“คำโฆษณา หรือข้อความใดๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่องานโฆษณา” ใช้ไม่ได้ในตลาดหุ้น แม้จะเป็นคำที่ฟังดูแล้วหรูหรา สวยหรู แต่ท้ายที่สุดคือความเจ็บปวด เมื่อคุณหลงไปกับมัน ไม่เชื่อลองย้อนกลับไปดูหุ้น “เคอรี่” หรือ KEX – OR – TIDLOR หรืออีกหลายราย ที่นักลงทุนหลงไปกับคำโฆษณา หรือ การยัดเยียดความเข้าใจว่า ภูมิใจ ที่ได้ลงทุน หรือถือหุ้นในบริษัทนั้นๆ เห็นแล้วน้ำตาจะใหล เพราะเงินที่ไปกองในหุ้นเหล่านั้น ไม่รู้ว่าจะสร้างผลตอบแทนกลับมาได้เมื่อไหร่ จนต้องย้อนกลับไปดูว่า แท้จริงแล้ว เราลงทุนในตลาดหุ้นเพื่ออะไร หน้าตา ที่ได้ถือหุ้นดังๆ แต่ตังค์ไม่ได้ หรือ เลือกลงทุนหุ้น “เพื่อเงิน”

“เจาะหุ้นเด่น” วันนี้ เราเลือกหุ้นใหม่ใสกิ๊ก เป็นหุ้น IPO จะเข้าเทรดวันแรก คือ 20 กรกฎาคม 2564 นั่นคือ “บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง” หรือตัวย่อ SNNP ที่ผ่านมาทั้งนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน สนใจจองซื้อหุ้นตัวนี้กันอย่างคึกคัก พร้อมๆ กับเป้าหมายมุ่งสู่ผู้นำตลาดในภูมิภาคอาเซียน ผลักดันยอดขายแตะ 8,000 ล้านบาท ภายในปี 69 อ่านให้จบ เพราะนี้คือ “ความรู้” เพื่อการลงทุน

“วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ SNNP ประกาศความพร้อมนำ 240 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 20 ก.ค.64 ราคา IPO 9.20 บาท ต่อหุ้น มีนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจเข้ามาจองซื้อเป็นจำนวนมากกว่า 17 เท่า ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน ภายใต้ความคาดหวัง มุ่งสร้างการเติบโตเป็น 2 เท่า หรือมีรายได้ 8,000 ล้านบาทภายในปี 69 ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน ผ่านบริษัทย่อยในทั้ง กัมพูชา และเวียดนาม ปัจจุบันส่งออกไปยัง 5 ทวีป รวมกว่า 35 ประเทศทั่วโลก

SNNP คือใคร มีศักยภาพมากแค่ไหน
“บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง” หรือ SNNP เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจเครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย บริษัทจัดตั้งมายาวนานกว่า 30 ปี โดยครอบครัว “ไกรพิสิทธิ์กุล” ครอบคลุมตั้งแต่ การคิดค้นพัฒนา ผลิต ทำการตลาด และจัดจำหน่าย ผู้บริหารมีประสบการณ์ในธุรกิจมายาวนาน มีสินค้าหลากหลายประเภท ยอดขายกระจายตัวในสินค้าหลายแบรนด์ ไม่ได้พึ่งพาสินค้าใดสินค้าหนึ่งเป็นหลัก โดยมีแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่ง รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ตัวอย่าง เช่น “เบนโตะ” เป็นขนมขบเคี้ยวประเภทปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้น และปลาเส้น

ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เบนโตะ มีส่วนแบ่งตลาดถึง 68% อีกแบรนด์ คือ “เจเล่” มีส่วนแบ่งตลาด 66.3% เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มเยลลี่ พร้อมดื่ม และเยลลี่คาราจีแนน ส่วน “โลตัส” มีส่วนแบ่งตลาด 24.5% เป็นอันดับสองในกลุ่มสินค้าขนมปังแบบแท่ง ทั้ง 3 แบรนด์ ถือว่า โดดเด่นมาก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในกลุ่มเครื่องดื่ม เช่น Asian Drink อาทิ น้ำเฉาก๊วยผสมเนื้อเฉาก๊วย น้ำมะพร้าวผสมวุ้นมะพร้าว ภายใต้ตราสินค้า “เมจิกฟาร์มเฟรช” และน้ำดื่มผสมวิตามิน เจเล่ อควาวิตซ์วิตามิน และมิเนอรัลวอเตอร์

