บล.เอเซีย พลัส:

กําไร 2Q65 เติบโตสูงดีกว่าคาด ชูปันผล 1H65 เด่น

กำไรสุทธิ 2Q65 เติบโตสูง 95.8%qoq มาอยู่ที่ 2.0 หมื่นล้านบาท ดีกว่าคาดจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด  โดยกำไรที่ดีขึ้นมาจากทั้งกำไรปกติที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายพิเศษที่ลดลงมีนัยฯ โดยกำไรปกติเพิ่มขึ้น 16.0%qoq มาอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท หนุนหลักจากราคาและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ส่วนรายการพิเศษหลักๆ มาจากบันทึกขาดทุน hedging เหลือเพียง 1.3 จาก 8.1 พันล้านบาท สำหรับแนวโน้มกำไรปกติ 3Q65 คาดจะทรงตัว QoQ และจะกลับมาเติบโตอีกครั้งใน 4Q65 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันยังยืนระดับสูงต่อเนื่องในกรอบ 100-110 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ประเมินมูลค่าพื้นฐานสิ้นปี 65 เท่ากับ 176 บาทต่อหุ้น ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 65, 66 และตั้งแต่ปี 67 ที่ 100, 90 และ 75 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล แนะนำซื้อ ชูปันผลงวด 1H65 โดดเด่น โดยประกาศจ่ายหุ้นละ 4.25 บาทต่อหุ้น คิดเป็น DivYield ครึ่งปีสูงถึง 2.6% มีโอกาสทบทวนปันผลจ่ายทั้งปี 2565 อีกครั้ง เพราะงวด 1H65 ถือว่าจ่ายสูงกว่าคาด

กําไรสุทธิ 2Q65 เติบโตเท่าตัว QOQ จากทั้ง NORM PROFIT ที่ดีขึ้น และขาดทุน HEDGING ที่ลดลงมีนัยฯ…ดีกว่าคาด

PTTEP รายงานกำไรสุทธิงวด 2Q65 เท่ากับ 2.0 หมื่นล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 95.8%qoq ดีกว่าคาด ซึ่งส่วนแตกต่างหลักมาจากต้นทุนต่อหน่วยที่ปรับตัวขึ้นน้อยกว่าคาด (คาดต้นทุนต่อหน่วยที่บริษัทให้มุมมองไว้ที่ 29.6 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยที่เกิดขึ้นจริงอยู่ที่ 28.8 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล) ขณะที่รายการอื่นๆใกล้เคียงคาด หลักๆ การเติบโตของกำไรสุทธิในงวด 2๐65 เป็นผลมาจากกำไรจากการดำเนินงานปกติที่เติบโตขึ้น และค่าใช้จ่ายพิเศษที่สุทธิแล้วลดลงจากงวดก่อนหน้ามีนัยฯ โดยในส่วนของกำไรจากการดำเนินงานปกติงวด 2Q65 พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.0%qoq มาอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท รับผลบวกจากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.3%qoq มาอยู่ที่ 55.6 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ตามราคาขายเฉลี่ยน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 15.7%qoq มา อยู่ที่ 105.5 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และราคาขายเฉลี่ยก๊าซฯที่เพิ่มขึ้น 0.5%qoq มาอยู่ที่ 6.1 เหรียญฯ ต่อล้านบีทียู  ซึ่งเป็นไปตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณขายเฉลี่ยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.9%qoq มาอยู่ที่ 4.65 แสนบาร์เรลต่อวัน หลักๆ มาจากการเริ่มรับรู้โครงการ G1 ตั้งแต่ 24 เม.ย. 65 เป็นต้นไป โดยมีปริมาณขายต่อวันอยู่ราว 200 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และโครงการที่มาเลเซีย และโอมานมีปริมาณขายพิ่มขึ้นราว 8.0 และ 10.0 พันบาร์เรลต่อวัน แต่อย่างไรก็ตามในงวด 2Q65 มีปัจจัยกดดันจากต้นทุนต่อหน่วยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 28.8 จาก 26.5 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ในงวดก่อนหน้า หลักๆ มาจาก OPEX ของโครงการ G1 ที่มีการใส่เงินลงทุนเพิ่มเพื่อให้ได้กำลังการผลิต 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ในช่วงต้นปี 2567 รวมถึงต้นทุน toyalty ที่คาดจะเพิ่มขึ้นตามราคาขายที่เพิ่มขึ้น และ Effective tax rate ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 48% จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันซึ่งทำให้ราคาก๊าซฯในอ่าวเพิ่มขึ้น (เดิมอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ราว 45%)

