ตลาดหุ้นโลกคลายกังวลกับ Omicron ส่วนไทยต้องติดตามใกล้ชิด แนะ CPF BBL

สัปดาห์แรกของการลงทุนในปี 22 เรื่องของ Omicron มีปัจจัยบวกและปัจจัยลบผสมผสานกัน สำหรับปัจจัยบวกปรากฎว่าการเสียชีวิตจาก Omicron ค่อนข้างต่ำ อิงข้อมูลการติดเชื้อจากสหรัฐช่วงสิ้นปี 21 ราว 29 ธ.ค.พบผู้ติดเชื้อทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ราว 4.89 แสนราย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการเสียชีวิตรายวันล่าสุดเฉลี่ยต่อวันจะอยู่เพียง 1-2 พันราย หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตจากติดเชื้อที่ 0.4% ขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็น ประวัติการณ์ 2.2 แสนราย แต่การเสียชีวิตยังแกว่งอยู่ระดับต่ำราว 100–200 รายต่อวัน และยังไม่ทำระดับสูงสุดใหม่เหมือนจำนวนการติดเชื้อ ด้านปัจจัยลบ (1) การติดเชื้อท่ัวโลกที่ทำจุดสูงสุดใหม่ในประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม และเสี่ยงเผชิญปัญหาอุปทานขาดแคลน (2) ผู้ติดเชื้อ Omicron ในไทยเร่งตัว ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 2 ม.ค. สะสมทั้งหมด 1,551 ราย และการติดเชื้อเฉพาะคนในประเทศได้เร่งตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ดังนั้นต้องติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดว่าจะเป็นในทิศทางใด หากแกว่งแดนบวกก็เป็นไปได้ว่าตลาดให ให้น้ำหนักกับความรุนแรงของโรคที่เบาบาง แต่หากแกว่งแดนลบก็ตีความได้ว่าตลาดกังวลกับสถานการณ์การระบาด

ปัจจัยสัปดาห์นี้ ได้แก่ (1) โครงการช็อปดีมีคืนได้เริ่มมาตรการตั้งแต่ 1 ม.ค.22 มองเป็นบวกต่อกลุ่มที่ขายสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อาทิ ค้าปลีก (BJC CPALL CRC DOHOME HMPRO ILM) ร้านอาหาร (CENTEL M MINT) (2) ประชุม OPEC+ ในวันจันทร์ตามแผนของที่ประชุมจะมีการใส่กำลังการผลิตเข้ามาราว 4 แสนบาร์เรล/วัน หากเป็นไปตามนี้ก็เชื่อว่าผลกระทบต่อราคาน้ำมันจำกัด แต่หากปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่า 4 แสนบาร์เรล/วัน จะเป็นลบกับราคาน้ำมัน (3) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันพฤหัสบดี อาทิ PMI ภาคบริการจาก ISM Bloomberg คาดที่ 67.2 และวันศุกร์สำหรับภาคแรงงานสหรัฐ Bloomberg คาดการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ 4.1 แสนตำแหน่ง และอัตราการว่างานที่ 6% เชื่อว่าตลาดอยากเห็นตัวเลขที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไป เพื่อให้ FED ยังไม่เร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจนเกินไป ส่วนปัญหาราคาหมูแพง เราคาดว่าราคาจะยังยืนระดับสูงเช่นนี้ไปอีก 3-6 เดือน จากนั้นจะเริ่มเห็นอุปทานใหม่เข้ามา ซึ่งล่าสุดรัฐบาลเริ่มเข้ามาดูแลด้วยการควบคุมต้นทุนผลิต สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนหมู เพื่อลดอัตราการสูญเสียหมูจากโรคระบาด รวมถึงส่งเสริมแหล่งเงินทุนทั้งปลอดดอกเบี้ย, ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจูงใจให้อุปทานกลับเข้ามา มีหุ้นได้ประโยชน์ อาทิ CPF TFG แต่เป็นลบกับหุ้นร้านอาหาร (CENTEL M MINT) ในแง่ต้นทุนที่จะสูงขึ้น กดดันอัตรากำไรขั้นต้น รวมถึงกำไรสุทธิ ประเมินกรอบ SET สัปดาห์นี้พี่ 1645-1660

กลยุทธ์การลงทุน สำหรับระยะสัปดาห์ แนะหุ้นได้ประโยชน์จากราคาหมูปรับตัวขึ้น อาทิ CPF TFG (Laggard จะเป็น CPF) รวมถึงได้ประโยชน์จากช็อปดีมีคืน อาทิ ค้าปลีก (BJC CPALL COM7 DOHOME GLOBAL HMPRO) ส่วนนักลงทุนระยะกลางยังแนะถือหุ้นต่อไปได้ และอาจสะสมเพิ่มใน Laggard Play อาทิ (BBL BJC CPALL M MAJOR PTG)

Stock Pick

CPF (ซื้อ/ ราคาเป้าหมาย 26 บาท) ได้ประโยชน์จากราคาหมูในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าราคาจะยืระดับสูงเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน ราคาหมูเฉลี่ย 4Q21 อยู่ที่ 77.3 บาท/กก. (+11%QoQ +28%YoY)

BBL (ซื้อ/ ราคาเป้าหมาย 162 บาท) คาดกำไรของ BBL ใน 4Q21 จะเติบโตสูง 165%YoY (-8%QoQ) จากสำรองหนี้ฯที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นในปี 2022 เน้นกลยุทธ์การเติบโตในต่างประเทศ และพัฒนาการให้บริการผ่านดิจิตอลแบงกิ้งสร้างรายได้เพิ่ม ราคาหุ้นยังไม่แพง ซื้อขายที่เพียง 0.4x PBV’22E (-1.5SD ต่อค่าเฉลี่ยย้อนหลัง) และอัตราเงินปันผลราว 4.8% ในปี 2022

- Advertisement -