บล.พาย:

บมจ. ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) “ต้นทุนเพิ่ม + Low Season กุ้งทํากําไรเหลือ 1 ลบ.”

1Q22 กำไรสุทธิ 1 ลบ.

TEM รายงานกำไรสุทธิงวด 1Q22 ที่ 1 ลบ. (-98%YoY, -97%QoQ) มีรายการพิเศษ คือ การขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้ 5 ลบ. และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 ลบ. จะมีกำไรปกติ 5 ลบ. (-92%YoY, -83%QoQ) แรงกดดันหลักมาจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกากถั่วเหลือง (+17%YoY, 17%QoQ) ปลาป่น (+10%YoY, 5%QoQ) และข้าวโพด (+23%YoY, +7%QoQ) รวมถึงธุรกิจที่อินโดนีเซีย (TUKL) ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน หลังเริ่มเดือนเครื่องในเดือน มี.ค. โดยรายได้อยู่ที่ 1,013 ลบ. (+6%YoY, -7%QoQ) เทียบกับปีก่อนเติบโต เพราะเริ่มรับรู้จาก TUKL เข้ามา โดยเติบโตดีจากอาหารกุ้ง และอาหารสัตว์บก แต่อาหารปลาลดลง ส่วนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงมากจากอาหารกุ้ง เพราะเป็นช่วง Low Season ของการเลี้ยง รวมถึงปริมาณการขายที่ปากีสถานลดลงหลังกลับมาเลี้ยงในเดือน มี.ค. ปริมาณขายมีจำนวน 39,583 ตัน (+2%YoY, -10%QoQ) กำไรขั้นต้นเหลือ 7% ลดลงจาก 11% ใน 1Q21 และ 9% ใน 4Q21 ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 87 ลบ. (+15%YoY, +3%QoQ) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัทที่อินโดนีเซียเริ่มเดินเครื่องจักรแล้ว

ต้นทุนยังกดดัน แต่คาดว่าหลังจากนี้จะดีขึ้น

แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี สิ่งที่ยังน่ากังวลคือต้นทุนอาหารสัตว์ที่ยังอยู่ในระดับสูง จากผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยคาดว่าต้นทุนจะเริ่มเห็นการลดลงในช่วง 2H22 หลังผลผลิตจากสหรัฐฯ เริ่มออกมา  สำหรับการออกสินค้าใหม่ทาง TFM ยังคงเน้นการเพิ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มกำไรให้กับบริษัท และช่วยชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ปรับกำไรลงจากเดิมหลัง 1Q22 กำไรทรุด

แนวโน้มในช่วง 2Q22 แม้ว่าเราจะมองว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวหลังประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงเลี้ยงกุ้ง การปรับราคาขาย และธุรกิจในต่างประเทศ ทั้งที่ปากีสถานและอินโดนีเซียจะเดินเครื่องมากขึ้น แต่ด้วยผลประกอบการในช่วง 1Q22 มีกำไรเพียง 1 ลบ. และการปรับราคายังไม่อาจเพียงพอกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เราจึงมีการปรับประมาณการกำไรสุทธิลงจากเดิม 68% มาอยู่ที่ 128 ลบ. (-40%YoY) โดยปรับลดกำไรขั้นต้นเหลือ 9% จากเดิม 13% และรายได้ที่ 5,047 ลบ. (+6%YoY) สำหรับคำแนะนำการลงทุน ด้วยผลประกอบการที่ได้รับผลกระทบหนักจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นระยะสั้นเราจึงแนะนำให้ “ขาย” หรือเปลี่ยนไปลงทุนในบริษัทแม่อย่าง TU แทน เพราะได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมได้ใหม่ที่ 9.2 บาท (2XPBV’22E)

- Advertisement -