สัดส่วนรายได้ในปี 2563 มียอดขายจากสินค้าขนมขบเคี้ยว 57% และเครื่องดื่ม 43% หากแบ่งตามประเภทสินค้า เบนโตะ 35% เจเล่ 33% โลตัส ช๊อคกี้เบเกอรี่ เฮาส์ 22% และอื่นๆ 10% ยอดขายในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 78% และยอดขายต่างประเทศ 22% โดยตลาดต่างประเทศหลักๆ คือ เวียดนาม มีสัดส่วน 33% กัมพูชา 22% ลาวและเมียนมา 19% และประเทศอื่นๆ 26% เช่น จีน เกาหลีใต้ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์เป็นต้น

ทำให้มองเห็นการขยายตลาดในกลุ่ม CLMV ยังมีโอกาสเติบโตสูง จากพฤติกรรมการบริโภคคล้ายกับคนไทย จึงได้รับการยอมรับจากตลาดท้องถิ่น รวมทั้งการขยายตัวของชุมชนเมือง (Urbanization) และการที่ช่องทางขายทาง Modern Trade ใน CLMV ยังมีสัดส่วนไม่ถึง 15% จึงทำให้ยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมาก

ช่องทางการตลาดแข็งแกร่ง
SNNP มีวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการตลาดที่แข็งแรง ภายใต้ บริษัท สิริโปร จำกัด หรือ SIRIPRO เดิมทีถือหุ้นในสัดส่วน 70% ก่อนจะออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับ บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯใน SIRIPRO ลดลงเหลือ 50.01% ของทุนจดทะเบียน และชำระแล้ว ที่นี่ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่าย และเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ผ่านร้านค้าประเภทต่างๆ ทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านขายส่ง และร้านค้าปลีกย่อยที่มีอยู่ทั่วประเทศ และยังให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าให้บริษัทฯ และสินค้าอื่นๆ ภายนอกบริษัทด้วย เช่น บมจ. คาร์มาร์ท (ยาสีฟัน ตรา Skin Lab+) บริษัท เทราฟู๊ดแอนด์เบเวอร์เรจ จำกัด (เครื่องดื่มขมิ้นชันสกัดผสมเลมอน ตรา คิวมินซี) บริษัท แฮนดี เฮ้ลท์ จำกัด (แฮนดีเฮิร์บ ถังเช่าสกัด แฮนดีเฮิร์บ โสมสกัด) เป็นต้น

เป็นการปิดช่องโหว่ของการทำการตลาดของบริษัท ในช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม ทำให้มีความหลากหลายทางธุรกิจ ลดการพึ่งพิงผู้จัดจำหน่ายภายนอก เพิ่มโอกาสในการออกสินค้าใหม่ผ่านการทดลองสินค้าในช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม ช่วยเสริมอัตรากำไรขั้นต้นจากต้นทุนการวางสินค้าที่น้อยกว่าการขายในช่องทางการค้าสมัยใหม่ และเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในปัจจุบันและในอนาคต ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย ผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก คือ โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) และช่องทางการค้าดั้งเดิม (Traditional Trade) โดยในช่องทางดังกล่าว สามารถแบ่งช่องทางการจัดจำหน่ายเป็น 3 ช่องทางย่อยได้แก่

1. ช่องการจัดจำหน่ายผ่านทางผู้จัดจำหน่าย (Distributor)
2. ช่องทางจัดจำหน่ายช่องทางการค้าดั้งเดิมแบบค้าส่ง (Wholesale Traditional Trade) จัดจำหน่ายสินค้าไป      ยังร้านค้าดั้งเดิม แบบค้าส่งภายในประเทศ และ
3. ช่องทางการจัดจำหน่ายช่องทางการค้าดั้งเดิมแบบค้าปลีก (Retail Traditional Trade) จัดจำหน่ายสินค้าไป      ยังร้านค้าดั้งเดิมแบบค้าปลีกภายในประเทศ

