JSP ชี้ปี 68 เทรนด์ Lifestyle Medicine หนุนตลาดอาหารเสริมไทยโต 15% วันทำงานอายุ 40 เริ่มใส่ใจสุขภาพเทียบเท่ากลุ่มผู้สูงวัย

  • JSP คาดปี 2568 ตลาดอาหารเสริมไทยโต 15 % จากปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดกว่า 1 แสนล้านบาท รับกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหลังเห็นผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพ นับจากเริ่มใส่ใจตอนโควิดระบาด
  • เผย 3 ปัจจัยหนุนตลาดเติบโตต่อเนื่อง ทั้ง เทรนด์ Lifestyle Medicine การปรับพฤติกรรมสู่การรักษาโรค 2.ราคายาแผนปัจจุบันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% 3. การเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณะสุขที่ใช้เวลานานขึ้น
  • ล่าสุดพบคนวัยทำงานอายุ 40 ปีขึ้นไป ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น คาดภายใน 5 ปี สัดส่วนยอดขายขยับเทียบเท่าจากกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป
นายพิษณุ แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP

นายพิษณุ แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (JSP) ผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร ผู้นำการรับจ้างผลิต (OEM) ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ และผลิตภัณฑ์ Own Brand เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งรวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน และเครื่องดื่ม ในประเทศไทย มีมูลค่าการตลาดมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยการเติบโตของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างไรก็ตามหลังจากที่การระบาดคลี่คลายลงแล้วแต่แนวโน้มการเติบโตของสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะหลังจากเกิดการตื่นตัวด้านการดูและสุขภาพในช่วงที่มีการระบาด ทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไป เนื่องจากตระหนักถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพว่าสุขภาพของหลายๆคนเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงเกิดเป็นพฤติกรรมที่ขยายไปสู่วงกว้างในสังคม

อย่างไรก็ดีแม้ว่าเทรนด์การใส่ใจสุขภาพและการปรับพฤติกรรมจะสร้างการรับรู้ให้คนทั่วโลกมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในปี 2568 เทรนด์การใส่ใจสุขภาพจะยังคงเติบได้รับความสนใจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการได้รับการสนับสนุนจาก 3 ปัจจัยดังนี้

  1. Lifestyle Medicine (วิถีชีวิตบำบัด หรือ เวชศาสตร์วิถีชีวิต) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันโดยการร่วมมือระหว่างแพทย์และคนไข้ ตั้งแต่การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การนอนหลับ การเลิกสูบบุหรี่ การเข้าสังคม เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน หรือกระทั่งรักษาโรคซึ่งเป็นการบำบัดที่สาเหตุ ถือเป็นการบำบัดแบบใหม่ที่สามารถป้องกัน ลดความเสี่ยง และลดการใช้ยาลงได้ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน โดย Lifestyle Medicine กำลังเป็นเทรนด์ที่ผู้คนให้ความสนใจ และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีวัตถุดิบจากสารสะกัดจากธรรมชาติได้รับความสนใจไปพร้อมๆกัน
  2. ราคายาแผนปัจจุบันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% ตามราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น 10 – 20% ส่งผลให้ การหันมาปรับพฤติกรรมการกิน ผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น น้ำมันงาดำ น้ำมันรำข้าว และซูเปอร์ฟู้ดที่ให้พลังงานสูง เช่น ไข่ผำ เป็นต้น ซึ่งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันจะทำให้ลดการใช้ยาหรือใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น
  3. การเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณะสุขที่ใช้เวลานานขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาดูแลตัวเองแม้ว่าจะมีความกำลังซื้อในการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แต่ไม่ต้องการเสียเวลาในการรอคอยเพื่อเข้าถึงบริการ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

จากปัจจัยสนับสนุนทั้ง 3 ด้านนี้ JSP คาดว่า ปี 2568 ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจะเติบโตประมาณ 10 – 15% นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ จากเดิมที่พบว่ายอดขายส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จึงทำให้ตลาดขยายตัวไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และคาดว่าภายใน 5 ปีสัดส่วนยอดขายในกลุ่มวัยทำงานจะเติบโตเทียบเท่ากลุ่มวัย 60 ปีขึ้นไป

- Advertisement -