KS Daily View 22.04.2025 >>> SET Sentiment เชิงลบ กังวลสหรัฐฯ-จีน โต้ตอบขึ้นภาษี/ทีมไทยถูกเลื่อนเจรจา มองกรอบ SET วันนี้ 1,120-1,145 จุด แนะนำ AURA, PR9
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรง ดัชนี S&P 500 ลดลง 2.48%, Nasdaq Compositeลดลง 2.55% และ Dow Jones ลดลง 2.48% จากความกังวลการแทรกแซงนโยบายการเงิน หลังทรัมป์โพสต์วิจารณ์พาวเวลล์ อย่างรุนแรง และมีรายงานว่าอาจพิจารณาปลดพาวเวลล์ รวมถึงจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ–จีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจีนเตือนประเทศอื่นไม่ให้ทำข้อตกลงที่กระทบต่อจีน
ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,134.71 จุด ปรับตัวลงราว 16 จุด (-1.41%) แรงกดดันมาจากความกังวลด้านการค้า หลังจีนออกแถลงการณ์เตือนประเทศต่างๆ ว่าหากยอมรับข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ แล้วสร้างความเสียหายต่อจีน จะถูกตอบโต้ทันที ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงสงครามการค้ารอบใหม่ที่อาจขยายวงกว้างขึ้น กดดันหุ้นกลุ่มส่งออกทั้งอิเล็กทรอนิกส์และอาหารสัตว์ กลุ่มธนาคารถูกกดดันจากผลประกอบการ Q1 2568 ต่ำกว่าคาด ทั้ง NIM ที่หดตัวและ NPL ที่เพิ่มขึ้น ด้านกลุ่มพลังงานปรับลงตามราคาน้ำมันดิบและค่าการกลั่นที่ลดลง จากพัฒนาการการเจรจาทางการค้าที่ล่าสุดญี่ปุ่นส่งสัญญาณแข็งกร้าวในจุดยืนโดยจะไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมด ในเรื่องการลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว และจะไม่เพิ่มภาระต้นทุนในการสนับสนุนฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น และการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 23 เม.ย. ถูกเลื่อนออกไปโดยยังไม่มีกำหนด จึงคาดว่าจะส่ง Sentiment เชิงลบต่อตลาด โดยเราประเมินกรอบ SET วันนี้ที่ 1,120 – 1,145 หุ้นแนะนำ AURA และ PR9
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
1. จีนออกคำเตือนประเทศต่างๆ ไม่ให้ทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของปักกิ่ง โดยขู่ว่าจะใช้มาตรการตอบโต้หากมีการทำเช่นนั้น คำเตือนนี้มาในช่วงที่หลายประเทศเตรียมเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอลดหรือยกเว้นภาษีศุลกากร โดยสหรัฐฯ กำลังผลักดันให้ประเทศเหล่านี้ลดการค้ากับจีน โดยจีนอาจรตอบโต้ประเทศที่ร่วมมือกับสหรัฐฯ และกำลังเพิ่มความพยายามทางการทูตกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรปเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพิ่งเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาเพื่อรวมพลังครอบครัวเอเชียในการรับมือกับความเสี่ยงจากภาษีของทรัมป์
2. การเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่กำหนดไว้ในวันที่ 23 เมษายนนี้ถูกเลื่อนออกไป โดยยังไม่มีการยืนยันวันและเวลาใหม่อย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ ส่งผลให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะเข้าประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ตามปกติ ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ แสดงความกังวลว่านโยบายทรัมป์ 2.0 อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาส 2 แม้ว่าไตรมาสแรกการส่งออกไทยจะยังขยายตัวได้ดีเกินสองหลัก
3. นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชิเงรุ อิชิบะ แสดงจุดยืนแข็งกร้าวในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยระบุว่าญี่ปุ่นจะไม่ยอมตามข้อเรียกร้องทั้งหมดของสหรัฐฯ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะในภาคยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้สูงสุด และภาคเกษตรซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรครัฐบาล การแสดงท่าทีนี้เกิดขึ้นขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเตรียมยุทธศาสตร์สำหรับการเจรจารอบสองก่อนสิ้นเดือนเมษายน เพื่อขอยกเว้นภาษี 24% ที่ถูกลดลงเหลือ 10% เป็นเวลา 90 วัน และภาษี 25% สำหรับรถยนต์ เหล็ก และอลูมิเนียม
4. สหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งเป็นผลจากการสอบสวนที่เริ่มต้นในสมัยประธานาธิบดีไบเดนและใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี โดยพบว่าผู้ผลิตในภูมิภาคนี้ได้รับการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมและขายสินค้าต่ำกว่าต้นทุน ทั้ง 4 ประเทศนี้มีส่วนแบ่งการนำเข้าถึง 77% ของตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 12.9 พันล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