สำหรับในส่วนของรายการพิเศษนั้นพบว่าสุทธิแล้วในงวด 2Q65 เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษที่ลดลงมีนัยฯเหลือเพียง 1.2 พันล้านบาท จาก 8.3 พันล้านบาท ในงวดก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากบันทึกขาดทุนจาก hedging ลดลงเหลือ 1.3 พันล้านบาท จากงวดก่อนหน้าที่ บันทึกขาดทุนจาก hedging สูงถึง 8.1 พันล้านบาท (รวม realized และ unrealized) เนื่องจาก ณ สิ้นงวด 2Q65 ราคา forward brent อยู่ราว 102 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นราว 4 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จากราคาที่ mark to market ไป ณ สิ้นงวด 1Q65 ซึ่ง ณ สิ้นงวด 2Q65 PTTEP มี Oil price hedging outstanding อยู่ราว 7.7 ล้านบาร์เรล รวมถึงมีการบันทึกภาษีจ่ายเพิ่มจากผลกระทบของ Fx 309.1 ล้านบาท ลดลงจากงวดก่อนหน้า

โดยรวมแล้วกำไรสุทธิงวด 1H65 เท่ากับ 3.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 44.1% ของประมาณการทั้งปี 2565 ที่ประเมินไว้ เบื้องต้นฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการทั้งปี 2565 เช่นเดิม

คาดกําไรปกติ 3Q65 ทรงตัว QoQ และจะเห็นการเติบโตอีกครั้งใน 4Q65 ภายใต้ราคานํ้าดิบยังยืนสูงใกล้เคียง 1H65

ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ทิศทางกำไรจากการดำเนินงานปกติงวด 3Q65 จะทรงตัวใกล้เคียงกับงวด 2Q65 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ค่าเฉลี่ยราว 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล (เทียบกับค่าเฉลี่ยงวด 2Q65 ที่ 105-110 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล) จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความกังวลว่าจะอยู่ในภาวะถดถอย กดดันความต้องการใช้น้ำมันในภาพรวม แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในช่วง 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ยังถือว่าอยู่ ในระดับสูงรับอานิสงค์จากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยังอยู่ และการเก็บสต๊อกไว้ใช้ในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงในไตรมาส 4 ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่คาดจะอ่อนตัวดังกล่าวจะถูกชดเชยจากปริมาณขายที่คาดจะเพิ่มขึ้น 3.3%qoq มาอยู่ราว 4.81 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่วนราคาขายก๊าซฯ เฉลี่ยคาดจะทรงตัวที่ราว 6.1-6.2 เหรียญฯ ต่อล้านบีทียู เพราะมีเพียงการปรับราคาขายก๊าซฯ ในโครงการไทยและพม่าที่ปรับทุก 3 เดือน ซึ่งราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นลงในกรอบจำกัด จึงคาดการเปลี่ยนแปลงจะไม่มีนัยฯ มากนัก และหากพิจารณาแนวโน้มกำไรสุทธิงวด 3Q65 นั้น ในส่วนของรายการพิเศษนั้นหาก forward curve ของราคาน้ำมัน ณ สิ้นงวด 2Q65 อยู่ต่ำกว่า 102 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล จะพลิกกลับมาบันทึกเป็นกำไรจาก hedging แต่หากราคาปิดเหนือ 102 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล คาดจะยังคงต้องบันทึกเป็นขาดทุนจาก hedging ต่อ แต่คาดจะลดลงเมื่อเทียบกับที่เกิดขึ้นในช่วง 1H65