การได้ “บุญรอด เทรดดิ้ง” เข้ามา สามารถช่วยเพิ่มช่องการจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมการแข่งขันในอนาคต ซึ่งช่องทางการค้าดั้งเดิมหรือ Traditional trade ถือว่ามีอัตรากำไรสูงกว่าทาง Modern Trade และมีโอกาสได้รับผลบวกจากโครงการภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายผ่านทาง Traditional trade จาก 48% ในปี 2563 เป็น 55% ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

ตลาด CLMV เส้นทางสร้างฝัน
จะเป็นจริง หรือฝัน ต้องตามมาดูกัน หลังจาการเติบโตใน CLMV ทำให้บริษัทมีการจัดตั้งบริษัทย่อยในกัมพูชา เพื่อผลิต และจำหน่ายทั้งเครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยว นั่นคือ S.C Food Products Co., Ltd. STVV Development Co., Ltd. และ S.C Food Trading Co., Ltd. โดยโรงงานได้เริ่มผลิตเมื่อปีกลางปี 62 การจัดจำหน่ายทั้งในช่องทาง Modern Trade และ Traditional Trade มีลงทุน 20.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งโรงงานเวียดนาม ชื่อ S.T. Food Marketing Co., Ltd. ผลิตสินค้า เบนโตะ เจเล่ และ โลตัส แบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟส 1 โรงงานผลิตสินค้าแบรนด์โลตัส และเจเล่ มีกำลังการผลิตรวม 19.3 กิโลตัน/ปี คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566

ส่วนเฟส 2 โรงงานผลิตเบนโตะ กำลังการผลิต 1 กิโลตัน/ปี จะสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ในปี 2567 การมีโรงงานในเวียดนาม ข้อดีคือ ได้ประโยชน์จาก มีแหล่งวัตถุดิบที่ราคาถูกกว่าประเทศไทย เช่น ปลาซูริมิ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของการผลิตเบนโตะ ที่นี่จะมีต้นทุนต่ำกว่าไทย 12.7% และแป้งสาลี ซึ่งใช้ผลิตโลตัส มีต้นทุนต่ำกว่าไทย 12.3% ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ของเจเล่ ที่นี่ก็ต่ำกว่าไทย 2% การใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ ทำให้ที่นี่มีประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่า ใช้แรงงานน้อยกว่า และที่สำคัญ มีโอกาสในการขายไปยังประเทศจีน เนื่องจากเวียดนาม มีพรมแดนติดกับทางตอนใต้ของจีน

ธุรกิจมีอนาคต และเติบโตได้จริงหรือ..?
การลงทุนในตลาดหุ้น ลงทุนในหุ้น ฟังแค่คำโฆษณาชวนเชื่อ ผ่านคำสวยหรูเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจธุรกิจ SNNP อยู่ในอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม ธุรกิจนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากปัจจัยขับเคลื่อน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง และรายได้ครัวเรือน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เติบโตไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของเมือง (Urbanization) และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ประชากร

คำถามนี้ในปัจจุบันเมื่อมีการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” อาจจะเป็นข้อสงสัย แต่จะบอกว่า ปัจจัยนี้ เป็นปัจจัยชั่วคราว หากทุกอย่างกลับมาปกติ กลุ่มคนทำงานในสำนักงาน มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังสถานการณ์ COVID-19 และการ lock-down เริ่มคลี่คลาย ความเคยชินกับวิถีใหม่ ความสะดวกสบาย ผ่านการซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มสำเร็จรูป เพื่อประหยัดเวลา บวกกับการเข้าถึงสื่อโฆษณา และการเปิดตัวผลิตภัณฑ์มากกว่าประชากรที่อยู่นอกเขตเมือง ในทุกสื่อ ทุกช่องทาง รวมถึงการใช้งานตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) จะช่วยหนุนมากขึ้น

