โควิดในประเทศกดดัน Sentiment ตลาดระยะสั้น เป็นโอกาสเข้าซื้อ

ปัจจัยต่างประเทศ: ตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปยังคงโดนแรงกดดันจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 1.73% จากรายงาน Fed ที่มีท่าที Hawkish มากกว่าตลาดคาด ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังมีการทำ sector rotation หุ้นกลุ่มพลังานและกลุ่มการเงินปรับตัวโดดเด่น ขณะที่หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภคและกลุ่มสุขภาพปรับตัวลงมากกว่าตลาด

ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่รายงานออกมาดูเป็นลบเล็กน้อยจาก ดัชนี ISM ภาคบริการสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 62.0 ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดที่ระดับ 66.8 หลังจากพุ่งแตะ 69.1 ในเดือนพ.ย. ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน อย่างไรก็ตามดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น สู่ระดับ 207,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าคาดที่ระดับ 195,000 ราย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิดในสหรัฐไปแล้ว ส่วนตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐพุ่งขึ้น 19.4% สู่ระดับ 8.02 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ย. สูงกว่าคาดที่ระดับ 7.71 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 6.72 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนต.ค. ทั้งนี้การที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าต่อเนื่องอาจเป็นความเสี่ยงที่ทางสหรัฐฯอาจยกประเด็นนี้มากดดันจีนอีกครั้งได้เช่นกันในระยะข้างหน้า

ปัจจัยภายในประเทศ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าRCEP ที่ได้เริ่มเปิดเสรี1 ม.ค.2565 ในเชิงการค้าระหว่างประเทศนั้น ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนำเข้าครั้งนี้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5โดยผลบวกทางตรงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะอยู่ในตลาดจีนและเกาหลีใต้ ในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหารและสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มากอยู่แล้ว ขณะที่ผลบวกทางอ้อมมาจากการเปิดเสรีการค้า ระหว่างกันเป็นครั้งแรกของ Plus 5 อยู่ในกลุ่มที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์/ชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก/ผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ในเชิงของการลงทุนมองว่าไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต RCEP ยังมีโอกาสได้อานิสงส์เม็ดเงินลงทุนในอนาคตต่อยอดการผลิตทีใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่าง HDDs IC การประกอบวงจรพิมพ์ ยานยนต์ แต่โจทย์สำคัญหลังจากนี้คือการดึงดูด FDI กลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักที่จะช่วยยกระดับโครงสร้างการผลิตของไทยให้ก้าวไปสู่อุตสาหกรรม S-Curve อย่างไรก็ตามการดึงดูด FDI ของไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ใน RCEP จึงมีโอกาสคว้าการลงทุนได้เหมือนไทย ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องเร่งร่วมมือพัฒนาให้ไทยมีแรงดึงดูดการลงทุนเหนือคู่แข่ง ทั้งการจัดทำ FTA กับประเทศสำคัญที่เป็นตลาดเป้าหมาย การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่เป็นตัวช่วยเสริมให้ธุรกิจมีความคล่องตัว การเตรียมความพร้อมรองรับกระแส ESG ตลอดจนการผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุน

ติดตามสถาณการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมีโอกาสแตะระดับ 1 หมื่นรายในระยะข้างหน้ารวมถึงมาตรการควบคุมโควิดภายในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อ sentiment การลงทุนของตลาดหุ้นไทยระยะสั้น อย่างไรก็ตามเรามองการปรับย่อลงจากประเด็นดังกล่าวเป็นโอกาสในการทยอยสะสมลงทุน

มุมมองตลาดหุ้น คาด SET 1650-55 หุ้นแนะนำ PTG, TFM

PTG (ราคาพื้นฐาน 18.70 บาท). คาดว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงใน 2Q22 น่าจะช่วยสนับสนุนกำไรของบริษัทฟื้นตัว

TFM (ราคาพื้นฐาน 17.70 บาท). คาดอุปสงค์อาหารสัตว์จะฟื้นตัวช่วงฤดูกาลเพาะเลี้ยงกุ้งปลาย 1Q22 และต้นทุนวัตถุดิบที่จะลดลงในช่วงครึ่งปีหลังจะช่วยหนุนการฟื้นตัวปี 65

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลข Inflation rate ของยูโรโซน เดือน ธ.ค. คาด +4.7% YoY (ลดลงจากระดับ 4.9% YoY เดือนก่อนหน้า) ตัวเลข Core inflation rate ของยูโรโซน เดือน ธ.ค. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค.

- Advertisement -