สรุปภาวะตลาด

วันอังคารที่ผ่านมา ดัชนีมีแรงขายเร่งตัวในช่วงท้ายตลาด ลดลงราว -7 จุด การปรับตัวลงของดัชนีเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งปรับตัวลง -0.5% ถึง -1.75% ขณะเดียวกัน Dow Futures ปรับตัว -1.0% คาดนักลงทุนขายทำกำไรก่อนเข้าสู่ช่วงเปิดเผยรายงานการประชุมเดือน พ.ค.ของเฟด (FOMC) ประกอบกับดัชนี SET ปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงก่อนหน้า ราว+50 จุด ส่งผลให้ดัชนี SET Index ปิดตลาดที่ 1,626.23 จุด -9.05 จุด -0.55% มูลค่าการซื้อขาย 63,643 ลบ. ต่างชาติ +191.61 ลบ. TFEX -2,541 สัญญา ตราสารหนี้ +8,823.06 ลบ.

ปัจจัยบวก+

+ ดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 48.38 จุด +0.15% ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปิดร่วงลง หลังจากสหรัฐ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และบริษัทจดทะเบียนบางแห่งปรับลดแนวโน้มผลประกอบการ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้ออาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

+ รัฐบาลจีนจะออกมาตรการลดหย่อนภาษีวงเงินกว่า 1.4 แสนล้านหยวน (2.1 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19

+ บริษัทไฟเซอร์และไบออนเทคเปิดเผยผลการทดลองทางคลินิกเบื้องต้นระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์จำนวน 3 เข็มมีประสิทธิภาพ 80% ในการป้องกันเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี ไม่ให้ล้มป่วยจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนกำลังแพร่ระบาด

+ กระทรวงการคลังมีนโยบายขยายฐานการจัดเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ ด้วยการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.11% ที่ยกเว้นมานานกว่า 30 ปี แต่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ควรสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ จากเดิมที่คาดว่าจะจัดเก็บภายในปีนี้

+/- ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 5,013 ราย ATK 7,917 ราย มีผู้เสียชีวิต 33 ราย รักษาหาย 5,591 ราย

ปัจจัยลบ-

– สัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 52 เซนต์ +0.5% ปิดที่ 109.77 ดอลลาร์/บาร์เรล ถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการที่สหรัฐส่งสัญญาณว่าอาจจะจำกัดส่งออกน้ำมันเพื่อควบคุมราคาพลังงานในประเทศ

– สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 16.6% สู่ระดับ 591,000 ยูนิตในเดือนเม.ย. ต่ำสุดในรอบ 2 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 750,000 ยูนิต จากระดับ 709,000 ยูนิตในเดือนมี.ค.

– สหรัฐรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนพ.ค.ร่วงลงสู่ระดับ 57.5 ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และดัชนี PMI ภาคบริการดิ่งลงสู่ระดับ 53.5 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

– เยอรมนีเปิดเผยว่า EU อาจคว่ำบาตรการค้าน้ำมันกับรัสเซียในอีกไม่กี่วัน ขณะที่รัสเซียเผยถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนที่เพิ่มขึ้น หลังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร

แนวโน้มตลาดวันนี้

คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยยังแกว่งตัวผันผวนระหว่างวัน โดยนักลงทุนยังกังวลว่าการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ปัจจัยในประเทศมีแรงหนุนจากการที่ รมว.คลัง ส่งสัญญาณเลื่อนเก็บภาษีขายหุ้น คาดดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,620-1,637 จุด

กลยุทธ์การลงทุน

  • ศบค. มีมติปรับลดพื้นที่สีหรือแบ่งโซนในการควบคุมโรคโควิด : AOT AAV BA BEM ERW CENTEL MINT AWC ASAP
  • MSCI ประกาศหุ้นเข้า/ออก มีผลวันที่ 31 พ.ค.:
    • MSCI Global Standard Index : เข้า JMT ออก STGT
    • MSCI Global Small Cap: เข้า ASK BYD DITTO FORTH KEX PSG SABUY STGT STARK VIBHA ออก EASTW JMT
  • FTSE ประกาศหุ้นเข้า/ออก มีผลวันที่ 17 มิ.ย.:
    • FTSE All World Index : เข้า – ออก -,
    • Micro Cap Index: เข้า BRI CIVIL HENG KTBSTMR PEACE SVT TKC TFM WFX ออก –

หุ้นรายงานพิเศษ

SKN – ราคาหุ้นยัง Underperform (ราคาเหมาะสม 10.50 บาท)

