TGE เคาะราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 2.00 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อ 9-11 สิงหาคมนี้ คาดส่ง 600 ล้านหุ้น ลงกระดาน SET ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ระดมุทนรุกขยายธุรกิจ สู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน รับเมกะเทรนด์ Green Energy มุ่งขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมแสวงหาโอกาสต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โชว์ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/65 ทำรายได้และกำไรเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง

 

นายพงศ์นรินทร์ วนสุวรรณกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ บริษัท ท่าฉาง กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGE เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อนำมาสู่ผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน โดยเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงและแนวโน้มการเติบโตสูง ปัจจุบัน TGE เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งหมด 51.7 เมกกะวัตต ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TGE, TPG และ TBP จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 29.7 เมกกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 20.3  เมกกะวัตต์ ภายใต้ระบบ Feed-in Tariff (FiT) ตลอดอายุสัญญา และมีปริมาณไฟฟ้าขายให้แก่กลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม ภายใต้สัญญาแบบ Non Firm อีก 7.0  เมกกะวัตต์

นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้า TES SKW จังหวัดสระแก้ว, โรงไฟฟ้า TES RBR จังหวัดราชบุรี และโรงไฟฟ้า TES CPN จังหวัดชุมพร กำลังการผลิตติดตั้งรวม 22  เมกกะวัตต์ ซึ่งได้รับคัดเลือกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนแล้ว ขั้นตอนต่อไปการไฟฟ้าจะเปิดรับยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในปี 2567

ด้าน ดร.ศักดิ์ดา ศิริภัทรโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TGE กล่าวว่า บริษัทมีจุดเด่นและข้อได้เปรียบผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ารายอื่นๆ โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตติดตั้งโรงไฟฟ้าเป็นไม่น้อยกว่า 200  เมกกะวัตต์ ภายในปี 2575 เน้นลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ รับโอกาสเติบโตไปกับเมกะเทรนด์ Green Energy และนโยบายของภาครัฐที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานจากขยะ พร้อมหาโอกาสขยายธุรกิจและการลงทุนที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกใหม่ๆ รวมทั้งแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถต่อยอดการเติบโตในอนาคต

ขณะที่นางสาวพัชรา ทองประไพ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี และการเงิน TGE กล่าวว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมา แต่บริษัทยังรักษาการเติบโตแข็งแกร่ง โดยผลการดำเนินงานช่วงปี 2562-64 มีรายได้รวม 347.5 ล้านบาท 713.5 ล้านบาท และ 807.5 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 52.4% ต่อปี ปัจจัยมาจากการเปิด COD โรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างต่อเนื่อง ทำให้รับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้า รวมถึงรายได้จากการขายน้ำและไอน้ำ อีกทั้งในปี 2563 เริ่มมีรายได้จากการให้บริการกำจัดขยะจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดสระแก้ว ในส่วนของกำไรสุทธิปี 2562-64 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 94.3 ล้านบาท 166.9 ล้านบาท และ 202.1 ล้านบาท ตามลำดับ เป็นผลจากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การควบคุมบริหารจัดการต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่มีประสิทธิภาพ  และอัตราการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น

ส่วนผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/65 มีรายได้รวม 233.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 51.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ตามการเปิด COD ของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TBP จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำและไอน้ำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้า และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 23.3% ลดลงเล็กน้อยจาก 27.4% ในช่วงไตรมาส 1/64 จากผลกระทบการปิดระบบสายส่งเป็นครั้งคราวจากการปรับปรุงถนนของกรมทางหลวง ทำให้ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ

นางรัชดา เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ 2 บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 2.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของ TGE โดยมีจุดเด่นอยู่ที่รายได้และกระแสเงินสดที่มั่นคง มีอัตรากำไรที่แข็งแกร่ง โดย TGE มี EBITDA Margin เฉลี่ยที่สูงถึง 47% สูงกว่าผู้ประกอบการอื่นในธุรกิจเดียวกัน เนื่องจากมีข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันจากการมีวัตถุดิบที่เพียงพอและมั่นคง สามารถผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงและมีต้นทุนต่ำ อีกทั้ง TGE ยังมีแผนขยายสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงมีศักยภาพที่จะขยายกำลังการผลิตให้เติบโตและสร้างกำไรที่ดีได้ในอนาคต

สำหรับราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 2.00 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio​) เท่ากับ 15.3 เท่า เทียบกำไรสุทธิที่ 0.13 บาทต่อหุ้น คำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (1 เม.ย. 64 – 31 มี.ค. 65) ที่ 208.9 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทก่อนเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ที่ 1,600 ล้านหุ้น (Pre-IPO Dilution) และคิดเป็น P/E Ratio เท่ากับ 21.0 เท่า เทียบกับกำไรสุทธิที่ 0.095 บาทต่อหุ้น คำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ที่ 2,200 ล้านหุ้น (Pre-IPO Dilution)

ส่วน P/E Ratio ของบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 4 บริษัท ได้แก่ ACE, CV, ETC, TPCH มีค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 28.2 เท่า โดยอ้างอิงข้อมูลช่วงระยะเวลา 12 เดือนย้อนหลังระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 โดยราคาเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าโครงการใหม่ๆ ที่บริษัทจะเข้าร่วมประมูลเพิ่มเติมอีก 4 โครงการในช่วงปลายปีนี้ สำหรับหุ้น TGE จะเปิดให้จองซื้อในวันที่ 9-11 สิงหาคม 2565 คาดว่าจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนสิงหาคมนี้

“TGE มีทุนจดทะเบียน 1,100 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้ว 800 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,600 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 600 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 27.3% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ชำระเงินกู้ยืมและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ” นางรัชดา กล่าว

********

- Advertisement -