บล.เคจีไอ (ประเทศไทย):
Industrial Estate Sector
ระยะสั้นดูโอเค แต่ระยะยาวยังต้องระวัง
Event
อัพเดตแนวโน้มอุตสาหกรรม
Impact
ยอดขอ และยอดอนุมัติสิทธิประโยชน์ BOI ลดลงใน 1Q65
จากข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยอดขอสิทธิประโยชน์ BOI อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท (-7% YoY) ในขณะที่ยอดอนุมัติสิทธิประโยชน์ BOI อยู่ที่ 8.87 หมื่นล้านบาท (-11% YoY) ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ ทั้งนี้ อุปสงค์การลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) คิดเป็นสัดส่วน -55% ของยอดขอสิทธิประโยชน์ BOI และ 38% ของยอดอนุมัติสิทธิประโยชน์ BOI โดยในพื้นที่ EEC จังหวัดระยองมีสัดส่วนสูงที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 77% และ 41% ของยอดขอ และยอดอนุมัติสิทธิประโยชน์ BOI ในพื้นที่ EEC ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม โครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ถึงแม้ตัวเลข ยอดขอ และ อนุมัติสิทธิประโยชน์ BOI จะลดลงใน 1Q65 แต่มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยยะในปี 2564 ที่ 59% YoY (ยอดขอสิทธิประโยชน์ BOI) และ 42% YoY (ยอดอนุมัติสิทธิประโยชน์ BOI) ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนอุปสงค์ของที่ดินในปีนี้
อุปสงค์การลงทุนจาก FDI แสดงแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นทั้งปี 2564 และ 1Q65
อุปสงค์การลงทุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แสดงสัญญาณการฟื้นตัว โดยยอดขอ BOI จาก FDI เพิ่มขึ้นเป็น 7.73 หมื่นล้านบาท (+29% YoY) ในขณะที่ยอดอนุมัติ BOI จาก FDI เพิ่มขึ้นเป็น 6.96 หมื่นล้านบาท (+11% YoY) ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ 169% YoY และ 11% YoY ตามลำดับ ซึ่งเมื่อแบ่งตามประเทศ ญี่ปุ่น และจีน ยังคงเป็นสองประเทศที่มีอุปสงค์การลงทุนสูงที่สุด โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นสัดส่วน 12% ของยอดขอ BOI และ 29% ของยอดอนุมัติ BOI
ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเสียส่วนแบ่ง FDI ไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
จากข้อมูลของ UNCTAD ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเสียเสียส่วนแบ่ง FDI ไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากที่ส่วนแบ่ง FDI ของไทยเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 0.1% (เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง) ซึ่งลดลงจาก 0.2% (เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง) และ 0.3% (เฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง) ซึ่งต่างจากอินโดนีเซีย และเวียดนามที่มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น 1.6% และ 1.2% ตามลำดับ (เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง)
ดัชนีเศรษฐกิจส่วนใหญ่แสดงแนวโน้มที่ดีขึ้น
ดัชนีเศรษฐกิจส่วนใหญ่แสดงแนวโน้มที่ดีขึ้น ได้แก่ i) อัตราการใช้กำลังการผลิตของประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 68.8 ในเดือนมีนาคม 2565 จาก 56.3 ในเดือนสิงหาคม 2564 ii) ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นเป็น 138 ในเดือนมีนาคม 2565 จาก 132.1 ในเดือนสิงหาคม 2564 และ iii) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 48.2 (+5% YoY) จาก 40.0 ในเดือนสิงหาคม 2564
ปัจจัยแวดล้อมสนับสนุนยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในปี 2565
ยอดขายและยอดโอนที่ดินของ Amata Corporation (AMATA.BK/AMATA TB) และ WHA Corporation (WHA.BK/WHA TB)* เติบโตอย่างโดดเด่นใน 4Q64 แต่ลดลงอย่างมากใน 1Q65 โดยยอดขายที่ดินของ AMTA อยู่ที่ 10 ไร่เท่านั้น (บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 950 ไร่) และของ WHA อยู่ที่ 36 (บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 1,250 ไร่) ซึ่งยอดขายที่ดินที่อ่อนแอในไตรมาสแรกจะเป็นความท้าทายสำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่เนื่องจากกิจกรรมทางธุรกิจเริ่มกลับมาจากการเปิดประเทศ ในขณะที่ดัชนีที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ฟื้นตัวดีขึ้น เราจึงคาดว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเสียส่วนแบ่ง FDI ไปให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป ดังนั้น เราจึงมองว่าพอร์ตธุรกิจที่มีการกระจายตัวจะช่วยให้ผลการดำเนินงานมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ในปีที่สถานการณ์ปกติ รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะคิดเป็น 47% ของรายได้รวมของ AMATA และคิดเป็น 38% ของรายได้รวมของ WHA
Valuation & Action
เราชอบ WHA มากกว่า AMATA จากการกระจายพอร์ตธุรกิจ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากยอดขายที่ดินที่ทําเกินคาด เรายังคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มนิคมที่ “เท่ากับตลาด” โดยคงคำแนะนำ และราคาเป้าหมายของ AMATA (“ถือ” ราคาเป้าหมาย 18.40 บาท) และ WHA (“ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 4.20 บาท) ไว้เท่าเดิม
Risks
ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks), เศรษฐกิจชะลอตัวลง, ภัยธรรมชาติ, การซื้อที่ดิน, การกระจุกตัวของกลุ่มอุตสาหกรรม, เงินทุนไม่เพียงพอ