ที่สำคัญ อัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงก็เพิ่มสูงขึ้น ที่ผ่านมาในปี 2561 แรงงานในประเทศไทย มีผู้หญิงในสัดส่วน 45.7% ทำให้ผู้หญิงมีเวลาในการทำงานบ้านน้อยลง ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหาร ที่สะดวกและรวดเร็ว เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง และขนมขบเคี้ยว รวมถึงเครื่องดื่มต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แม้กระทั่งในกลุ่มประเทศ CLMV ก็เช่นเดียวกัน แนวโน้มประชากรเหล่านี้ จะโยกย้ายเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มแบบสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสในการเติบโตของ SNNP ทั้งในตลาด CLMV และในประเทศไทย

ปัจจัยสนับสนุน
ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลก มีความต้องการเหมือนกัน นั่นคือ “ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ” ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน โดยรายงานกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยในปี 2559 ระบุว่าอัตราของผู้ป่วยโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 36% ในเวลาเพียง 5 ปี เมื่อเปรียบเทียบวัยผู้ใหญ่พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคอ้วนเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 32%

การตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วน ทำให้ภาครัฐได้กำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไข เช่น การกำหนดภาษีน้ำตาลและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต บวกกับหน่วยงานด้านสุขภาพ ก็รณรงค์เพื่อปลูกฝังวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี และเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้กระแสนี้เพิ่มขึ้น อาหารที่ผลิตจากธรรมชาติ อาหารแปรรูป และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย มีมากขึ้น

รายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น คือตัวช่วยให้มีกำลังซื้อผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิค ที่มีราคาสูงกว่าสินค้าปกติมากขึ้น แม้ว่าในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิคในประเทศไทยจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2554 – 2559 ตลาดอาหารออร์แกนิคมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 11.3% ต่อปี ในขณะที่ตลาดเครื่องดื่มออร์แกนิคมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 7.5% ต่อปี

SNNP โตได้จริงหรือไม่
ถ้าดูแนวโน้มการเติบโตรายผลิตภัณฑ์ จะพบว่าของว่างจากอาหารทะเล (Seafood Snack) ขยายตัวในช่วงปี 2561 – 2563 เป็นการเติบโตจากร้านสะดวกซื้อ ที่ได้ความนิยมในทุกกลุ่มผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นและคนวัยทำงาน ทำให้ขนาดตลาดของว่างจากอาหารทะเล และของว่างจากอาหารทะเลที่มีส่วนประกอบของปลาหมึกมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

ในปี 2563 ตลาดขนมขบเคี้ยวจากอาหารทะเล และของว่างจากอาหารทะเล ที่มีส่วนประกอบของปลาหมึกลดลง 16.9% และ 30.3% ตามลำดับ สาเหตุหลักเกิดจากผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ประมาณการณ์ตามรายงานของ ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (Frost & Sullivan) คาดการณ์ว่าในปี 2564 ยอดขายค้าปลีกในตลาดตลาดของว่างจากอาหารทะเล และของว่างจากอาหารทะเล ที่มีส่วนประกอบของปลาหมึก จะเติบโตเป็น 4,530 ล้านบาท และ 1,508 ล้านบาท ตามลำดับ และคาดการณ์ว่ายอดขายค้าปลีกในตลาดตลาดของว่างจากอาหารทะเล และของว่างจากอาหารทะเลที่มีส่วนประกอบของปลาหมึกจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) 6.5% และ 12.6% ตามลำดับ

ระหว่างปี 2563 ถึง 2568 ขนมปังกรอบ เวเฟอร์ และแครกเกอร์อัดแผ่นและอัดแท่ง เติบโตในช่วง 2561 – 2563 ประมาณ 3.5% ต่อปี โดยคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.0% ในช่วงปี 2563 – 2568 เนื่องจากจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคเด็กและวัยรุ่น

