TISCO มองครึ่งปีหลังหุ้นทั่วโลกเตรียมรับผันผวน อัตราผลตอบแทนจะเริ่มน้อยลง หลังเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว หลังเริ่มยกเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครรัฐ เริ่มวางนโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมทั้งจับตานโยบายดอกเบี้ย และ QE ของเฟด แนะจังหวะหุ้นย่อรับข่าวสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเดือน ก.ค. ช้อนซื้อหุ้นเฮลธ์แคร์ และเทคโนโลยี
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยถึงมุมมองเศรษฐกิจ และการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายของการขยายตัว (Late Recovery) เพราะในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับการกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ และธนาคารกลางต่างๆ เพื่อพยุงให้รอดพ้นจากภาวะ COVID –19 แพร่ระบาด แต่หลังจากที่หลายประเทศทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจนเริ่มเปิดประเทศแล้ว นโยบายต่างๆ ของภาครัฐฯ ก็เริ่มหมดลง เช่น สหรัฐฯ ได้ยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดครบเกือบทุกรัฐแล้ว และทยอยสิ้นสุดโครงการสวัสดิการว่างงานพิเศษ ขณะเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็ไม่ได้ออกมาดีกว่าคาดเหมือนช่วงต้นปี
ในครึ่งปีหลังเชื่อว่านโยบายการเงินจะมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นอย่างชัดเจน โดยผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คณะกรรมการได้เริ่มหารือถึงแผนการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Dot Plots) ก็ถูกปรับขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยสองครั้ง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมาอยู่ที่ 0.5-0.75% ภายในสิ้นปี 66 จากเดิมที่หลายฝ่ายประเมินว่า Fed จะคงดอกเบี้ยในระดับ 0.25-0.75% ไปจนถึงสิ้นปี 66
ปัจจัยเสี่ยง จะมาจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น จะกดดันตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จึงประเมินว่าตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังมีโอกาสปรับขึ้น (Upside) ค่อนข้างจำกัด และผันผวนมากขึ้นรวมถึงสร้างผลตอบแทนที่ลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก จึงแนะนำให้นักลงทุนจัดพอร์ตโดยเน้น หุ้นกลุ่ม Defensives เช่น Technology และ Healthcare ดูมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณามูลค่า (Valuation) ที่ค่อนข้างถูก เช่น อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นล่วงหน้า (Forward P/E) ของกลุ่ม Healthcare ที่เทรดต่ำกว่าดัชนี S&P 500 อยู่ถึง 20% กลุ่มนี้จึงน่าสนใจเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยแนะนำให้เข้าซื้อเมื่อหุ้นทั้งสองกลุ่มปรับลดลงรับข่าวการนำเสนอแผนขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อรัฐสภา ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.นี้
ดังนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปี นักลงทุนในตลาดหุ้นจะมุ่งความสนใจไปยังประเด็นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง และนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่ลดลง อีกทั้ง นโยบายการเงินของเฟดที่เข้มงวดส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาแข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยลบต่อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงกระทบต่อหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่เคยสร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่นมาตั้งแต่ปลายปีก่อน
“หากเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2566 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของสหรัฐฯ ก็จะเริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่กลางปีนี้ ขณะที่ผลตอบแทนระยะยาวก็มีโอกาสปรับขึ้นได้อย่างจำกัดตามสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อและแนวโน้มเศรษฐกิจ ประเด็นข้างต้นจะส่งผลให้ส่วนต่างของพันธบัตร (Yield Curve) แบนราบลง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 2554 พบว่า ทุกครั้งที่ส่วนต่างของพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวเข้ามาใกล้กัน ตลาดหุ้นมักจะผันผวนและให้ผลตอบแทนลดลง ขณะที่หุ้นกลุ่มปลอดภัย (Defensives) เช่น กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) และ เฮลธ์แคร์ (Healthcare) จะกลับมาสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าหุ้นกลุ่มอื่น” นายคมศรกล่าว