บล.พาย:

บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) “ตั้งเป้าโตแรง 30% จาก new orders ทั้งไทยและต่างประเทศ”

ปี 22 มองเป็นปีที่ดีมากปีหนึ่ง

ภาพรวมปี 22 AH มองว่าจะเป็นปีที่ผลประกอบการขยายตัวได้อย่างมาก โดยได้รับผลดีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งซื้อเดิมที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยที่คาดว่าการผลิตจะอยู่ที่ 1.8 ล้านคัน (+7%YoY) หรือที่ยุโรปคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นถึง 18%YoY ไปอยู่ที่ระดับ 18 ล้านคัน และคำสั่งซื้อใหม่ที่จะเข้ามา โดยที่ไทยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มจาก Ford มูลค่ากว่า 700-800 ลบ. และ Winfast จากเวียดนามมาอีกประมาณ 100 ลบ. ส่วนที่โปรตุเกสมีการรับคำสั่งซื้อจากชิ้นส่วนอุปกรณ์กีฬาเพิ่มอีก 1 ประเภท นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ หลังจากมีการเพิ่มการเป็นตัวแทนจำหน่ายมาสด้า และ MG ในช่วงปลายปี 21 ที่ผ่านมา ในปีนี้ตั้งเป้าเป็นตัวแทน GWM เพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งจะทำให้รวมแล้ว AH เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มากถึง 7 ราย (ไทย 5 และมาเลเซีย 2) รวมแล้ว AH จึงตั้งเป้าหมายรายได้ในปีนี้เติบโตถึง 30%YoY

สำหรับผลกระทบจากการเข้ามาของรถ EV ทาง AH มองกระทบไม่มากนัก เนื่องจากชิ้นส่วนที่จะหายไปจากรถสันดาป คือ กลุ่มเครื่องยนต์ที่ AH มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มดังกล่าวไม่มากนัก ขณะที่ชิ้นส่วนอื่นๆ AH มีการผลิตให้อยู่บ้างแล้วในปัจจุบัน

4Q21 กำไรสุทธิ 128 ลบ. (-12% YoY,-45%QoQ)

AH มีกำไรสุทธิ 128 ลบ. (-12%YoY, -45%QoQ) แต่ถ้าไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 31 ลบ. และการโอนกลับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิด 10 ลบ. กำไรปกติจะอยู่ที่ 149 ลบ. (-42%YoY, +18%QoQ) การลดลงจากปีก่อนได้รับแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น ส่วนการเพิ่มขึ้นจาก 3Q21 เป็นไปตามอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ฟื้นตัว รายได้ที่ 5,770 ลบ. (+1%YoY, +36%QoQ) เติบโตทุกประเทศ ยกเว้นที่โปรตุเกตที่มีรายได้ลดลง 25%YoY, 20%QoQ เป็นผลจากปัญหาชิปขาดแคลน กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 10% ดีขึ้นจาก 9.7% ใน 4Q20 และ 9.3% ใน 3Q21 ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ 449 ลบ. (+13%YoY, +45%QoQ) ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายทางบัญชีจากบริษัทที่โปรตุเกสเพิ่มเข้ามา ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน (รวมกิจการร่วมค้า) อยู่ที่ 72 ลบ.(+22%YoY, +11%QoQ) ภาษีจ่าย 34 ลบ. (+51%QoQ) เกิดจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่หมดลง แต่พลิกจากที่รับรู้รายได้ภาษี 39 ลบ. ใน 4Q20 รวมทั้งปี AH มีรายได้ 20,433 ลบ. (+17%YoY) และมีกำไรสุทธิ 1,024 ลบ. (+593%YoY) แต่ถ้าไม่รวมรายพิเศษจะอยู่ที่ 792 (+443%YoY)

ประเมินกำไรปกติโต 27%YoY

แม้ผู้บริหารจะตั้งเป้าเติบโตค่อนข้างสูงถึง 30% แต่ด้วยความไม่แน่นอนของปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนชิปที่ใช้ผลิต ความไม่สงบระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้เราประเมินรายได้จะเติบโตที่ 14.5%YoY มาอยู่ที่ 23,389 ลบ. แต่หากผลประกอบการงวด 1Q22 ออกมาดี เราอาจจะมีการปรับประมาณการใหม่ได้ โดยมองว่าไทยและโปรตุเกสยังเป็น 2 ฐานสำคัญที่หนุนการเติบโตอยู่ (สัดส่วนรายได้จากไทย และโปรตุเกสรวมกันกว่า 80%) และกำไรสุทธิที่ 1,002 ลบ. (-2%YoY แต่ถ้าดูเฉพาะกำไรปกติจะโต 27%YoY) ทั้งนี้เราปรับกำไรลงจากเดิม 6% เพื่อสะท้อนถึงอัตราภาษีจ่ายที่เพิ่มขึ้น

สำหรับคำแนะนำการลงทุน จากปัจจัยบวกที่มีอยู่ทั้งคำสั่งซื้อใหม่ที่จะเข้ามา และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก EV ไม่มากนัก เราจึงคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” เช่นเดิม และประเมินมูลค่าเหมาะสมได้ใหม่ที่ 28.25 บาท (10XPER’22E)

 

- Advertisement -