Daily Focus Selective Buy on Earnings and Low PER/PBV

ตลาดหุ้นวานนี้:

SET Index ยังแกว่งตัวผันผวน และปรับตัวลงแรงระหว่างวันลงหาระดับ 1,625 จุด ก่อนจะมีแรงซื้อในช่วงท้ายตลาด นำโดยกลุ่มธนาคารหนุนให้ดัชนีรีบาวด์ขึ้นมาปิดลบเพียง 1.45 จุด ณ สิ้นวัน สถาบันในประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นบางลงเหลือ 357 ลบ. ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิเร่งขึ้นเป็น 3.4 พันลบ. (สถานะใน SET50 Index Futures ยังคงไม่มีนัยยะนัก)

แนวโน้มตลาดวันนี้:

เราคาด SET Index จะแกว่งตัว Sideways ในกรอบ 1,630 1,645 จุด และความผันผวนยังอยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในวันนี้คือผลการประชุม FED ซึ่งปัจจุบันตลาดคาดว่ายังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0-0.25% (ความน่าจะเป็น 94%) สิ่งที่ตลาดจับตาคือการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน มี.ค. 22 รวมถึงแนวโน้มการเริ่มลดขนาดงบดุล ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นใน 2H22 ซึ่งคาดว่า FED จะยังใช้วิธีการสื่อสารฯ อย่างนุ่มนวลไม่ให้ตลาดเกิด Panic และคาดอาจทำให้บรรยากาศการลงทุนผ่อนคลายลงบ้าง ส่วนสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนยังต้องติดตามต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยในประเทศโดยรวมยังไม่มีปัจจัยใหม่ โดยโฟกัสหลักยังอยู่ที่การทยอยประกาศผลประกอบการฝั่ง Real Sector กลยุทธ์เรายังเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว แนวโน้มกำไร 4Q21 แข็งแกร่ง และมี PER/PBV ไม่สูง คาดว่าจะเผชิญแรงขายที่จำกัด และ Outperform ตลาดได้ในระยะนี้

กลยุทธ์: เลือกลงทุนโดยเน้นหุ้น PER/PBV ต่ำ และหุ้นที่คาดกำไร 4Q21 แข็งแกร่ง

หุ้นเด่นเดือน ม.ค.: CK, EA, HMPRO, KBANK, ORI

หุ้นเด่นวันนี้: TKS

  • แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 22 บาท
  • คาดกำไร 4Q21 เติบโตโดดเด่นตาม SYNEX ที่เป็น High Season ขณะที่ 1Q22 คาดยังแข็งแรงต่อเนื่อง และได้ประโยชน์จากมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้า IT มากที่สุด
  • ราคาหุ้นของ TKS ปัจจุบันยังคงมี Discount จาก NAV ของ SYNEX กว่า 30% และเทรด PER เพียง 13 เท่าซึ่งค่อนข้างต่ำ หลังจากปรับตัวลงแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระยะสั้นประเมิน Downside จำกัดขึ้น
  • แนวรับ 13.90-14 บาท แนวต้าน 14.50-14.70 // 15.30 บาท

Fund Flow:

วานนี้กระแสเงินทุนยังไหลออกจากภูมิภาค และเร่งขึ้นเป็น US$ 2,061 ล้าน เม็ดเงินส่วนใหญ่ออกจากไต้หวันและเกาหลีใต้ US$ 1,819 ล้าน และ US$ 396 ล้าน แต่โดยรวมยังไหลเข้าอาเซียน นำโดยไทย US$ 103 ล้าน แนวโน้มของกระแสเงินทุนคาดว่ายังค่อนไปในทางไหลออก และจับตาปัจจัยคำสัญ คือ ผลการประชุม FED คืนนี้

ประเด็นสำคัญวันนี้

(+) กลุ่มแบงก์ ถูกปรับประมาณการและเป้าขึ้นจากกำไรที่แข็งแกร่งกว่าคาดใน 4Q21 เพราะรายได้ค่าธรรมเนียมและสำรองที่ลดลงมีแนวโน้มจะมีพัฒนาที่ดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2022 ล่าสุดเราปรับประมาณการกำไร KKP ในปี 2022-23 ขึ้น 5-6% เพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและค่าธรรมเนียมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง และการตั้งสำรองลดลง เราคาดกำไรของ KKP ปี 2022 +12% Y-Y เป็น 7.1 พันลบ. เป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดว่า KKP จะเข้าสู่ Growth stage ด้วยกำไรที่โต 13% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2022-24) เราปรับราคาเป้าหมาย KKP ขึ้นเป็น 80 บาท (จาก 74 บาท) นอกจากนี้เรายังปรับราคาเป้าหมายของ KBANK ขึ้นเป็น 180 บาท (จาก 172 บาท) จากการปรับกำไรปี 2022-23 ขึ้น 8% และ 6% สะท้อน NIM และคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น กลุ่มแบงก์ยังเป็นกลุ่มที่น่าลงทุนในปีนี้ (Source: FSSIA)

(0) SCGP ประกาศกำไร 4Q21 +19% Q-Q, +42% Y-Y แต่หากตัดรายการพิเศษจากการซื้อ Go-Pak ออก กำไรปกติจะ -12% Q-Q, -17% Y-Y ค่อนข้างอ่อนแอ โดยถูกกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่ม จบปี 2021 มีกำไรปกติ +12% Y-Y อย่างไรก็ตาม เราคาดกำไรปี 2022 จะเร่งตัวขึ้นโดยได้อานิสงส์จากดีล M&A และ M&A เต็มปี ความต้องการสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ รวมถึงต้นทุนที่คาดเริ่มชะลอตัว เรายังคงราคาเป้าหมายที่ 77 บาท ยังแนะนำ “ซื้อ” (Source: FSSIA)

(+) MEGA เราคาดกำไรปกติ 4Q21 -13% Q-Q, +2% Y-Y ชะลอจากฐานสูงและจบปี 2021 +33% Y-Y โตแรงสุดในรอบ 4 ปี ทิศทางผลประกอบการยังเป็นขาขึ้นจากพฤดติกรรมใส่ใจดูแลสุขภาพ การออกสินค้าใหม่ๆ (เร็วๆ นี้เตรียมออกฟ้าทะลายโจร) การเปิดตลาดใหม่ และ Brand ที่แข็งแกร่ง เราคาดกำไรปี 2022-2023 +12% CAGR ราคาหุ้นปัจจุบันมี PEG 1.5 เท่า ต่ำกว่าอดีตที่ 2 และมี PE 18.8 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มค้าปลีกที่ 28-33 เท่า ยังคงราคาเป้าหมาย 63 บาท แนะนำ “ซื้อ”

(-) ตลาดดาวโจนส์ ลดลง 66.77 จุด หรือ 0.19% ปิดที่ 34,297.73 จุด จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกเกี่ยวกับยูเครน รวมถึงการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และ IMF ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ ท่ามกลางติดตามการแถลงผลการประชุมเฟดในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

(+) ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวกเล็กน้อยหลังปรับลงแรงในช่วงก่อนหน้า และมีปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการ 4Q21 ที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน

(0) ตลาดหุ้นเอเชีย ปรับตัวผสมท่ามกลางติดตามการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 25-26 ม.ค. ขณะที่ตลาดหุ้นออสเตรเลียและอินเดียปิดทําการ

(+) ค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นล่าสุดอยู่ที่บริเวณ 32.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

(+) ราคาน้ำมันดิบ NYMEX เพิ่มขึ้น 2.29 ดอลลาร์หรือ 2.8% ปิดที่ 85.60 ดอลลาร์/บาร์เรลจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและบรรดาชาติพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ขณะที่ติดตาม EIA รายงานสต็อกน้ำมันสหรัฐในวันนี้เวลา 22.30 น. ตามเวลาไทย ท่ามกลางนักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา

(+) ราคาทองคำ COMEX เพิ่มขึ้น 10.8 ดอลลาร์หรือ 0.6% ปิดที่ 1,852.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน

SPDR Gold Trust ถือครองทองคำ 1,013.10 / +4.65

 

- Advertisement -