KS Daily View 30.04.2025 >>> ติดตาม กนง. คาดลดดอกเบี้ย 25 bps SET วันนี้ กรอบ 1,160-1,180 หุ้นแนะนำ SCGP และ OR
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศวันนี้: ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.58%, Nasdaq Composite เพิ่มขึ้น 0.55% และ Dow Jones เพิ่มขึ้น 0.75% แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะอ่อนแอกว่าคาด โดยตำแหน่งงานที่เปิดรับลดลง 288,000 ตำแหน่ง ทำระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน แต่ตลาดได้แรงหนุนจากสงครามการค้าที่ผ่อนคลายมากขึ้น จากการที่จีนยกเว้นภาษีนำเข้า 125% สำหรับก๊าซอีเทนจากสหรัฐฯ, ทรัมป์ลงนามยกเว้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ที่สหรัฐฯ นำเข้า และรัฐมนตรีพาณิชย์ Howard Lutnick เผยใกล้ปิดดีลการค้ากับหนึ่งประเทศคู่ค้าแล้ว
ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,171.12 จุด เพิ่มขึ้นราว 12 จุด (+1%) Outperform ตลาดในภูมิภาค แรงหนุนมาจากหุ้น DELTA ที่ปรับตัวขึ้นราว 6% ต่อเนื่องหลังจากผลประกอบการดีกว่าคาด และจากการเก็งกำไรเม็ดเงินจากกองทุน Thai ESGX ที่จะช่วยชะลอแรงขาย LTF รวมถึงอาจมีเงินลงทุนใหม่เข้ามาในตลาด สำหรับประเด็น Moody’s ที่คงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ Baa1 แต่ปรับลด Outlook เป็น Negative สืบเนื่องจากผลของสงครามการค้า ไม่ใช่จากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่พื้นฐานทางการเงินยังค่อนข้างแข็งแกร่งสะท้อนผ่านเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงและหนี้ต่างประเทศที่ต่ำ การปรับ Outlook ไม่รุนแรงเท่าการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ เราจึงคาดผลกระทบต่อ SET ค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้หุ้นในกลุ่มธนาคารอาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปีนี้ วันนี้คาดตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งตัวในกรอบ 1,160 – 1,180 หุ้นแนะนำ SCGP, OR และติดตามการประชุม กนง. ที่ตลาดคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
- มูดี้ส์ได้ปรับลดมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเป็น Negative จากเดิม Stable แต่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือที่ Baa1 โดยมูดี้ส์ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2568 เหลือประมาณ 2% จากเดิม 2.9% จากผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ ที่ประกาศใช้แล้วและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเพิ่มภาษีเพิ่มเติมหลังจากระยะเวลาระงับ 90 วัน รวมถึงเหตุแผ่นดินไหวในพม่าที่ส่งผลกระทบต่อไทย อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีจุดแข็งด้านสถาบันและธรรมาภิบาล ความสามารถในการชำระหนี้ และฐานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่ง
- กกพ. ประกาศลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ลดลงจากอัตราเดิม 4.15 บาทต่อหน่วย ตามนโยบายของรัฐบาล โดย กฟผ. ยอมแบกรับภาระต้นทุนแทนประชาชนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า อีกทั้งยังมีภาระส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติอีก 15,084 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2568 กฟผ. จะมีภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 60,474 ล้านบาท
- บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดตัวโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบท่าอากาศยาน 6 แห่ง รวม 46 แปลง พื้นที่กว่า 2,512 ไร่ มูลค่าการพัฒนากว่า 28,800 ล้านบาท โดยเปิดให้เอกชนเช่าระยะยาวสูงสุด 30 ปี ทั้งบนที่ราชพัสดุและที่ดินกรรมสิทธิ์ของ ทอท. เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ คลังสินค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์การค้า โรงพยาบาล และโครงการที่อยู่อาศัย โดยกำหนดอัตราค่าเช่าเริ่มต้นที่ 4 บาทต่อตารางวาต่อเดือน เพื่อผลักดันการเป็น Aviation Hub แห่งภูมิภาคเอเชียและสร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ในหลายภูมิภาคของประเทศ
- ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ลดลงในเดือนเมษายนมาอยู่ที่ 86 จุด ซึ่งต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่ตลาดแรงงานก็อ่อนแอลง โดยตำแหน่งงานว่างลดลงมาอยู่ที่ 7.19 ล้านตำแหน่ง ต่ำสุดตั้งแต่เดือนกันยายน ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์มองว่านโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย
- รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ Scott Bessent ได้แสดงความกังวลต่อการเจรจากับสหภาพยุโรปเรื่องภาษีบริการดิจิทัล แต่มองว่าการเจรจากับประเทศในเอเชียมีความคืบหน้าที่ดี ในขณะที่จีนได้ประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าอีเทนจากสหรัฐฯ 125% เพื่อช่วยผู้ผลิตปิโตรเคมีในประเทศ และล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์ลงนาม Executive order เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีรถยนต์ โดยจะไม่เก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมซ้ำซ้อน และอนุญาตให้ผู้ผลิตขอคืนภาษีชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าได้สูงสุด 3.75% ในปีแรกและ 2.5% ในปีที่สอง และยกเลิกในปีถัดไป หลังจากการล็อบบี้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กังวลเรื่องต้นทุนการผลิตและราคารถยนต์ที่อาจเพิ่มขึ้น
หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
SCGP : ราคาพื้นฐาน 15.50 บาท
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ SCGP คาดว่าจะรายงานผลประกอบการแข็งแกร่งต่อเนื่องในไตรมาส 2/2568 จากการฟื้นตัวเกินคาดในไตรมาส 1/2568 ที่ดีกว่าประมาณการนักวิเคราะห์ ได้แรงหนุนจากอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าคาดและปริมาณขายบรรจุภัณฑ์ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อเติมสต็อกจากลูกค้าในสหรัฐฯ และกลุ่มลูกค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ (รวม 8% ของยอดขาย) โดยฝ่ายบริหารมั่นใจว่าราคาวัตถุดิบจะทรงตัวหรือปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากส่วนต่างราคากระดาษที่ราว 200 ดอลลาร์/ตัน และต้นทุนพลังงานที่ลดลง ซึ่งจะช่วยหนุนอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 2/2568
OR : ราคาพื้นฐาน 14.80 บาท
เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ OR จากการคาดการณ์กำไรในไตรมาส 1/2568 ที่จะเติบโตทั้ง QoQ และ YoY โดยเราคาดกำไรออกมาที่ระดับ 4,200 ล้านบาท เติบโต 12% YoY และ 39% QoQ กำไรที่เติบโตได้ดีมาจากการควบคุมต้นทุนและคาดการณ์กำไรธุรกิจปั๊มน้ำมันมีอัตรากำไรดีขึ้นจากปริมาณการขายน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจกาแฟ Café Amazon ยังทำยอดขายเติบโตได้ต่อเนื่อง คาดมียอดขาย 104 ล้านแก้วในไตรมาส 1/2568 เติบโตประมาณ 5% YoY นอกจากนี้ OR ยังลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อเนื่องในปีนี้ โดยเราคาด SG&A จะลดลงราว 15% ขณะที่คาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจน้ำมันอยู่ที่ 1.02 บาทต่อลิตร
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันพุธ ติดตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน (China NBS Manufacturing PMI) เดือน เม.ย. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 50.5 จุด ต่อด้วยการประชุม กนง. ของไทย โดยตลาดคาดจะลดดอกเบี้ย 25 bps สู่ระดับ 1.75% และตัวเลขส่งออก (TH Exports) ของ ธปท. เดือน มี.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 13.9% YoY และตัวเลขนำเข้า (TH Imports) เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 4.1% YoY ปิดท้ายด้วยการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา GDP 1Q25 ตลาดคาดที่ +0.4% QoQ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ +2.4%
- วันพฤหัสฯ ติดตามผลการประชุมของ BoJ โดยตลาดคาดว่า BoJ จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% และปิดท้ายด้วย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตสหรัฐอเมริกา (US ISM Manufacturing PMI) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 47.9 จุดปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 49.0 จุด
- วันศุกร์ ติดตามการรายงานเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐ ภาคจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm payrolls) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 1.23 แสนตำแหน่งชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.28 แสนตำแหน่ง ต่อด้วยตัวเลขอัตราการว่างงาน (Unemployment rate) เดือน เม.ย. ตลาดคาดการณ์ที่ 4.2% ทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา