KS Daily View 07.02.2025>>> S&P 500 ปรับตัวขึ้นเป็นเล็กน้อย ตลาดรอติดตามการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรวันนี้ ด้านตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรง 25 จุดทำจุดต่ำสุดใหม่ตั้งแต่ปลายปี

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเป็นวันที่สามติดต่อกัน ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.36%, Nasdaq Composite เพิ่มขึ้น 0.51% ในขณะที่ Dow Jones ลดลง 0.28% แม้ไม่ได้มีปัจจัยมหภาคสำคัญและตลาดรอติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) และอัตราการว่างงานในวันนี้ แต่ตลาดได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่ภาพรวมออกมาดีกว่าที่คาด

ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,262.07 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 48,000 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,645 ล้านบาท ดัชนีปรับตัวลดลง 25 จุด สอดคล้องกับทิศทางตลาดในภูมิภาคอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แม้ตลาดทั่วโลกส่วนใหญ่จะปรับตัวขึ้นได้ดี แรงกดดันมาจากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาด อาทิ DELTA ที่ปรับตัวลง 4% ส่งผลให้ดัชนีลดลงประมาณ 4.5 จุด จากประเด็นการจำกัดน้ำหนักหุ้นไม่เกิน 10% ในดัชนี ทำให้เกิดแรงขายปรับพอร์ตการลงทุน และ CPALL ที่ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจากการพิจารณาร่วมลงทุนใน Seven & I และกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เรามองว่าตลาดตอบสนองต่อปัจจัยลบมากเกินไป และมีโอกาสฟื้นตัวในระยะสั้น โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,255 – 1,280 จุด หุ้นแนะนำ CPALL, AOT

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งสัญญาณผสม โดยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 219,000 ราย สูงกว่าคาด แต่ยังใกล้เคียงระดับก่อนโควิด ขณะที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 1.2% ในไตรมาส 4 และ 2.3% ตลอดปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเติบโตมากที่สุดในรอบ 14 ปี (ไม่รวมช่วงพุ่งสูงในปี 2020) สะท้อนถึงประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นซึ่งช่วยจำกัดแรงกดดันด้านต้นทุนแรงงาน
  • ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps เหลือ 4.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือน โดยมีกรรมการ 2 คนสนับสนุนให้ลดถึง 50 bps อย่างไรก็ตาม BOE ส่งสัญญาณว่าจะใช้แนวทาง “ค่อยเป็นค่อยไป และระมัดระวัง” ในการลดดอกเบี้ยในอนาคต โดยคาดว่าจะต้องลดอีกเพียง 2 ครั้งเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% พร้อมเตือนว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้น “อย่างรวดเร็ว” แตะระดับ 3.7% ในปีนี้ และปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 14 ฉบับระหว่างหน่วยงานไทย-จีน ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง โดยครอบคลุมความร่วมมือหลากหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนด้านพลังงานสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัลในเขต EEC การตรวจสอบสินค้าประมง ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงความร่วมมือด้านสื่อและการประชาสัมพันธ์ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระดับสูง
  • นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร หารือกับ Alain LAM รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ CFO ของ Xiaomi Corporation ในจีน เชิญชวนให้บริษัทพิจารณาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกนอกจีนในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่าไทยมีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในอาเซียน มีระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง และนโยบายรัฐที่เอื้ออำนวย พร้อมเสนอการสนับสนุนจาก BOI และการอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งนี้ Xiaomi ซึ่งเริ่มต้นจากการผลิตสมาร์ทโฟนได้ขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรม EV โดยสามารถทำยอดขายได้จำนวนมากนับตั้งแต่เปิดตัวรุ่นแรก SU7 เมื่อปีที่แล้ว
  • เงินเฟ้อเดือนมกราคม 2568 ปรับตัวสูงขึ้น 1.32% โดยมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์จะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียง และยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2568 ที่ 0.3-1.3%

หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:

  • CPALL : ราคาพื้นฐาน 78.00 บาท

เราแนะนำเก็งกำไร CPALL จากระดับราคาที่น่าสนใจ โดยค่า Forward P/E ปี 2568 อยู่ที่ 16 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง -2SD และเปิดโอกาสให้ราคาปรับตัวขึ้นได้ หลังจากที่ราคาหุ้นถูกกดดันจากความกังวลเรื่องภาระการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนหากสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5.6% ตามข่าว นอกจากนี้ แนวโน้มผลการดำเนินงานของ CPAXT ที่ CPALL ถือหุ้น 60% ยังเป็นบวก จากการได้ประโยชน์จาก Synergy ที่เร็วกว่าคาดและการเติบโตในระดับสูงพร้อมการปรับปรุงอัตรากำไรในปี 2568 อีกทั้งเราคาดว่า CPALL จะมียอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในไตรมาส 4 ปี 2567 เติบโตประมาณ 3.5% และผลประกอบการในไตรมาสดังกล่าวจะเติบโตได้ตามคาด

  • AOT : ราคาพื้นฐาน 63.98 บาท

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ AOT โดยคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2568 จะเติบโตแข็งแกร่งทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารรวมที่ 16.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสก่อนและ 16% จากปีก่อน โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อนและ 23% จากปีก่อน และนักท่องเที่ยวไทย 6.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสก่อนและ 7% จากปีก่อน นอกจากนี้ เราแนะนำ AOT จากความสามารถในการรับมือกับความผันผวนของตลาดได้ดีในช่วงตลาดขาลง โดยมีค่า Beta ประมาณ 0.8 เท่า รวมถึงธุรกิจสนามบินที่มีความแข็งแกร่งในช่วงเศรษฐกิจผันผวนเช่นในปัจจุบัน

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

  • วันศุกร์ ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน ม.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 1.50 แสนตำแหน่งชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.56 แสนตำแหน่ง และอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เดือน ม.ค. ตลาดคาดการณ์ที่  4.1% ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
- Advertisement -