ทั้งนี้คาดแนวโน้มกำไรปกติ 4Q65 มีโอกาสขึ้นทำระดับสูงสุดของปี 2565 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบยังยืนได้อยู่ในกรอบ 100-110 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล โดยปัจจัยหนุนหลักจะมาจากปริมาณขายที่คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 4.9 แสนบาร์เรลต่อวัน จากการเพิ่มปริมาณขายของโครงการบงกช (G2) และคอนแทรกซ์ 4 รวมถึงคาดราคา ขายก๊าซฯจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 6.9 เหรียญฯ ต่อล้านบีทียู เนื่องจากจะมีการปรับราคาขายก๊าซฯ ตามสัญญาของโครงการที่มีการปรับทุก 6 เดือน ซึ่งได้แก่ บงกช, G1 และ G2 เป็นต้น และการปรับราคาขายของสัญญาที่มีการปรับราคาทุกปีในเดือน ต.ค. ซึ่งได้แก่ คอนแทรกซ์ 4 และ MTJDA เป็นต้น ซึ่งจะอิงราคาน้ำมันดิบย้อนหลังราว 12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันขาขึ้น ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยคาดจะทรงตัวในกรอบเดิมที่ราว 29-30 เหรียญฯ ต่อ บาร์เรล

แนวโน้มกำไรปี 2565 เติบโตสูงถึง 61.8%YOY รับอานิสงค์รัสเซีย-ยูเครน

ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานปกติปี 2565 จะเติบโตสูงถึง 61.8%yoy มาอยู่ที่ 7.0 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2566 คาดกำไรปกติจะปรับตัวลดลง 16.2%yoy มาอยู่ราว 5.9 หมื่นล้านบาท ตามสมมติฐานราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดูไบในปี 2565 กำหนดไว้ที่ 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล (ภายใต้ราคาน้ำมันเฉลี่ย 1H65 ที่ 101 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเฉลี่ย 2H65 ที่ 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล) และในปี 2566 อยู่ที่ 90 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ภายใต้สมมติฐานมติที่ประชุมกลุ่ม OPEC+ ไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่ม โดยการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ จะจบลงในปี 2565 และกำหนดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบระยะยาวตั้งแต่ปี 2567 ไว้ที่ 75 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ภายใต้หลักความระมัดระวังตามสถานการณ์ปกติที่เกิดขึ้น

ซึ่งหากพิจารณาราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดูไบในปัจจุบันที่อยู่ราว 110-115 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง 2H63 รับผลบวกหลักจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC รวมถึงสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลาย กระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้การดีดตัวของราคาน้ำมันที่มีนัยฯ เกิน 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ถูกขับเคลื่อนหลักมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดสงคราม ทำให้ตลาดน้ำมันเกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันจากการที่รัสเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และกว่า 60% ของกำลังการผลิตน้ำมันในรัสเซียถูกส่งออกไปยังกลุ่มทวีปยุโรปจะถูก sanction ซึ่งภายใต้สมมติฐานปัจจุบันกำหนดไว้ว่า ตามความร้อนแรงของราคาน้ำมันจะค่อยๆ ลดลงตามสถานการณ์ที่น่าจะคลี่คลายได้ในช่วง 2H65 ต่อจากนั้นสถานการณ์น้ำมันน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อน demand และ supply ที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน มีความยืดเยื้อหรือรุนแรงขึ้น ฝ่ายวิจัยก็พร้อมที่จะทบทวนสมมติฐานราคาน้ำมันอีกครั้ง

ESG

Environment : ปฏิบัติตามนโยบายความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด พร้อมนำมาตรฐานระบบการ จัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน

Social : มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในทุกระดับ บูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ในทุกกระบวนการตัดสินใจและการดำเนินธุรกิจ

Governance : พิจารณาและทบทวนการนำหลักปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 (“CG Code”) มาปรับใช้อย่างเหมาะสม ตามบริบทของธุรกิจของบริษัทฯ

PTTEP แนะนำ ซื้อ

ราคาปัจจุบัน (บาท) 162.50

ราคาเป้าหมาย (บาท) 176.00

Upside (%) 8.3

Dividend yield (%) 3.7

- Advertisement -