5. รัฐบาลเตรียม 3 แผนรับมือผลกระทบจากภาษีทรัมป์ที่เก็บจากไทย 36% หลังคาดว่าจะกระทบ GDP ลง 1% ประกอบด้วย การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศวงเงิน 1.3-1.5 แสนล้านบาท การผลักดันเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3-4 ผ่านงบประมาณ 1.5-1.6 แสนล้านบาท และอาจขยายเพดานหนี้สาธารณะเกิน 70% ของ GDP เพื่อลงทุนโครงการขนาดใหญ่หากผลกระทบรุนแรง โดยจะประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจในวันที่ 28 เมษายนนี้
Daily pick
AURA: ราคาพื้นฐาน 20.10 บาท
เรายังคงมุมมองเชิงบวกต่อ AURA จากการประกาศแผน 3 ปี โดยปรับเป้าสินเชื่อธุรกิจทองมาเงินไปเพิ่มขึ้นจาก 6,500 ล้านบาทในปี 2025 เป็น 7,500 ล้านบาท และตั้งเป้าระยะยาวในปี 2570 จะมีพอร์ตสินเชื่อที่ 20,000 ล้านบาท จากการขยายสาขาต่อเนื่องเป็น 1,000 สาขาสำหรับธุรกิจ gold finance และการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมทั้ง syndicate loan ภายในครึ่งแรกปี 2568 และการออกหุ้นกู้ในครึ่งหลังปี 2568 เราคาดว่าแหล่งเงินทุนที่เพิ่มขึ้นและหลากหลายจะสนับสนุนการเติบโตในอนาคต อีกทั้ง AURA มีโอกาสได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจากความแข็งแกร่งของเงินทุนหมุนเวียน ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กอาจหายไปจากการขาดเงินทุน เรามองธุรกิจ gold trading ได้ประโยชน์จากการขึ้นค่ากำเหน็จอีก 300 บาท ซึ่งจะเห็นผลบวกภายในไตรมาส 3 ปี 2568 นี้
PR9: ราคาพื้นฐาน 26.80 บาท
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ PR9 จากประมาณการกำไรไตรมาส 1/2568 โดยผู้บริหารให้ความมั่นใจว่ากำไรจะเติบโตต่อเนื่องYoY จากรายได้ที่ยังเติบโตระดับสองหลัก ซึ่งมาจากการเติบโตของคนไข้ต่างชาติทั้ง YoY และ QoQ ทำให้สัดส่วนรายได้คนไข้ต่างชาติสูงกว่าไตรมาส 4/2567 นำโดยคนไข้กาตาร์ และPR9 กำลังเปิดตลาดใหม่เช่นบังกลาเทศ ส่วนรายได้คนไทยที่เป็นความกังวลช่วงที่ผ่านมาก็ยังเติบโตได้ YoY นอกจากนี้ เราคาด GPM จะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 1/2567 แม้จะมีการแข่งขันด้านราคาบ้าง เราคาดกำไรไตรมาส 1/2568 จะยังทำจุดสูงสุดใหม่ได้ต่อเนื่อง
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันอังคาร ติดตามบทสัมภาษณ์ของ ประธาน ECB Christine Lagarde จากการให้สัมภาษณ์กับรายการของ CNBC ต่อด้วยดัชนีความเชื่อมันของผู้บริโภคของยุโรป (EU CCI) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ -15.1 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่-14.5 จุด ปิดท้ายด้วยดัชนีภาคการผลิตของรัฐริชมอนด์ (Richmond Manufacturing Index) ของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ -6.0 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -4.0 จุด
- วันพุธ ติดตามรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของโซนยุโรป (HCOB Manufacturing PMI Flash) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 47.5 จุด ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 48.6 จุด ต่อด้วยการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ (S&P Global US Manufacturing PMI Flash) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 49.3 จุด ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 50.2 จุด
- วันพฤหัสฯ ติดตามยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (US Durable Goods Orders) เดือน มี.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ +1.5% MoM เร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ +1.0% MoM ต่อด้วยรายงานยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) เดือน มี.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ 4.14 ล้านหลัง ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 4.26 ล้านหลัง
- วันศุกร์ ติดตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์ไทยในตัวเลขส่งออก (TH Export) เดือน มี.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ +10.7% YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ +14.0% YoY และตัวเลขนำเข้าเดือน (TH Import) มี.ค. ตลาดคาดการณ์ที่ +3.6% YoY ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ +4.0% YoY