บล.เอเซีย พลัส:

เดินผ่าขวากหนามในช่วงเวลายากลำบาก

งวด 2Q65 กำไรสุทธิ 9,938 ล้านบาท ลดลง 42%YoY ดีกว่าคาดเล็กน้อย ทุกธุรกิจหลักมีกำไรลดลงจากฐานสูงในปีก่อน โดยการประกาศล็อกดาวน์ของจีนเพื่อคุมเข้ม Covid กระทบต่อ Demand ผลิตภัณฑ์ปิโครเคมีและ Packaging ทำให้การส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปสู่ราคาขายยังทำไม่ได้ทั้งหมด ส่วนธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ ก่อสร้างถูกกระทบจากภาคก่อสร้างในประเทศที่ชะลอตัว แต่ยังมีเงินปันผลรับจากธุรกิจยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นปัจจัยหนุนต่อกำไรในไตรมาสนี้ มุมมองกำไร 2H65 ดีกว่า 1H65 โดย 3Q65 จะเข้าสู่ช่วง High Season ของธุรกิจปิโตรเคมี ขณะที่แผนสร้างการเติบโตในระยะยาวของ SCC ยังดำเนินไปต่อเนื่อง และกำลังเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวดอกผลต้นปี 2566 จากการเปิดดำเนินงาน Cracker ใหม่ที่เวียดนาม พร้อมนำบริษัทลูกคือ SCGC เข้าจดทะเบียนใน SET ประเมินราคาเหมาะสม 460 บาท แนะนำ ซื้อ พร้อมคาดหวังเงินปันผลอีก 4.29%

วด 2Q65 กำไรสุทธิ 9,938 ล้านบาท ลดลง 42%YOY

งวด 2Q65 SCC กำไรสุทธิ 9,938 ล้านบาท (+12%QoQ,-42%YoY) ดีกว่าคาดเล็กน้อย ธุรกิจปิโตรเคมีทำกำไรได้ 3,704 ล้านบาท (+3%QoQ,-64%YoY) โดย Spread ของผลิตภัณฑ์หลักปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับ 2Q64 อีกทั้งราคา Naphtha ที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ทำให้เกิด Stock Loss 1,040 ล้านบาท สำหรับธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีกำไรสุทธิ 1,668 ล้านบาท (-28%QoQ, -32%YoY) เป็นผลกระทบโดยตรงจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น บวกกับมีการปรับปรุงรายการภาษีย้อนหลังของธุรกิจในลาวเกือบ 300 ล้านบาท ส่งผลให้มีอัตราภาษีจ่ายเพิ่มขึ้นมากธุรกิจ Packaging ภายใต้ SCGP ทำกำไรได้ 1,856 ล้านบาท (+12%QoQ, -18%YoY) แม้จะเห็นยอดขายเติบโตจากการทำงบการเงินรวมกับบริษัทหลายแห่งที่ซื้อกิจการมาในปีก่อน และราคาสินค้าโดยเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุน แต่อัตรากำไรโดยรวมยังคงถูกกดดันจากมาตราการล็อกดาวน์ในจีนที่กระทบต่อธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ทำให้การปรับราคาสินค้าตามต้นทุนยังทำไม่ได้เต็มที่ ธุรกิจที่เป็นพระเอก คือ ธุรกิจลงทุน มีกำไรถึง 4,306 ล้านบาท (+141%QoQ +61%YoY) เพราะมีรายได้เงินปันผลรับจากบริษัทที่ SCC ถือหุ้นต่ำกว่า 20% เข้ามากว่า 3,138 ล้านบาท หลักๆ มาจากธุรกิจยานยนต์ อาทิ บริษัท TOYOTA ที่ SCC ถือหุ้น 10% สำหรับผลประกอบการ 1H65 SCC ทำกำไรได้รวม 18,781 ล้านบาท ลดลง 41%YoY และประกาศจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีแรกอัตรา 6 บาท/หุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD 10 ส.ค 2565

