สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประชุมออนไลน์ร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าไทย ซึ่งนำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เพื่อหารือถึงประเด็นการสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุน โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการระดมทุน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ตระหนักถึงปัญหาและข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และวิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัพ) ซึ่งต้องการแหล่งเงินทุนให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 รวมทั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ก.ล.ต. จึงได้มีการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ในตลาดทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดทุนมีส่วนช่วยในการสนับสนุนภาคเอกชนและผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ”
สำหรับเครื่องมือระดมทุนที่เหมาะกับกรณีที่กล่าวมาข้างต้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรกเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือกิจการที่ประสบปัญหาสภาพคล่องหรือได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อตกลงในการขายทรัพย์สินคืนให้แก่เจ้าของเดิม (REIT buy-back) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้ลงทุนในวงจำกัด ซึ่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง นอกจากนี้ยังมีช่องทางการระดมทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ที่เน้นลงทุนในตราสารที่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (high yield bond)* เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และสร้างเสถียรภาพให้ตลาดตราสารหนี้ดังกล่าว
ส่วนที่สองเป็นเครื่องมือระดมทุนสำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของกิจการ ได้แก่ การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัด (Private Placement) และการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป (Public Offering) รวมถึงการจัดตั้งตลาดรองสำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ การระดมทุนผ่านผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding platform) การระดมทุนผ่านการร่วมลงทุนทั้งในรูปแบบของนิติบุคคลร่วมลงทุน (Venture Capital) และกิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity) และการระดมทุนสำหรับกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม โดย ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการศึกษาเครื่องมือระดมทุนอื่น ๆ เพื่อพิจารณาออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในอนาคต