STP หุ้น Packaging น้องใหม่ พร้อมส่ง 25.4 ล้านหุ้น เข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ mai 14 มิถุนายนนี้ ชูจุดเด่นจากพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง ในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษสําหรับอาหารคนและสัตว์เลี้ยง เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์ทั่วไป ด้วยระบบพิมพ์ออฟเซ็ท เผยแผนงานหลังเงินระดมทุน วางกลยุทธ์การขยายโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานของเครื่องพิมพ์และขยายกําลังการผลิตที่เน้นการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์อาหาร เปิดช่องทางการขยายฐานลูกค้าใหม่ และสนับสนุนการใช้กําลังการผลิตที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้านโบรกฯ เคาะราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 24.25 บาทต่อหุ้น จากราคา IPO ที่หุ้นละ 18 บาท
นายสุรนัย โรจน์วงศ์จรัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทยการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ STP เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมนำหลักทรัพย์เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรก ในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ โดยใช้ชื่อย่อหุ้น STP ในการซื้อขายหลักทรัพย์ และเชื่อมั่นในศักยภาพการดำเนินงาน ที่มีพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง ในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษสําหรับอาหารคนและสัตว์เลี้ยง เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์ทั่วไป ด้วยระบบพิมพ์ออฟเซ็ท (Offset Printing) มีสัดส่วนรายได้ 91% ของรายได้รวมในปี 2564 มาจากลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางกลยุทธ์การขยายโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานของเครื่องพิมพ์และขยายกําลังการผลิตที่เน้นการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถสัมผัสอาหารโดยตรง (Direct food contact) เปิดช่องทางการขยายฐานลูกค้าใหม่ และสนับสนุนการใช้กําลังการผลิตที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะนำมาใช้ขยายโรงงาน ลงทุนเครื่องจักร เพื่อปลดล็อกกำลังการผลิต รองรับแผนการดำเนินงานที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยยกระดับฐานรายได้ให้เติบโตในอนาคต
ด้านนางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า STP มีจุดเด่นการลงทุน จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง มีรายได้รวมเติบโตกว่า 23% CAGR จาก 383 ล้านบาทในปี 2562 สู่ระดับ 580 ล้านบาทในปี 2564 ด้วยการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ สะท้อนจาก STP มีกำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจาก Economy of scale อัตรากําไรขั้นต้น 38% ปี 2564 เทียบเคียงได้กับอัตรากําไรขั้นต้นของบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษที่มีค่าเฉลี่ยที่ 22% นอกจากนี้ กําไรสุทธิเติบโตกว่า 43% CAGR จาก 59 ล้านบาทในปี 2562 สู่ระดับ 124 ล้านบาทในปี 2564
นอกจากนี้ ฐานลูกค้าของ STP เป็นลูกค้ารายใหญ่ มีฐานะการเงินที่มั่นคง และเป็นลูกค้าของ STP มากกว่า 10 ปี ซึ่งมีโอกาสในการเติบโตสูงเนื่องจากเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำของเมืองไทย ประกอบกับกลยุทธ์ขยายไปยังตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการดำเนินธุรกิจและโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะที่นางยอดฤดี สันตติกุล กรรมการบริหาร หัวหน้าสายงานตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย กล่าวว่า การจองซื้อหุ้น IPO ในช่วงที่ผ่านมาของ STP จำนวน 25.4 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขายที่หุ้นละ 18 บาท ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม โดยนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปแสดงความประสงค์จองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรร จึงมั่นใจว่า เมื่อหลักทรัพย์ STP เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai วันแรก จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ด้านบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ STP จำนวน 6 บริษัทหลักทรัพย์ ได้ประเมินราคาพื้นฐานของ STP อยู่ที่ 20.4 -24.25 บาทต่อหุ้น โดยระบุว่า STP มีศักยภาพการเติบโตสูงจากการเป็นผู้ผลิตงานพิมพ์และบรรจุภัณฑ์คุณภาพพรีเมียม โดยการเติบโตของการซื้อขายรูปแบบ e-commerce และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์เติบโต ช่วยเพิ่มโอกาสให้ STP ในฐานะผู้รับพิมพ์บรรจุภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ให้บริการตั้งแต่พัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ ครอบคลุมไปจนถึงบริการหลังการพิมพ์ต่างๆ เช่น การเคลือบยูวี การปั้มฟอยล์ทอง การปั๊มฟอยล์เงิน การประกบลูกฟูก และการไดคัท STP พร้อมเข้าระดมทุนในตลาด mai เพื่อนำเงินไปสร้างอาคารโรงงานและขยายกำลังการผลิต ผลักดันกำไรปี 2565 – 2567 เติบโตเฉลี่ยปีละ 9.4%
นอกจากนี้ STP เป็นผู้ผลิตและให้บริการรับพิมพ์กระดาษและสิ่งพิมพ์ มีผลิตภัณฑ์หลัก 2 ประเภท ได้แก่ กล่องกระดาษออฟเซ็ทแบบประกบฟูกและแบบไม่ประกบฟูก โดยให้บริการตั้งแต่การพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ การจัดทำเพลทที่มีคุณภาพสูง การพิมพ์งานสูงสุดสี พร้อมกับมีบริการหลังพิมพ์ต่างๆ เช่น การเคลือบยูวี การปั๊มฟอยล์ทอง การปั๊มฟอยล์เงิน การประกบลูกฟูก การไดคัทระดมทุน IPO เพื่อสร้างโรงงานและเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบัน 49.7 ล้านแผ่นพิมพ์ต่อปี เป็น 74.55 ล้านแผ่นพิมพ์ต่อปี ภายในปี 2566 คิดเป็นกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 50% เงินส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ภายใต้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ช่วยหนุนกำไรปี 2565-67 เติบโตเฉลี่ยปีละ 9.4% และมีศักยภาพการจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่องตามนโยบายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
********