ธุรกิจปิโตรเคมี

งวด 2Q65 ธุรกิจปิโตรเคมี กำไร 3,704 ล้านบาท (+3%QoQ,-64%YoY) มีปริมาณการขายเม็ดพลาสติก Polyolefin (PE+PP) รวม 4.26 แสนตัน ลดลง 6.6 หมื่นตัน เทียบกับ 2Q64 ที่มีปริมาณการขาย 4.92 แสนตัน  เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนในส่วนของโรงงานขั้นปลาย และโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้น (ROC,MOC) มีการลดกำลังการผลิตลงเล็กน้อยตามสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ส่วนเม็ดพลาสติก PVC มีปริมาณการขาย 1.96 แสนตัน ลดลง 7 พันตัน เทียบกับ 2Q64 เพราะมีการเก็บสต็อกเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงาน VCM ใน 3Q65 ไตรมาสนี้ธุรกิจปิโตรเคมีมีผลขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 1,040 ล้านบาท เกิดจากการลดลงของราคา Naphtha ในเดือน มิ.ย เทียบกับเดือน มี.ค กว่า 181 USD/ton แต่มีกำไรพิเศษจากการขายที่ดินที่ไม่ได้ใช้งานของบริษัท TPC ให้กับบริษัทในเครือฯ จำนวน 978 ล้านบาท โดยกำไรพิเศษจากการขายที่ดินดังกล่าว จะไม่ได้ถูกแสดงในงบการเงินรวมของ SCC เพราะถือว่าเป็นรายการระหว่างกันที่เกิดในกลุ่มบริษัท SCC

งวด 2Q65 Spread ผลิตภัณฑ์หลักสาย Olefin คือ HDPE-Naphtha ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 15 USD/ton จากงวด 1Q65 มาอยู่ที่ 468 USD/ton ส่วน Spread PP-Naphtha ปรับลง 34 USD/ton มาอยู่ที่ 445 USD/ton เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้น และอุปสงค์ภายในประเทศจีนชะลอตัว แต่หากเปรียบเทียบกับงวด 2Q64 จะเห็น Spread ปรับตัวลดลงค่อนข้างมีนัยสำคัญ โดยช่วง 2Q64 Spread HDPE-Naphtha อยู่ที่ 585 USD/ton และ PP-Naphtha อยู่ที่ 700 USD/ton เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากโควิด ประกอบกับมีภาวะอุปทานขาดแคลนจากโรงงาน Olefin ในสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุฤดูหนาวช่วงต้นปี 2564 ส่งผลให้การผลิต Polyolefin (PO) และ PVC ในสหรัฐหายไป 20% และ 19% ตามลำดับ ขณะที่ปิโตรเคมี สาย PVC งวด 2Q65 มี Spread PVC-EDC/C2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 153 USD/ton จากงวด 1Q65 อยู่ที่ 530 USD/ton โดยได้แรงหนุนจากราคา EDC ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ลดลงแรง จากภาวะอุปทานล้นตลาด  บวกกับกิจกรรมการก่อสร้างในจีนที่เพิ่มขึ้นหลังผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวและเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตร และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ส่งผลให้ราคา PVC ไม่ได้ปรับตัวลงตามราคาวัตถุดิบ

ส่วนแบ่งกำไรตามส่วนได้เสียไตรมาสนี้รับเข้ามา 1,440 ล้านบาท (-7.5%QoQ, -63%YoY) องค์ประกอบมาจากหลายบริษัทร่วม ซึ่งมีทั้งกำไรดีขึ้นและกำไรแย่ลง บริษัทร่วมที่มีกำไรดีขึ้นมาจากสายธุรกิจ C4 ทั้งบริษัท TMMA และ BST ที่ได้รับผลบวกจากการปิดซ่อมบำรุงของ Cracker หลายแห่ง ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนในฝั่ง Supply ส่งผลให้ Spread MMA-Naphtha และ Butadiene-Naphtha เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม บริษัท Chandra Asri ซึ่งมีธุรกิจปิโตรเคมีต้นน้ำได้รับผลกระทบเช่นเดียว โรงงานปิโตรเคมีต้นน้ำของ SCC  ที่ต้องลดกำลังการผลิตลงเนื่อง จากสภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย รวมถึงบริษัทร่วมอื่นๆ ที่มียอดขายอิงกับอุปสงค์ของกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและมีต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

แนวโน้มกำไรธุรกิจปิโตรเคมีในงวด 3Q65 เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Polyolefin (PE,PP) จะปรับตัวดีขึ้นจาก 2Q65 จากการเข้าสู่ช่วงฤดูการสะสมสต็อกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อรองรับการผลิตสินค้าช่วงเทศกาลสิ้นปี อีกทั้งในไตรมาส 3 ถือเป็นฤดูเฮอริเคนในสหรัฐ สนับสนุนให้ Spread ปิโตรเคมีมักจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ของจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของโลก ได้ผ่านจุดเข้มงวดที่สุดไปแล้วใน 2Q65 จากนี้ไปคาดหวังจะเห็นการผ่อนคลายมาตรการลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น น่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจาก New Supply ของ Ethylene ที่จะเข้ามาในปีนี้ 10 ล้านตันได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่ม PVC คาดว่าจะมีกำไรลดลงจาก 2Q65 เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ถูกใช้ในงานก่อสร้าง จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในอินเดียและประเทศในกลุ่มอาเซียน

ธุรกิจปูนซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (Cement Building Material : CBM)

งวด 2Q65 มีกำไรสุทธิ 1,668 ล้านบาท (-28%QoQ, -32%YoY) กำไรปรับตัวลดลง แม้ว่า SCC จะสามารถสร้างยอดขายได้เติบโตถึง 13.9%YoY อยู่ที่ 52,881 ล้านบาท สวนทางกับตัวเลขปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศของไทยที่หดตัวลง 7%YoY และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเกือบทุกประเภทปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดย SCC มีการใช้หลากหลายกลยุทธ์ในการขาย อาทิ การปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การนำเสนอสินค้า ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงออกสู่ตลาด เช่น ปูนงานโครงสร้างสูตรไฮบริดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมีการปล่อยก๊าซ CO2 ในกระบวนการผลิตน้อยลง รวมถึงการนำเสนอโซลูชั่นต่างๆ ให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเรื่องต้นทุนพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยงวด 2Q65 SCC ปรับราคาขายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากงวด 1Q65 อีก 50 บาท/ตัน มาอยู่ที่ 1,850-1,950 บาท/ตัน ช่วยลดผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เพียงบางส่วน บวกกับไตรมาสนี้มีสัดส่วนการส่งออก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้ margin ต่ำกว่าการขายในประเทศที่เพิ่มขึ้น กดดันให้ Gross margin ของธุรกิจ CBM ลดลงเหลือเพียง 21.13% เทียบกับ 22.65% ใน 1Q65 และ 25.23% ใน 2Q64 นอกจากนี้ธุรกิจ CBM ยังมีการ Adjust รายการภาษีมูลค่าเพิ่มรอเรียกคืนจากธุรกิจใน สปป.ลาว ที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงของเงินกีบ ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายภาษีเพิ่มเติมอีกราว 300 ล้านบาท ทำให้ธุรกิจ CBM มีอัตราภาษี (Effective tax rate) สูงถึง 49.6%

แนวโน้มธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างช่วง 3Q65 จะอ่อนตัวลงเทียบกับ 2Q65 ตามปัจจัยฤดูกาลที่เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณการขายปูนในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับ 3Q64 ที่เป็นฐานต่ำเนื่องจากคำสั่งภาครัฐให้ปิดไซต์งานก่อสร้างในเดือน ก.ค. 64 ทำให้ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ 3Q64 ติดลบหนักถึง 12%YoY บวกกับการตั้งสํารองด้อยค่าสินทรัพย์ในพม่าจำนวน 3,635 ล้านบาท เชื่อว่าจะเห็นการฟื้นตัว YoY อย่างมีนัยสำคัญ โดย SCC ยังคงมีความพยายามในการปรับราคาสินค้าขึ้นต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น พร้อมเดินหน้านโยบายด้าน ESG ที่ต้องการมุ่งสู่ Net Zero Emission ในปี 2593 โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทน (Alternative Fuel ) แทนการใช้ถ่านหิน เป็น 50% ภายในสิ้นปี 2565 จาก 1H65 ที่มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนอยู่ที่ 31.3% สำหรับธุรกิจปูนซีเมนต์ในประเทศ

ธุรกิจ Packaging

งวด 2Q65 กำไรสุทธิ 1,856 ล้านบาท (12%QoQ, -18%YoY) ผลประกอบการลดลงจากปีก่อน แม้จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 27%YoY อยู่ที่ 37,982 ล้านบาท หลังการควบรวมงบการเงินของ Duy Tan และ Intan Group เข้ามาในงวด 3Q64 และ Deltalab เข้ามาในงวด 4Q64 บวกกับการเติบโตแบบ Organic Growth ของฐานธุรกิจเดิมอีก 15%YoY ซึ่งส่วนใหญ่มาจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ภาวะอุปทานกระดาษบรรจุภัณฑ์ล้นตลาดใน ภูมิภาคอาเซียน หลังจีนประกาศมาตรการล็อกดาวน์เมืองเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ ที่เข้มข้นที่สุดในเดือน เม.ย. 65 ทำให้ผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนที่เคยส่งออกสินค้าไปประเทศจีน โดยเฉพาะเวียดนามที่ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปสู่ประเทศจีนได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดอาเซียน การส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานไปสู่ราคาขายจึงทำได้ไม่เต็มที่

