Daily Focus

Value and Domestic Play

2022 SET Target: 1770

ตลาดหุ้นวานนี้ : SET Index ยังแกว่ง Sideways โดยยังขาดปัจจัยใหม่ที่ชัดเจนเข้ามากระตุ้น ดัชนีปิดบวกได้ 4 จุด หนุนจากหุ้นขนาดใหญ่บางตัว ได้แก่ PTTEP EA JTS เป็นต้น สถาบันในประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นเร่งขึ้นเป็น 3.8 พันลบ. ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3.6 พันลบ. (สถานะใน SET50 Index Futures ไม่มีนัยยะ)

แนวโน้มตลาดวันนี้ : เราคาด SET Index แกว่งตัวขึ้นทดสอบระดับ 1,685+- จุด จากบรรยากาศการลงทุนที่เป็นบวกขึ้นเล็กน้อย ราคาน้ำมันดิบชะลอตัวลง ขณะที่พันธบัตรมีแรงขายต่อเนื่องและไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างหุ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่าเป็นเพียงระยะสั้น และยังคงมุมมองระมัดระวังต่อเศรษฐกิจโลกที่จะเติบโตในอัตราที่ ชะลอตัว จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของ FED มีแนวโน้มปรับขึ้นในอัตราเร่ง 0.5% ในการประชุมเดือน พ.ค. รวมถึงเริ่มมาตรการลดขนาดงบดุล ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการปรับขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงในระยะยาว ขณะที่ภาพเศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องตามการผ่อนคลายมาตรการคุม COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2H22 หลังประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคประจําถิ่น  ภาพรวมจึงยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ของเราที่เน้นหุ้น Value และ Domestic Play ซึ่งทนทานต่อภาวะเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของ FED ที่ตึงตัวได้ดี กลุ่มที่เราชอบยังคงเป็น ธนาคาร ค้าปลีก อสังหาฯ อาหารและเครื่องดื่ม การแพทย์ เป็นต้น

กลยุทธ์ : เน้นลงทุนในกลุ่ม Value และ Domestic Play ที่กระทบจากปัจจัยต่างประเทศจำกัด และได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

หุ้นเด่นเดือน มี.ค. : BDMS, CPALL, OSP, PJW, TOP

หุ้นเด่นวันนี้ : TACC

  • แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 8.70 บาท
  • ระยะสั้นแนวโน้มก่าไร 1H22 ยังดูดี และเข้า High Season โดยรายได้เติบโตทั้งจากธุรกิจเครื่องดื่มทั้ง 7-11 และ Non 7-11 รวมถึงธุรกิจ Character ที่ดีขึ้น ส่วนฝั่งต้นทุนยังกระทบไม่มาก
  • ผู้บริหารยังตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 10-15% เร่งตัวตามการ Reopening และการใช้ชีวิตที่ปกติมากขึ้น ส่วนฝั่งต้นทุนหาก 2H22 ยังไม่ผ่อนคลาย อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาขาย เรายังคาดกำไรปีนี้โตแข็งแรง +9% Y-Y
  • แนวรับ 7.40-7.30 บาท แนวต้าน 7.55//7.80-8 บาท

Fund Flow: วานนี้กระแสเงินทุนพลิกมาไหลเข้าภูมิภาค US$356 ล้าน นำโดยเกาหลีใต้ US$184 ล้าน ส่วนอาเซียนไหลเข้าเกือบทุกประเทศ นำโดยไทย US$108 ล้าน แนวโน้มของกระแสเงินทุนคาดอยู่ในทิศทางไหลเข้าในระยะนี้ หลังจากที่ตลอดเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาไหลออกอย่างรุนแรง จากความกังวลผลกระทบจากสงคราม รวมถึง นโยบายการเงิน FED ที่ตึงตัว

ประเด็นสำคัญวันนี้

(0) ครม.เคาะ 10 มาตรการช่วยผู้บริโภค เน้นที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ส่วนมาตรการหลักในวงกว้างอย่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลยังคงตรึงที่ 30 บาท/ลิตรไปถึงสิ้นเดือน เม.ย. 22 หลังจากนั้นจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนเพิ่มครึ่งหนึ่ง  ส่วนก๊าซหุงต้มจะนำเงินกองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยให้ไม่ปรับสูงขึ้นมากเกินไป ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมลง เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและสนับสนุนกำลังซื้อ ภาพรวมเป็นการช่วยประคองกำลังซื้อในช่วงเงินเฟ้อพุ่งขึ้น เรามองเป็นกลางต่อกลุ่มค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม

