อากิโอะ โตโยดะ เดินทางเยือนไทยและพบนายกรัฐมนตรี แสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนต่อไป โดยยืนยันว่าคุณภาพการผลิตในไทยได้มาตรฐานเดียวกับญี่ปุ่น พร้อมประกาศลงทุนเพิ่ม 5.5 หมื่นล้านบาทเพื่ออัพเกรดสายการผลิตรองรับรถไฮบริด ทั้งการผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์และเกียร์ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากร
- ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า การที่รัฐมนตรีพีระพันธุ์สั่งระงับการจ้างเหมาขุดถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหลัง ITD ยื่นอุทธรณ์นั้น จะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากสัญญาเดิมกำลังจะหมด และสัญญาใหม่ล่าช้า หากการตรวจสอบไม่แล้วเสร็จภายในกุมภาพันธ์ 2568 จะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 600-800 เมกะวัตต์ ต้องใช้โรงไฟฟ้าก๊าซทดแทนและนำเข้า LNG มูลค่า 1,380 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 8 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่ กฟผ. มีกระแสเงินสด 5-6 หมื่นล้านบาท ยังบริหารจัดการได้ แต่อาจทำให้การส่งเงินเข้ารัฐล่าช้า
- สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ออกสัญญากู้เงินเพื่อความยั่งยืนครั้งแรก โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กู้ยืมเงิน 17,700 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าประเภทรางหนักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความสนใจจากสถาบันการเงิน 8 แห่ง และมีอัตราดอกเบี้ยต่ำประมาณ 2% โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาการเงินสีเขียวและการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571 และปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 50%
หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
- SHR: ราคาพื้นฐาน 3.50 บาท
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ SHR จากการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/2567 ถึงปี 2568 หลังโรงแรม SAii Laguna Phuket กลับมาเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม และคาดว่าจะไม่มีแผนปิดปรับปรุงโรงแรมขนาดใหญ่ในปี 2568 บริษัทจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง โดยคาดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง 5-10% ในไตรมาส 4/2567 และลดลง 8-10% ในปี 2568 นอกจากนี้คาดรายได้ต่อห้องพักในปี 2568 จะเติบโต 5-10% นำโดยโรงแรมในไทยและมอริเชียส โดยมูลค่าหุ้นยังอยู่ในระดับไม่สูงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตตั้งแต่ปี 2568
- KTB: ราคาพื้นฐาน 23.00 บาท
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ KTB จากโอกาสเพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลในปี 2568 พร้อมความสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี โดยมีลูกหนี้ 30% อยู่ภายใต้ MOU ที่สามารถหักเงินเดือนชำระหนี้ได้โดยตรง และมี Coverage Ratio ที่สูงราว 180% เป็นการป้องกันความเสี่ยง คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2568 ซึ่งจะช่วยให้พอร์ตสินเชื่อเติบโตตามเป้าด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์อื่น มูลค่าหุ้นยังถูกที่อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) ที่ 0.6 เท่า มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) 9-10% และอัตราเงินปันผลตอบแทน 6%
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันพฤหัสฯ ติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) โดยตลาดคาดว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% และการรายงานของ GDP ใน 3Q24 ของสหรัฐครั้งสุดท้าย ตลาดคาดการณ์ที่ 2.8% QoQ ทรงตัวจากครั้งก่อนหน้า
- วันศุกร์ ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น (Japan CPI) เดือน พ.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 2.9% YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.3% YoY ขณะที่ฝั่งของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคพื้นฐานส่วนบุคคล (US Core PCE Price Index) ตลาดคาดที่ 2.9% YoY ปรับตัวขึ้นจาก 2.8% YoY ในเดือนก่อนหน้า