Double exposure financial indices and stock market in accounting market economy analysis with graph business concept background

กนง.ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ด้วยมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 เสียง ระบุมองความเสี่ยงเศรษฐกิจและเงินเฟ้อชัดเจน นโยบายการเงินผ่อนคลายจำเป็นน้อยลง พร้อมหาเวลาเหมาะสมทยอยขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่มีการปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้เติบโตเพิ่มขึ้น 3.3% จากเดิม 3.2%

 

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศและแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง แต่เพื่อให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตาดคาด คณะกรรมการส่วนใหญ่จึงให้คงดอกเบี้ยไว้ใ โดยจะติดตามพัฒนาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมการจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจะติดตามแนวโน้มและความเสี่ยงเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะต่อไป

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทย กนง.ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% จากเดิมคาด 3.2% และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% จากเดิมคาดจะขยายตัวได้ 4.4% ด้านการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 7.9% จากเดิมคาด 7% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.1% จากเดิมคาด 1.5% ขณะที่การนำเข้าปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 13.8% จากเดิมคาด 11.6% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% จากเดิมคาด 2%

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 4.9% ส่วนปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% จากเดิมคาด 1.7% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.2% จากเดิมคาด 2% และปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 2% จากเดิมคาด 1.7% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในปี 2566 อยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเช่นเดียวกัน

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้ คาดว่าจะขาดดุล 8,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขาดดุล 6,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2566 คาดว่าจะเกินดุล 5,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิมคาด เกินดุล 10,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีในปีนี้ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด โดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น โดยในปีนี้คาดจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่คาด 5.6 ล้านคน และปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่ 19 ล้านคน

ด้านตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากและเร็วกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางอย่างใกล้ชิด

ด้านระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่แข็งแกร่ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบาง โดยรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงอาจมีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น

ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย แต่มีความผันผวนมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ ปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้า คณะกรรมการจึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการประเมินว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า

*******

- Advertisement -