บล.ทรีนีตี้:

THIENSURAT – เธียรสุรัตน์ (TSR)

3Q64 เป็นจุดต่ำสุดของปี คาด 4Q64F ฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

  • บริษัทประกาศขาดทุนใน 3Q64 ที่ 32 ล้านบาท ลดลงอย่างมีนัยฯ รายได้จากการขายสินค้าลดลง อัตรากำไรขั้นต้นลดลง ขณะที่ SG&A ต่อยอดขายพุ่งสูงขึ้นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง
  • คาด 3Q64 เป็นจุดต่ำสุดของปี มอง 4Q64F ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นำไปสู่การปรับประมาณการปี 2564 ลดลง เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานช่วง 9M64
  • คงคำแนะนำ “ซื้อ” มองสะท้อนปัจจัยลบจากโควิด -19 ในปีนี้ไปมากแล้ว คาดผลการดำเนินงานจะกลับมาฟื้นตัวในปีหน้า คงราคา Fair value ปี 2565 ที่ 4.12 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี P/E Ratio 17 เท่าจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี +0.5SD

ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2564 ประกาศขาดทุน

  • บริษัทประกาศขาดทุนสุทธิ 3Q64 จำนวน 32 ล้านบาท (-178% QoQ, -356% YoY) ลดลงอย่างมีนัยฯ  สาเหตุหลักจากรายได้จากการขายสินค้าลดลงทั้ง QoQ และ YoY ประกอบกับอัตรากำไรขั้นต้นลดลง YoY ขณะที่ SG&A ต่อยอดขายพุ่งสูงขึ้น
  • รายได้รวมเท่ากับ 428 ล้านบาท (-14.2% QoQ, -11.6% YoY) ประกอบด้วยรายได้จากการขายสินค้า (สัดส่วน 85%) จำนวน 366 ล้านบาท (-14% YoY) ลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขายสินค้า โดยเฉพาะการขายตรงที่ไม่สามารถเข้าไปพบลูกค้าได้ รายได้จากดอกผลตามสัญญาเช่าซื้อและลูกหนี้สินเชื่อ (สัดส่วน 14%) จำนวน 59 ล้านบาท (-0.3% YoY) ทรงตัวจากปีก่อนหน้า ขณะที่รายได้ดอกผลจากลูกหนี้เงินให้สินเชื่อ (สัดส่วน 1%) อยู่ที่ราว 3.3 ล้านบาท (+479% YoY) จากการขยายธุรกิจ Leasing
  • อัตรากำไรขั้นต้นที่ 71.2% (78.4% ใน 3Q63) ลดลงจากสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรถยนต์และรถบรรทุกที่ไม่มีอัตรากำไรขั้นต้น แต่ได้รายรับจากดอกเบี้ยเช่าซื้อ ในขณะที่สัดส่วนการขายเครื่องกรองน้ำที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงลดลง
  • สัดส่วน SG&A ต่อยอดขาย 67.3% (60.4% ใน 3Q63) สาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนและอุปกรณ์สำหรับป้องกันโควิด-19 ให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ขณะที่เพิ่มทีมขายเป็นจำนวนมากระหว่างปีที่ผ่านมา
  • สัดส่วนหนี้เสียต่อยอดขาย 13.8% (11.2% ใน 3Q63) โดยมีค่าใช้จ่ายด้อยค่าจำนวน 59 ล้านบาท (+9.5% YoY) จากการบันทึกผลขาดทุนจากสินค้าที่ยึดคืนทันที เนื่องจากบริษั มีการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของลูกหนี้ในเชิงรุกภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 9
  • โดยสรุปงวด 9M64 มีกำไรสุทธิ 13 ล้านบาท (-37.7% YoY) คิดเป็นสัดส่วนเพียงราว 19% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2564 ที่ 66 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีการพิจารณาปรับประมาณการกำไรปี 2564 ลงราว 66% เป็น 22 ล้านบาท เพื่อให้สะท้อนภาพผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนที่ผ่านมาโดยไม่กระทบต่อประมาณการและราคาเป้าหมายปี 2565

แนวโน้มไตรมาส 4/2564

คาดผลการดำเนินงานใน 4Q64F เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดการณ์กำไรสุทธิราว 9-10 ล้านบาท ดีขึ้นจากขาดทุนใน 3Q64 แต่ยังอ่อนแอกว่าช่วง 4Q63 ที่มีกำไรราว 30 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าการเพิ่มขึ้นของยอดขายยังเป็นไปได้ช้าจากการชะลอการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม มองว่าบริษัทกำลังพยายามบริหารด้านค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่จึงคาดว่า SG&A ต่อยอดขายจะดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

ปรับประมาณการปี 2564 ลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ฝ่ายวิเคราะห์มีการพิจารณาปรับประมาณการปี 2564 ลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2564 และโดยเฉพาะช่วง 3Q64 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 อย่างรุนแรง ปรับประมาณการรายได้รวมปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 1,888 ล้านบาท (-1.1% YoY) จากเดิมที่ 1,918 ล้านบาท (+0.4% YoY) คิดเป็นการปรับประมาณการรายได้ลดลงราว 1.6%

ปรับสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2564 ลดลงเป็น 73.1% จากเดิม 73.5% เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถบรรทุกที่ไม่มีอัตรากำไรขั้นต้น แต่มีรายรับจากดอกเบี้ยเช่าซื้อ ขณะที่สัดส่วนการขายเครื่องกรองน้ำที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงลดลง จากผลกระทบของโควิด -19 อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์การขายเครื่องกรองน้ำจะดีขึ้นในปี 2565 หลังโควิด -19 คลี่คลาย

สำหรับสมมติฐานสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายปี 2564 มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 61.1% จากเดิม 59.5% เนื่องจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายงวด 9 เดือนปี 2564 อยู่ในระดับสูงกว่าที่คาด โดยที่อาจไม่สามารถปรับลดลงได้ทันในช่วงที่มีรายได้ลดลง ประกอบกับบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดูแลพนักงานในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 การให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ติดโควิด เป็นต้น

พร้อมกันนี้ได้พิจารณาปรับสมมติฐานสัดส่วนขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้ต่อยอดขายปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 12.1% จากเดิม 11.3% เพื่อให้สะท้อนแนวโน้มที่มีโอกาสบันทึกรายการขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้เพิ่มขึ้น หลังผู้บริโภคระดับล่างระดับกลางได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 มาก

จากการปรับประมาณการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ลดลงอยู่มาอยู่ที่ 22 ล้านบาท (-84.3% YoY) คิดเป็น EPS 0.04 บาทต่อหุ้น จากประมาณการเดิมที่ 66 ล้านบาท

คงคำแนะนำ “ซื้อ” มองราคาลดลง สะท้อนปัจจัยลบไปมากแล้ว

คงคำแนะนำ “ซื้อ” มองสะท้อนปัจจัยลบจากโควิด-19 ในปีนี้ไปมากแล้ว ประกอบกับคาดว่าผลการดำเนินงานจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2565 คงราคาเป้าหมาย Fair Value ปี 2565 ที่ 4.12 บาทต่อหุ้น อ้างอิงคาดการณ์ EPS ปี 2565 ที่ 0.24 บาทต่อหุ้น และ P/E Ratio ที่ 17 เท่า โดยเราได้ทําตาราง P/E Ratios Sensitivity Analysis ที่ P/E Ratios ในกรอบ 8-20 เท่า (-1SD ถึง +1SD) บน EPS +/- 10% จากประมาณการ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

Source: Trinity Research

ความเสี่ยง: โควิด -19, การพึ่งพาทีมขายตรง, หนี้เสีย

- Advertisement -