  • บริษัทมีรายได้ 1Q22 เท่ากับ 1,047.2 ล้านบาท -34.8%QoQ เนื่องจากรอบเรือขนส่งใน 4Q21 มีมากกว่า ปกติ ทำให้ส่งสินค้าได้ปริมาณมาก แต่หากเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนรายได้ยังเติบโต +40.5%YoY มีสาเหตุหลักมาจากราคาขายสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินอ่อนค่าลง ด้านอัตรากำไรขั้นต้นทำได้ที่ระดับ 45.9% ลดลงจาก 46.9% ในไตรมาสก่อน จากราคาวัตถุดิบสารเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ แต่ดีขึ้นจาก 30.8% ใน 1Q21 เนื่องจากมีการปรับเพิ่มราคาขาย ในส่วนของ SG&A/Sales อยู่ที่ระดับ 23.0% ลดลงเล็กน้อยจาก 24.5% ใน 4Q21 ตามปริมาณการส่งออกที่ลดลง แต่ยังเพิ่มขึ้นจาก 20.7% ใน 1Q21 จากราคาค่าขนส่งทางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 1Q22 เท่ากับ 224.5 ล้านบาท ลดลง -29.0%QoQ แต่ยังเติบโต +159.5%YoY
  • ความเห็น : แม้ผลการดำเนินงานในปี 22 มีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากปีก่อน และราคาวัตถุดิบยังทรงตัวในระดับสูง แต่ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมายังคง Underperform เราจึงแนะนำ “ซื้อ”

*แนวโน้มผลประกอบการปี 22 เราคาดว่าจะ กลับมาสู่ระดับปกติอีกครั้ง หลังจากวัฏจักรการ Restock สินค้าในหลายประเทศได้ผ่านไปแล้วในปีก่อน ขณะที่ค่าขนส่งทางเรือ และต้นทุนวัตถุดิบสารเคมียังทรงตัวในระดับสูง กดดัน อัตรากำไรขั้นต้น ซึ่งคาดว่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะสามารถชดเชยได้บางส่วน เราคงประมาณการรายได้และกำไรสุทธิปี 22 ไว้ที่ระดับเดิมที่ 3,111.2 ล้านบาท และ 444.2 ล้านบาท ลดลง -25.5%YoY และ -43.0%YoY

หุ้นมีข่าว

(+) STARK (Bloomberg Consensus 6.50 บาท) ทุ่ม 2 หมื่นล้านบาท ซื้อกิจการ LEONI ผู้ผลิตสายไฟยานยนต์อันดับ 1 ของโลก ผลิตให้ค่ายรถชื่อดังรวมถึงเทสล่ารายได้ครึ่งแสนล้านบาท วางเกมเจาะตลาดอาเซียน รุกอีวี สถานีชาร์จ มาร์จิ้นสูง เตรียมรับรู้รายได้และกำไรส่วนเพิ่มทันทีไตรมาส 4 ดันผลงานปี 2565 ทะลุ 3 หมื่นล้านบาท รับยิ่งใหญ่ยิ่งอำนาจแข่งขันสูง ต้นทุนลดฮวบ (ที่มา ทันหุ้น)

(+) WHA (Bloomberg Consensus 4.07 บาท) แววผลงานไตรมาส 2/2565 เด่น หลังโควิด-19 คลี่คลาย ต่างชาติเดินหน้าโอนที่ดินเพิ่ม ญี่ปุ่น-สหรัฐ-ยุโรป กลับมาลงทุนในไทย อวดแบ็กล็อกแน่น 400 ไร่ ด้านธุรกิจโลจิสติกส์ทยอยเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ต่อเนื่อง เผยปัจจุบันมีดีมานด์สูงกว่า 2 แสนตร.ม. เล็งขายสินทรัพย์เข้ากอง WHART-HREIT มูลค่ารวมกว่า 5-5.3 พันล้านบาท (ที่มา ทันหุ้น)

(+) HL (Bloomberg Consensus 35.00 บาท) แย้มแผนซื้อกิจการสุขภาพเสริมทัพ หนุนผลงานพองโต บอสใหญ่ “ธัชพล ชลวัฒนสกุล” ชี้ดีมานด์ยา-อาหารเสริมล้น ส่องธุรกิจไตรมาส 2/2565 โตต่อ รับทรัพย์สาขาใหม่เต็มไตรมาส ปักหมุดยอดขายโต 10% ลุยเปิดสาขาทำเงินเพิ่มครบ 10 สาขา (ที่มา ทันหุ้น)

(+) GUNKUL (Bloomberg Consensus 6.45 บาท) วางเป้ารายได้ปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% คาด EBITDA โต 30-35% ลั่นหวังชนะประมูลโครงการพลังงานลม 4-5 โครงการ อีกทั้งเล็งต่อยอดปลูกกัญชาหลังรัฐบาลปลดช่อดอกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ต้นเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมดัน “กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์” เข้าตลาดหุ้น เริ่มไฟลิ่งไตรมาส 4/2565 (ที่มา ทันหุ้น)

ปัจจัยจับตาในประเทศ

  • 31 พ.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย
  • 29 มิ.ย. ประชุมกนง. ครั้งที่ 4/65

ปัจจัยจับตาต่างประเทศ

  • 22-26 พ.ค. ประชุม “เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม” หัวข้อในการประชุมคือ “History at a Turning Point: Government Policies and Business Strategies”
  • 25 พ.ค. สหรัฐ เปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุม (เช้าวันที่ 26 พ.ค.)
  • 26 พ.ค. สหรัฐ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 1Q65 (ประมาณการครั้งที่ 2)
  • 14 – 15 มิ.ย. ประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ
- Advertisement -