บล.เคจีไอ (ประเทศไทย):

Charoen Pokphand Foods (CPF.BK/CPF TB)*

ประมาณการ 2Q65F: กำไรจะดีขึ้นอย่างมาก QoQ

Event

ประมาณการ 2Q65 และปรับประมาณการปีนี้และปีหน้า

Impact 

กำไร ใน 2Q65F จะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ QoQ

เราคาดว่ากำไรปกติของ CPF ใน 2Q65F จะอยู่ที่ 3.85 พันล้านบาท (-3% YoY, +128% QoQ) และเมื่อรวมกำไรพิเศษ 500 ล้านบาท จากการปรับมูลค่าเหมาะสมของบริษัทลูก จะทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 4.25 พันล้านบาท (-10% YoY, +48% QoQ) โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก QoQ เป็นเพราะราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น 5% เป็น 1.46 แสนล้านบาท และทำให้ GPM เพิ่มขึ้น 90bps เป็น 13.7% นอกจากนี้ เรายังคาดว่าราคาหมูที่แพงขึ้นในประเทศไทยและเวียดนามจะทำให้บริษัทมีกำไร 1.4 พันล้านบาท จากการปรับมูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ชีวภาพ เพิ่มขึ้นจากที่บันทึกกำไรดังกล่าว 1.1 พันล้านบาท ใน 1Q65 ในขณะเดียวกัน เราคาดว่า JVs และบริษัทในเครือจะส่งผลกำไรมาที่ CPF 1.1 พันล้านบาท จากที่ส่งผลขาดทุน 336 ล้านบาทใน 1Q65 เพราะคาดว่า CTI (ธุรกิจฟาร์มหมูและอาหารสัตว์ในประเทศจีน) จะมีผลขาดทุนลดลงเนื่องจากราคาหมูเพิ่มขึ้น

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เราคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 13% YoY เนื่องจากอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ และราคาขายสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เราคาดว่า GPM จะลดลง 270bps เนื่องจากราคาหมูในประเทศเวียดนามลดลง 20% จากฐานที่สูงในปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน เราคาดว่า margin ในประเทศอื่นๆ (นอกเหนือจากประเทศไทย) จะลดลง YoY เนื่องจากปรับราคาตามต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นได้ช้า ทั้งนี้ เราคาดว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อโลกจะดันให้สัดส่วน SG&A ต่อยอดขายเพิ่มขึ้น 90bps YoY เป็น 9.6%

ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปี 2565F ขึ้นอีก 39% และปี 2566F ขึ้นอีก 2%

เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปีนี้ขึ้นอีก 39% เป็น 1.51 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก i) เราปรับเพิ่มส่วน แบ่งกำไรจาก JVs และบริษัทในเครือขึ้นจากเดิม 91% มาอยู่ที่ 6.1 พันล้านบาท โดยสาเหตุสำคัญมาจากผลการดำเนินงานของ CTI ดีขึ้นจากการที่เราปรับเพิ่มสมมติฐานราคาหมูในประเทศจีนขึ้น 23% เป็น CNY18.5/กก. และ ii) เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพขึ้นอีก 64% เป็น 2.3 พันล้านบาท เนื่องจากคาดว่าราคาหมูในประเทศไทยจะสูงขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับกำไรพิเศษอีก 1.6 พันล้านบาท ทำให้เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ขึ้นอีก 54% เป็น 1.67 หมื่นล้านบาท (+28% YoY) นอกจากนี้ เรายังปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติ และกำไรสุทธิปี 2565F เป็น 1.67 หมื่นล้านบาท เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 5% มาอยู่ที่ 1.16 หมื่นล้านบาท จะหักล้างไปกับผลขาดทุนจากสินทรัพย์ ชีวภาพที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 300% เป็น 1.2 พันล้านบาท

Valuation & action

เรายังคงคำแนะนำซื้อ CPF และขยับไปใช้ราคาเป้าหมาย SoTP ปี 2566F ที่ 33.75 บาท (ประเมินมูลค่าธุรกิจการเกษตรที่ 11.75 บาท และธุรกิจค้าปลีกที่ 22.00 บาท) จากเดิมที่ 30.50 บาท

Risks

ต้นทุนอาหารสัตว์แพง, เศรษฐกิจโลกถดถอย และความผันผวนของราคาเนื้อสัตว์

ราคาหมูเพิ่มขึ้นใน 2Q65

ราคาหมูในประเทศไทย เวียดนาม และจีน เพิ่มขึ้นใน 2Q65 โดยราคาหมูในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 3% QoQ เป็น 98.10 บาท/กก. (+23% YTD เป็น 102 บาท/กก.) เนื่องจากอุปสงค์เพิ่มขึ้น และอุปทานขาดแคลนอย่างต่อเนื่องจากการะบาดของโรค African Swine Fever (ASF) ส่วนราคาหมูในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้น 5% QoQ เป็น VND55,300/กก. (+23% YTD เป็น VND55,450/กก.) เนื่องจากอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ราคาหมูในประเทศจีนเพิ่มขึ้น 14% QoQ เป็น CNY15.1/กก. (+43% YTD เป็น CNY23.6/กก.) เนื่องจากอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง และภาวะอุปทานล้นตลาดเบาบางลง นอกจากนี้ การตุนสต๊อกเนื้อหมูโดยรัฐบาลจีนยังมีส่วนช่วยให้ราคาหมูพุ่งสูงขึ้นในเดือนมิถุนายนด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากราคาหมูดีเกินคาด เราจึงปรับเพิ่มสมมติฐานราคาหมูในประเทศไทยปีนี้ขึ้นอีก 3.2% เป็น 98.00 บาท/กก. และปรับเพิ่มสมมติฐานราคาหมูในประเทศจีนในปีนี้ขึ้นอีก 23% เป็น CNY18.5/กก. และปี 2566F ขึ้นอีก 5% เป็น CNY21/กก.

อุปสงค์ในยุโรปยังแข็งแกร่ง แต่ในอเมริกายังน่าเป็นห่วง

เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในยุโรป และอเมริกาส่งผลต่อแนวโน้มกิจการของ CPF ในทั้งสองทวีปแตกต่างกัน โดยในยุโรป (ประมาณ 10-18% ของยอดขาย) อุปสงค์ยังแข็งแกร่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการส่งออกอาหารจากยูเครนสะดุด ทำให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกอาหารจากแหล่งอื่นมาทดแทน ในขณะเดียวกัน อุปสงค์ในทวีปอเมริกา (สหรัฐคิดเป็นประมาณ 3-4% ของยอดขาย และ Hylife ในแคนาดาเป็นส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วม) ยังน่าเป็นห่วง เพราะเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูง นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคอื่นๆ อีก อย่างเช่นราคาน้ำมัน และ ขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มจะยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย

- Advertisement -