บล.หยวนต้า (ประเทศไทย): 

Action

BUY (Maintain)

TP upside (downside) +25.7%

Close Feb 25, 2022 Price (THB) 93.25

12M Target (THB) 115.00

Previous Target (THB) 81.00

What’s new?

  • EA เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทฯ ที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรม EV แบบครบจร และมีกำลังผลิตเพียงพอสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้บริษัทฯมีโอกาสได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรม EV รวมถึงมีโอกาสกลายเป็น National Champion ได้
  • คาดกำไรปกติ 2565 ที่ 8,552 ลบ. (+52% YoY) จากการรับรู้รายได้จากธุรกิจ EV Bus แบบเต็มปี และคาดกำไรปกติ 2566 ที่ 8,986 ลบ. (+5% YoY) แม้ Adder จะหมดลง แต่สามารถชดเชยได้จากจำนวนส่งมอบรถ EV Bus ที่สูงกว่าปี 2565

Our View

  • เราปรับราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2565 ขึ้นเป็น 115 บาท/หุ้น (อิง SOTP) เทียบเท่า PER65 ที่ 50x โดยที่ราคาปัจจุบัน EA ซื้อขายอยู่บน PER65 ที่ราว 41x อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มหุ้นต่างประเทศที่เป็น National Champion ด้าน EV ที่ 60x
  • EA มีแผนในการออกหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวนไม่เกิน 900 ล้านยูโร คาดบริษัทฯจะนำเงินสดที่ได้รับไปลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจ EV โดย Dilution ที่จะเกิดขึ้นหากมีการแปลงสภาพเต็มจำนวนอยู่ที่ราว 7% ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ย +22.1% CAGR ระหว่างปี 2564-67

ENERGY ABSOLUTE จากผู้ผลิตพลังงานสะอาดสู่การเป็น EV National Champion

พร้อมกลายเป็น National Champion ด้านธุรกิจ EV

EA เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่ได้เล็งเห็นโอกาส และมีการลงทุนในอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจร โดย EA ได้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังผลิต 1GWh ต่อปี (สามารถขยายเป็น 4GWh ได้โดยไม่ต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่ม) และโรงงานผลิตรถ EV Bus กำลังผลิตราว 4,000 คันต่อปี (โครงสร้างสามารถทำได้ 8,000 คัน/ปี) ทั้งนี้การลงทุนแบบครบวงจรจะส่งผลให้บริษัทฯมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าผู้ประกอบการทั้งในและนอกประเทศรายอื่น จาก 1) การผลิตรถ EV Bus ในประเทศไม่มีความจำเป็นต้องเสียภาษีอากรขาเข้าสำหรับรถโดยสารราว 40% 2) การลงทุนเพื่อผลิต EV หรือชิ้นส่วน EV ภายในประเทศส่งผลให้บริษัทฯได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มเติม และ 3) ความสามารถในการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบเชิง Competitive Advantage และ Capacity จึงมีโอกาสที่ EA จะกลายเป็น National Champion ได้

การลงทุนในธุรกิจ EV เริ่มผลิดอกออกผล

เราปรับประมาณการปี 2565 ขึ้นราว 51% เป็น 8,552 ล้านบาท (+52% YoY) เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ YoY จากการเริ่มรับรู้รายได้ธุรกิจ EV Bus แบบเต็มปีเป็นปีแรก โดยคาดบริษัทฯสามารถส่งมอบรถ EV Bus ได้ราว 1,500 คันในปี 2565 และคาดกำไรปกติปี 2566 ที่ 8,986 ล้านบาทยังสามารถเติบโต +5% YoY แม้ Adder จากธุรกิจโรงไฟฟ้าจะหมดลง เนื่องจากคาดบริษัทฯสามารถส่งมอบ EV Bus ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 คัน นอกจากนี้มีโอกาสที่ผลประกอบการของบริษัทฯจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากได้แรงหนุนจากเงื่อนไขของมาตรการสนับสนุน EV โดยผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องมีการผลิตรถยนต์ในประเทศในอนาคตที่ 1.5 เท่า ของที่นำเข้าในปัจจุบันภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะหนุนอุปสงค์แบตเตอรี่ EV Car ในประเทศในระยะยาว คาดจะเริ่มเห็นผลในต่อ EA ในปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งเรายังไม่รวมในประมาณการ

Valuation อาจยังไม่แพงอย่างที่คิด

ผลจากการปรับประมาณการขึ้นส่งผลให้ราคาเหมาะสมมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเราได้ราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2565 ที่ 115.00 บาท/หุ้น (อิง SOTP) เทียบเท่า PER65 ที่ 50x มี Upside 25.7% ทั้งนี้แม้ ณ ระดับราคาปัจจุบัน EA กำลังซื้อขายอยู่บน PER65 ที่ราว 41x (ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย PER ย้อนหลัง 5 ปี +1SD) และ EV/EBITDA ที่ 25x (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 26x) โดยเรามองว่า EA กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจใหม่ (EV) ซึ่งมีโอกาสเติบโตสูง และเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย PER65 ของหุ้นต่างประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับ EV และ Battery รวมถึงมีความสามารถในการแข่งขันสูง เช่น BYD, TSLA, CATL, LG Chem และ LG Energy Solution ที่ 60x เราจึงมองว่า PER65 ที่ราคาเหมาะสมของเราอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล แม้ในระยะสั้นราคาหุ้นมีโอกาสถูกกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่มองว่าเป็นเพียงแรงกดดันเชิง Sentiment เท่านั้น เนื่องจากบริษัทฯไม่มีหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ EA มีแผนในการออก Convertible Bond จำนวนไม่เกิน 900 ล้านยูโร (เทียบเท่า 3.0-3.5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งสามารถแปลงเป็นหุ้นได้ 290 ล้านหุ้น คิดเป็นราคาราว 103-120 บาท/หุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาที่มีการซื้อขายในปัจจุบัน คาดบริษัทฯ จะนำเงินสดที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV เพิ่มเติม โดยเฉพาะธุรกิจแบตเตอรี่ที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอีกราว 4.5-6.0 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังผลิตให้เต็มประสิทธิภาพของโรงงาน โดยจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้เกิด EPS Dilution ราว 7% น้อยกว่าอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ย +22.1% CAGR ระหว่างปี 2564-2567 ซึ่งยังไม่รวมการเติบโตส่วนเพิ่มจากการนำเงินสดที่ได้รับไปลงทุน

- Advertisement -