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทเยลลี่พร้อมดื่ม มีการการเติบโตในอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2561 – 2563 ในปี 2561 มูลค่าตลาดของเยลลี่พร้อมดื่มอยู่ที่ 2,457 ล้านบาท และเติบโตต่อเนื่อง 3.6% เป็น 2,545 ล้านบาทในปี 2562 หนุนโดยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำและตอบสนองต่อความต้องการต่อผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่ปี 2563 กลับลดลง 11.3% เป็น 2,258 ล้านบาท ผลจากการระบาดของ “โควิด-19” แต่จากการประมาณการณ์ตามรายงานของฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (Frost & Sullivan) คาดว่ายอดขายค้าปลีกในตลาดเยลลี่พร้อมดื่มจะกลับมาเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) 9.6% ระหว่างปี 2563 ถึง 2568

ส่วนเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมอย่างเฉาก๊วย น้ำมะพร้าว และพืชอื่นๆ อย่างเช่นน้ำอ้อย น้ำลำไย น้ำใบเตย โดยอาจมีส่วนประกอบของเมล็ดเจีย เม็ดแมงลัก หรือวุ้นมะพร้าว รวมทั้งเครื่องดื่มประเภทที่มีปริมาณน้ำผลไม้สูงกว่า 25.0% แต่ไม่ถึง 100.0% ด้วยภาษีตามปริมาณน้ำตาลสูงขึ้น และการระมัดระวังสุขภาพของผู้บริโภค คาดการณ์ว่ากลุ่มเครื่องดื่ม Asian Drink ในประเทศไทยจะเติบโตต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามรายงานของฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (Frost & Sullivan) คาดการณ์ยอดขายค้าปลีกในตลาด Asian drink จะมีอัตราการเติบโต 5.5% ต่อปี ระหว่างปี 2563 ถึง 2568

หลัง IPO จับตาลุยธุรกิจ “กัญชง”
การขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ของ SNNP จะตอบโจทย์นี้ได้ดี เพราะเงินระดมทุนที่ได้ จะช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมาก เพราะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) แม้จะมีแนวโน้มลดลง จนล่าสุดสิ้นปี 2563 มาอยู่ที่ระดับ 7.6 เท่า หลังได้เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้ จะช่วยให้อัตราส่วนอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทฯ ลดลงต่ำกว่า 0.5 เท่า และมีสถานะเป็น Net cash คาดช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายปีละประมาณ 80-100 ล้านบาท

นอกจากนี้ เชื่อว่า อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังบริษัทมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหารต่อยอดขายหรือ SG&A to Sales ที่คาดว่าจะปรับลดลง สวนทางกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่มากกว่า 60% เป็นต้นทุนคงที่หรือ Fixed cost บวกกับภาระดอกเบี้ยจ่ายที่คาดว่าจะลดลงคาดว่า จะช่วยให้อัตรากำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 2-5% เป็น 9-11% ทำได้หรือไม่ ต้องมาคอยดูกันในครึ่งปีหลัง

ที่สำคัญคือบริษัท อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ในการออกสินค้าที่มีส่วนผสมของ “กัญชง” โดยได้พัฒนาสูตรสินค้า และเตรียมบรรจุภัณฑ์ไว้แล้ว ถือเป็นอัพไซด์ ในครึ่งปีหลัง โดยบริษัทได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์กัญชงสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกับคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564

นี่คือข้อมูลพื้นฐาน เพื่อประกอบการลงทุนในหุ้น SNNP ที่นำมาฝากนักลงทุนทุกท่าน หวังจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ และในโอกาสต่อไป จะนำมุมคิดจากนักวิเคราะห์ และราคาพื้นฐานมาให้อ่านกัน

ธณพงศ์ มีทอง
Makemoney FM97 , Smart Money FM102
https://www.makemoneyinsight.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
– ณัฐสินี ระเบียบนาวีนุรักษ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไออาร์ เน็ตเวิร์ค จำกัด

– ไฟลิ่งจาก ก.ล.ต.
– บทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ เมย์แบงก์กิมเอ็ง-คันทรี่กรุ๊ป-กรุงศรีฯ-เคทีบีเอสที

- Advertisement -