บล. ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย):

กลุ่มโทรคมนาคม คาด AIS และ TRUE ประมูลคลื่น 2100MHz และ 2300MHz รองรับ 4G/5G และเทคโนโลยีในอนาคต

กสทช.เตรียมจัดประมูลคลื่นความถี่เดือนเม.ย.นี้

  • หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นรายงานว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจัดการประมูลคลื่นความถี่ 6 ย่านความถี่คือ 850MHz, 1500MHz, 1800MHz, 2100MHz, 2300MHz และ 26GHz ในปี 68 โดย กสทช.จะนำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 30 วันและน่าจะเปิดประมูลได้ในเดือนเม.ย.68
  • ทั้งนี้ กสทช. เผยว่า การประมูลย่านความถี่ 850MHz, 1500MHz และ 1800MHz จะจัดขึ้นพร้อมกัน ขณะที่ย่านความถี่ 850MHz, 2100MHz และ 2300MHz ใช้งานโดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และจะสิ้นสุดการอนุญาตในเดือนส.ค.68 ส่วนการประมูลย่านความถี่ 26GHz จะมาจาก capacity ที่เหลืออีก 100MHz จากการประมูลรอบล่าสุดในปี 63
  • โดยย่านความถี่ 2100MHz ประกอบด้วย bandwidth ของ NT 45MHz ส่วนที่เหลือมาจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2100MHz ของ AIS และ TRUE ที่จะหมดอายุในปี 70

คาด AIS และ TRUE เข้าประมูลคลื่นความถี่ mid-band ที่ใช้สำหรับ 4G หรือ 5G

  • ปัจจุบัน ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับราคาตั้งต้นประมูลของแต่ละย่านความถี่ ขณะที่กสทช. เผยว่าราคาตั้งต้นประมูลของคลื่นความถี่ 2100MHz จะต่ำกว่าราคาคลื่นความถี่รอบที่แล้วที่ 3.1 หมื่นล้านบาท จึงเชื่อว่าบริษัทโทรคมนาคมน่าจะไม่ให้ความสนใจกับย่านความถี่ low-band (850MHz, 1500MHz และ 1800MHz) และ high-band (26GHz) มากนัก เนื่องจากเป็นย่านความถี่ที่ใช้สำหรับ 3G และในบางพื้นที่สำหรับ 5G
  • แต่ย่านความถี่ mid-band สามารถใช้สำหรับ 4G หรือ 5G ได้ทั่วประเทศ จึงเชื่อว่า ย่านความถี่ mid-band (2100MHz และ 2300MHz) จะถูกประมูลโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สองบริษัท คือ AIS และ TRUE เพื่อรองรับบริการ 4G/5G และเทคโนโลยีในอนาคต
คงน้ำหนักการลงทุน แนะถือ ADVANC และ TRUE
  • ยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มโทรคมนาคมไทย แนะนำถือ ADVANC และ TRUE เพราะเชื่อว่านักลงทุนควรรอดูผลการ ประมูลคลื่นความถี่และราคาประมูลสุดท้าย ปัจจุบันกลุ่มโทรคมนาคมมีการประเมินมูลค่าที่ premium หรือที่ P/BV 3.46 เท่าในปี 68 หรือ +2SD ของค่าเฉลี่ยในอดีต 6 ปี สะท้อนการแข่งขันที่ไม่รุนแรงและตลาดที่มีผู้เล่นเพียงสองราย ขณะที่เชื่อว่าแนวโน้มของกลุ่มโทรคมนาคมในปี 68-69 น่าจะขึ้นอยู่กับการเติบโตของธุรกิจหลัก ซึ่งน่าจะชะลอตัว
  • กลุ่มโทรคมนาคมมี downside risk หากผู้ประกอบการแข่งขันกันเสนอแพ็คเกจโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์รายเดือนมากขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวและการประมูลคลื่นความถี่ ส่วน upside risk จะมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายโครงข่ายและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) รวมทั้งการที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นสุทธิแข็งแกร่งกว่าคาด

- Advertisement -