ด้านความสามารถในการทำกำไรถูกกดดันจากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อกดาวน์ของจีน อีกทั้งการเริ่มเปิดดำเนินงานของโรงงานกระดาษบรรจุภัณฑ์ UPPC สายการผลิตที่ 3 ในฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 2 แสนตัน/ปี ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ยังใช้อัตรากำลังการผลิตต่ำกว่าจุดคุ้มทุน ส่วนธุรกิจ Fibrous Chain แม้จะทำกำไรได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์อาหารและกระดาษพิมพ์เขียน เป็นผลจากการกลับมาเปิดสถานศึกษา และการกลับเข้ามาทำงานในสำนักงาน นอกจากนี้ราคาเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นจาก 670 USD/ton ในงวด 1Q65 เป็น 813 USD/ton ในงวด 2Q65 เนื่องจากความกังวลเรื่องอุปทานตึงตัว แต่ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่เล็กกว่ากลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรมาก

แนวโน้มผลประกอบการธุรกิจ Packaging ใน 3Q65 เชื่อว่าจะเห็นการเติบโตได้ทั้ง QoQ และ YoY จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การใช้ชีวิตวิถีใหม่ การเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบของประเทศไทย การส่งออกที่เติบโตโดยได้อานิสงค์จากเงินบาทอ่อนค่า และมาตรการล็อกดาวน์ในจีนที่เริ่มผ่อนคลายลง จะส่งผลบวกต่อความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน และทําให้การส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานไปสู่ราคาขายทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยที่ SCGP ได้มีการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าสำหรับคำสั่งซื้อ Lot ใหม่ๆ ของลูกค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบสำคัญ คือ กระดาษรีไซเคิล น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ 3Q64 เพราะการเข้าไปเก็บเศษกระดาษทำได้ดีขึ้น จากการที่หลายประเทศมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับต้นทุนค่า Freight ที่แม้ยังอยู่ในระดับสูง แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายลงเช่นเดียวกัน โดยหากเปรียบเทียบกับ 3Q64 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยและเวียดนามมีการล็อกดาวน์ประเทศ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะยิ่งเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน

มุมมองบวกต่อธุรกิจในระยะยาวยังไม่เปลี่ยน แนะนํา ซื้อ

ผลประกอบการ 1H65 ที่ทำได้ 18,781 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47% ของประมาณการกำไรทั้งปีที่ฝ่ายวิจัยคาดไว้ที่ 39,677 ล้านบาท โดยมุมมองเชิงบวกต่อผลประกอบการครึ่งปีหลัง ที่คาดหวังปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศจีนที่จะส่งผลบวกต่อธุรกิจปิโตรเคมีและ Packaging รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่า ถือเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของ SCC ที่มีการตั้งราคาสินค้าส่วนใหญ่อิงกับสกุลดอลลาร์ โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลงทุก 1 บาท/USD จะส่งผลบวกต่อกำไรของ SCC ประมาณ 1,500 ล้านบาท ทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรปี 2565 ไว้เท่าเดิม และคาด SCC จะกลับมาทำกำไรเติบโต 13%YoY ในปี 2566 อยู่ที่ 44,793 ล้านบาท จากการเริ่มเปิดดำเนินการของ Longson Petrochemical Complex ในประเทศเวียดนาม ช่วง 1H66 ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ธุรกิจปิโตรเคมีอีก 55% ในจังหวะที่เศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวเต็มที่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด  โดยราคาหุ้นมักจะตอบสนองต่อผลประกอบการล่วงหน้า 6 เดือน – 1 ปี จึงมองเป็นจังหวะทยอยสะสม พร้อมรับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการ Spin-off ธุรกิจปิโตรเคมีเข้าจดทะเบียนใน SET ปีนี้ ประเมินราคาเหมาะสมวิธี DCF ได้ที่ 460 บาท เทียบเท่า PER 13.9 เท่า คาดเงินปันผลปีนี้ 16 บาท/หุ้น คิดเป็น Yield 4.29% แนะนำ ซื้อ

ประเด็นความเสี่ยง

1.ความผันผวนของราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ส่งผลกระทบต่อการทำกำไรของ SCC โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงทุก 10 เหรียญ/บาร์เรล จะทำให้ SCC มีผลขาดทุนจากสต็อกประมาณ 700-1,000 ล้านบาท

2.ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ SCC ที่มีสถานะเป็น Net Exporter โดยการแข็งค่าทุก 1 บาท/USD จะกระทบต่อกำไรของ SCC ให้ลดลงประมาณ 1,500 ล้านบาท

ที่มา: สายงานวิจัย บล. เอเชีย พลัส

SCC แนะนํา ซื้อ

ราคาปัจจุบัน (บาท) 373

ราคาเป้าหมาย (บาท) 460

Upside (%) 23.32

Dividend yield (%) 4.29

 

 

- Advertisement -