(+) กลุ่มเครื่องดื่ม กำลังเข้าสู่ช่วง High Season ใน 2Q22 เพราะเป็นหน้าร้อน และแทบทุกบริษัทเริ่มทยอยออกสินค้าใหม่ ล่าสุด OSP ออก M-150 ขวด 12 บาท, ICHI วางขายไบเล่อีกครั้ง และคาดช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. จะเริ่มเห็น CBD Drink จาก OSP และ ICHI ส่วนด้านต้นทุนยังกระทบไม่มาก เนื่องจากยังมีสต๊อกเก่าพอใช้ 3-6 เดือน (ยกเว้น CBG ถูกกระทบหนักสุด) ทำให้แนวโน้มกำไรใน 1H22 คาดยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์ 2H22 หากต้นทุนยังไม่ผ่อนคลายอาจกดดัน Margin และต้องมีการปรับราคา เราคาดกำไรของกลุ่มปี 2022 +14% เรายังชอบ OSP และ ICHI ที่แนะนำตั้งแต่ต้นปี ส่วนระยะสั้นหุ้นที่ยัง Laggard อย่าง TACC SAPPE น่าสนใจขึ้นจาก PER ที่ต่ำราว 18-19 เท่า

(+) กลุ่มธนาคาร สินเชื่อเดือน ก.พ. 22 +0.47% M-M จากกลุ่มสินเชื่อธุรกิจและที่อยู่อาศัย ส่วนด้าน SME ชะลอเล็กน้อย ธนาคารที่เติบโตดีสุดคือ KKP และ KBANK +1.83% M-M และ +0.87% M-M ส่วน TTB ชะลอมากสุด -0.23% M-M เรายังมองกลุ่มธนาคารไม่ถูกกระทบโดยตรงจากประเด็นสงคราม แต่อาจมีผลทางอ้อมบ้างจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ อย่างไรก็ตาม เรามอง Downside ต่อประมาณการกำไรของกลุ่ม ปัจจุบันที่คาด +9% Y-Y จำกัด โดยการตั้งสำรองที่ผ่านมาคาดว่าจะชดเชยแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนลงได้ ด้าน Valuation ยังเทรด PBV ต่ำเพียง 0.7 เท่า และคาดตอบรับประเด็นถูก S&P ปรับลด Rating ไปแล้ว จึงยังคงน้ำหนักการลงทุน “Overweight” Top Pick คือ SCB TTB (Source: FSSIA) และเชิงกลยุทธ์เพิ่ม KBANK

(+) ตลาดดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 254.47 จุด หรือ 0.74% ปิดที่ 34,807.46 จุด ตอบรับถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดที่ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงหนุนจากรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ของบริษัทไนกี้

(+) ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก หนุนจากการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารหลังเฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย

(+) ตลาดหุ้นเอเชีย ปรับขึ้น ตามทิศทางตลาดดาวโจนส์ ท่ามกลางติดตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน

(+) ค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้น ล่าสุดอยู่ที่บริเวณ 33.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

(-) ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ลดลง 36 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 111.76 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังมีรายงานว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของ EU มีความคิดเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางมาตรการคว่ำบาตร อุตสาหกรรมพลังงานของรัสเซียโดยเฉพาะเยอรมนี ขณะที่ติดตาม EIA รายงานสต็อกน้ำมันในวันนี้ เวลา 21.30 น.ตามเวลาไทย ท่ามกลางนักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัว

(-) ราคาทองคำ COMEX ลดลง 8 ดอลลาร์ หรือ 0.41% ปิดที่ 1,921.5 ดอลลาร์/ออนซ์ จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับขึ้นแตะ 2.385% สูงสุดในรอบ 3 ปี

SPDR Gold Trust ถือครองทองคํา 1,083.60 / +-

- Advertisement -