ยังกังวลต่อหลายๆ ปัจจัย เน้น Wait & See ระยะสั้นแนะ BJC TU
ตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนที่ผ่านมายังคงผันผวน ด้วยการเปิดตลาดแกว่งบวกขึ้นไปทำจุดสูงสุดราว 1.3% ก่อนจะลงมา เหลือปิดเพียง 0.19% หลักๆ ยังเป็นแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่ตลาดกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ได้แรงหนุนเล็กน้อยจากการประกาศผลประกอบการของ Microsoft หลังกำไรต่อหุ้นออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ด้านราคาน้ำมัน BRT หลังจากสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 6.92 แสนบาร์เรล ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดจะเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Upside เมื่อคืนยังไม่ได้สูงมาก เพราะหลักๆแล้วนักลงทุนกังวลกับการระบาด COVID-19 ในจีนนับเป็นปัจจัยบั่นทอนอุปสงค์
ปัจจัยในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. รัฐบาลจะเริ่มปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงมากขึ้น โดยปรับขึ้นเป็นลักษณะ บันได ช่วงแรกจะขึ้นมาอยู่ที่ 32 บาท/ลิตร พร้อมติดตามสถานการณ์ทุกวัน และหากราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวขึ้นก็ อาจจำเป็นต้องขยับขึ้นตามครั้งละไม่เกินลิตรละ 1 บาท แต่จะไม่เกินไปกว่า 35 บาท/ลิตร ส่งผลให้ทางภาคขนส่ง (รถบรรทุก) ออกมาเปิดเผยว่าจะมีการปรับขึ้นค่าขนส่ง เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างน้อย 20% ซึ่งเรามองว่าจะยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกระทบกับกำลังซื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายส่งผลกระทบต่อการเติบโตของ เศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียน ดังนั้นจึงคงมุมมองระมัดระวังต่อการลงทุนเช่นเดิม เพราะกังวลกับ (1) ระดับ Valuation ที่ยังค่อนข้างแพง (2) การส่งผ่านต้นทุนของบริษัทที่ยังทำได้ไม่เต็มที่กดดัน Margin (3) เสี่ยงที่จะถูก ปรับลดประมาณการจากนี้ผลพวงเงินเฟ้อ (4) เงินบาทอ่อนค่าจะเป็นตัวกดดัน Foreign Fund Flow
วันนี้ประเมิน SET INDEX เคลื่อนไหวกรอบ 1655 – 1668 ภาพรวมตลาดหุ้น (Nikkei) เช้านี้ -0.08% จะเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างแคบ เชิงกลยุทธ์การลงทุนยังเน้นระมัดระวังเช่นเดิมจากความเสี่ยงที่ได้กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนระยะสั้นแนะหุ้นมี Story เชิงบวก อาทิ โรงพยาบาล (BCH CHG) ค้าปลีก (BJC CPALL MAKRO) มองเป็นกลุ่มที่ส่งผ่านต้นทุนออกไปได้ เพราะเป็นสินค้าเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และสามารถปรับราคาชดเชยกับต้นทุนที่เร่งตัวได้ รวมถึงกลุ่มส่งออก แต่เน้นอาหาร (ASIAN TU) ได้ประโยชน์จากบาทอ่อนค่า
BJC (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 40 บาท) คาดผลประกอบการจะค่อยๆ ดีขึ้นในปี2022 จากจุดต่ำสุดในปี 2021 หนุนจาก 1) ผลประกอบการ BigC ที่ดีขึ้น 2) ยอดขายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ฟื้นตัวที่แข็งแกร่งทั้งในไทยและเวียดนาม
TU (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 22 บาท) แม้คาด 1Q22 TU มีกำไรสุทธิ 1,483 ลบ. (-18%YoY, -23%QoQ) แรงกดดันหลักมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเรื่องค่าขนส่ง ปัญหาเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายทางการตลาด แต่เชื่อว่า ราคาหุ้นปรับฐานสะท้อนไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ 2Q22 คาดว่าจะเห็นผลจากการเจรจาปรับราคากับลูกค้าได้บางส่วน
*หมายเหตุ ชุดหุ้นที่แนะนำ เหมาะสำหรับการซื้อเพื่อถือลงทุน 1-14 วัน หากนักลงทุนมีกำไรก็สามารถทำกำไรได้โดยแนะตั้ง Stop loss หากขาดทุนเกินกว่า 5% ส่วนราคาเป้าหมายเป็นราคาภายใน 1 ปีจากปัจจุบันที่มาจาก ปัจจัยพื้นฐาน