บล.พาย:
SYNEX: ราคาหุ้นน่าสนใจหลังปรับตัวลงมามาก
เพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ปรับเพิ่มมูลค่าพื้นฐานขึ้น 5% เป็น 29.75 บาท อิง 27.0xPE’22 (+2SD ต่อค่าเฉลี่ย 10 ปี) เชื่อว่าราคาหุ้นที่ลดลง 38% ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2022 ไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้นราคาหุ้นในปัจจุบันจึงน่าดึงดูดและอาจสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจพาณิชย์และเกม
- กำไรสุทธิ 1Q22 อยู่ที่ 218 ล้านบาท (+18%YoY, -19%QoQ) การเติบโตของรายได้และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหนุนการเติบโตในเชิง YoY ส่วนที่ลดลง QoQ เป็นผลจากปัจจัยตามฤดูกาล
- คาดทิศทางกำไรแข็งแกร่งขึ้นใน 2Q22 เป็นผลจากสภาวะการขาดแคลนอุปทานที่ปรับดีขึ้น บวกกับอุปสงค์ต่อ ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่แข็งแกร่ง ด้วยแรงหนุนจากการคลายล็อกดาวน์ที่หนุนให้กลุ่มองค์กรและภาครัฐหันมาลงทุนในโครงการต่างๆ มากขึ้น
- ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2022 ขึ้น 5.4% เป็น 942 ล้านบาท (+10.5%YoY) เพื่อสะท้อนถึงกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน สภาวะขาดแคลนอุปทานที่ดีขึ้น และอุปสงค์จากกลุ่มผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่แข็งแกร่ง
- ปัจจุบันถือเป็นโอกาสในการเข้าสะสมที่ดี คาดกำไร 1Q22 คือจุดต่ำสุดของปีนี้ ซึ่งคิดเป็น 23% ของประมาณการทั้งปี 2022
สรุปผลประกอบการ 1Q22
- กำไรสุทธิ 1Q22 อยู่ที่ 218 ล้านบาท (+18%YoY, -19%QoQ) การเติบโตในเชิง YoY เป็นผลมาจากรายได้ที่โตขึ้นจากอุปสงค์ที่ดีในกลุ่มพาณิชย์ ส่วนที่ลดลง QoQ เป็นผลจากปัจจัยตามฤดูกาล
- รายได้อยู่ที่ 1.0 หมื่นล้านบาท (+15%YoY, -11%QoQ) ที่โตดี YoY เป็นเพราะสภาวะขาดแคลนไมโครชิปที่ปรับดีขึ้น เพื่อให้บริษัทจัดจําหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับอุปสงค์ที่ไหลเข้ามาได้มากขึ้น ส่วนที่ลดลง QoQ เป็นผลจากปัจจัยตามฤดูกาล
- อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) อยู่ที่ 4.6% (ทรงตัว YoY, -0.1 ppts QoQ) สาเหตุที่ลดลงเล็กน้อย QoQ คาดเป็นผลจากส่วนผสมผลิตภัณฑ์
ภาพรวมปี 2022
- เชื่อว่ากำไรสุทธิจะโตแตะ 942 ล้านบาท (+11%YoY) ในปี 2022 โดยคาดว่าสภาวะเศรษฐกิจและการขาดแคลนอุปทานที่ปรับดีขึ้น จะทำให้รายได้เติบโตแข็งแกร่ง ส่วนการคลายล็อกดาวน์ก็น่าจะทำให้มีอุปสงค์ไหลเข้ากลุ่มผลิตภัณฑ์พาณิชย์มากขึ้น เพราะกลุ่มองค์กรและภาครัฐต่างหันมาลงทุนในโครงการต่างๆ มากขึ้น
กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 119 ล้านบาทจะช่วยหนุนทิศทางการเติบโตของกำไรในปี 2022
คาดกำไรสุทธิปี 2022 โต 10.5% YoY จากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนที่หนุนจากการแข็งค่าของเงินบาท เดิมที่คาดว่ากำไรสุทธิปี 2022 จะโตเพียง 1.3% เพราะประเมินกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเกินไป ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนใน 1Q22 ถือเป็นกำไรที่ติดต่อกันมาแล้ว 8 ไตรมาส หรืออกมาอยู่ที่ 41 ล้านบาทใน 1Q22 คิดเป็น 19% ของกำไรสุทธิในไตรมาสดังกล่าว
คาดกำไรอัตราแลกเปลี่ยนจะมีทิศทางเป็นบวกตลอดทั้งปี 2022 ทั้งนี้กำไร/ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะ 36% ของผลิตภัณฑ์บริษัทเป็นการนำเข้ามาโดยใช้สกุลเงิน USD ทั้งนี้ ด้วยการที่คาดว่าภาคท่องเที่ยวไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นตลอดทั้งปี 2022 และเอื้อให้มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น จึงคาดว่าเงินบาท/ดอลลาร์ฯ จะแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้านำเข้าถูกลงและหนุนให้บริษัททำกำไรได้มากขึ้น
ราคาหุ้น SYNEX ที่ลดลงตั้งแต่เดือน ม.ค. 2022 ไม่เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐาน
ราคาหุ้นลดลงเพราะดัชนี S&P500 ที่ลดลงจากความกังวลของนักลงทุน ดัชนี S&P500 ที่มีหุ้นเติบโตมูลค่าตลาดสูงร่วมอยู่อย่าง AAPL, GOOG, และ MSFT ต่างปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่ Fed อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย บวกกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่กระทบอุปสงค์ในการบริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่าง SYNEX ที่มีการพึ่งพาผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทที่กล่าวถึงข้างต้น แต่เชื่อว่าการย่อตัวครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าสะสมเพื่อรอรับผลประโยชน์จากทิศทางการเติบโตที่แข็งแกร่งของบริษัทในช่วงปี 2022-23
ตลาด IT ไทยคาดโตดีกว่าตลาดโลกในปี 2022 Gartner คาดว่าเม็ดเงินภาค IT ของโลกที่ไหลเข้าไทยจะโต 6.4% ขณะที่ตลาดโลกโต 5.5% สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ แต่อุปสงค์ในไทยยังแข็งแกร่ง และด้วยการที่บริษัทจะได้ประโยชน์จากทิศทางดังกล่าว จึงเชื่อว่าราคาหุ้นของบริษัทในปัจจุบันเป็นระดับที่น่าดึงดูด
Revenue breakdown
รายได้ของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้
1) กลุ่มพาณิชย์ (17% ของรายได้ปี 2021) ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จำพวกเครือข่าย หน่วยความจำเซิร์ฟเวอร์ กล้อง วงจรปิด และซอฟต์แวร์ มีลูกค้าเป็นกลุ่มองค์กรและภาครัฐที่ต้องการให้พนักงานมีอุปกรณ์รองรับการทำงานอย่างเหมาะสม
2) กลุ่มการสื่อสาร (38% ของรายได้ปี 2021) ประกอบด้วยแท็ปเล็ต มือถือ และอุปกรณ์และแกดเจ็ตอัจฉริยะอื่นๆ เช่น มือถือ iPhone และ Samsung
3) กลุ่มอุปโภคบริโภค (43% ของรายได้ปี 2021) ประกอบด้วย PC ชิ้นส่วน PC และอุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้งานส่วนตัว ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในกลุ่มนี้คืออุปกรณ์จำพวก เกม PC และแล็ปท็อป ซึ่งมีการเติบโตเป็นอย่างดีตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะกระตุ้นให้ผู้คนหันมาอัปเกรดอุปกรณ์ใช้งานในบ้านของตนมากขึ้น