บล.พาย:
TFM: บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ “อยู่ในช่วงฟื้นตัว”
เราปรับคำแนะนำเป็น “ถือ” และประเมินมูลค่าพื้นฐานได้ใหม่ที่ 10.3 บาท (2XPBV’23E เดิมประเมินไว้ที่ 9.2 บาท) โดยมองว่าจุดต่ำสุดของผลประกอบการได้ผ่านไปแล้วในช่วง 1Q22 ที่มีกำไรเพียง 1 ลบ. ขณะที่แม้กำไรจะลดลงจากปีก่อนแต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจาก 1Q22 ได้บ้างแล้ว ขณะที่แนวโน้มในช่วง 2H22 คาดว่าจะดีขึ้นหลังจากแนวโน้มต้นทุนหลักเริ่มเห็นการปรับตัวลดลงไม่ว่าจะเป็นกากถั่วเหลืองและข้าวโพด โดยคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนในช่วง 4Q22 นี้ เนื่องจากในช่วง 3Q22 ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงอยู่
แนวโน้มเริ่มดีขึ้น
- หลังจาก TFM ได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 21 ทำให้ผลประกอบการในช่วง 1H22 ปรับตัวลดลงอย่างมากมีกำไรสุทธิเพียง 35 ลบ. ถ้าไม่รวมรายการพิเศษกำไรปกติ 21 ลบ. (-81%YoY)
- โดยช่วงที่ผ่านมา TFM เองมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการขายสินค้า โดยหันมาเน้นสินค้าที่มีกำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น และลดการขายสินค้าในกลุ่มที่มีกำไรต่ำลง ซึ่งทำให้รายได้ในช่วง 1H22 ปรับตัวลดลง 2%YoY อย่างไรก็ ตาม กำไรขั้นต้นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยมาอยู่ที่ 7.2% ใน 2Q22 จาก 7% ใน 1Q21
- สำหรับแนวโน้มในช่วง 2H22 คาดว่าผลประกอบการจะขยายตัวได้เมื่อเทียบกับ 1H22 โดยเฉพาะในส่วนของอาหารปลากระพงที่คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา รวมถึงต้นทุนที่เริ่มเห็นการลดลงบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นราคากากถั่วเหลืองหรือราคาปลาป่น แต่คาดว่าจะเห็นชัดในช่วง 4Q22 เพราะ 3Q22 ยังมีต้นทุนเดิมอยู่ ผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ทางภาครัฐจะปรับขึ้นนั้น ทาง TEM แจ้งว่ากระทบไม่มากนักเนื่องต้นทุนค่าแรงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1-1.5% ของต้นทุนขายเท่านั้น (ต้นทุนหลักคือวัตถุดิบที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80%)
ปรับกำไรปี 22 ลงจากเดิม 10%
- กำไรสุทธิที่ในช่วง 1H22 ที่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 16% ของกำไรทั้งปีที่เราคาดไว้ที่ 128 ลบ. และแม้ว่าแนวโน้มในช่วง 2H22 จะเห็นการฟื้นตัวได้ แต่ด้วยฐานที่ต่ำทำให้เราปรับประมาณกำไรสุทธิลงจากเดิม 10% มาอยู่ที่ 115 ลบ. (-45%YoY) โดยปรับลดรายได้ลง2% มาอยู่ที่ 4,940 ลบ. (+4%YoY) ส่วนปี 23 คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีคาดรายได้ที่ 5,696 ลบ. (+15%YoY) และกำไรสุทธิ 210 ลบ. (+82%YoY)
- สำหรับคำแนะนำการลงทุนด้วยจุดต่ำสุดที่ผ่านไปแล้ว ทำให้เราปรับคำแนะนำมาเป็น “ถือ” แทน โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมได้ใหม่ที่ 10.30 บาท (2XPBV’23E เปลี่ยนไปใช้เป็นปี 23 แทน 22 ที่เดิมอยู่ที่ 9.20 บาท)
- TFM ประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 1H22 จำนวน 0.05 บาท/หุ้น XD 16 ส.ค. และจ่ายเงินปันผล 31 ส.ค.
Revenue breakdown
โครงสร้างรายได้ของ TFM แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1.อาหารกุ้ง 2.อาหารปลา และ 3 อาหารสัตว์บก โดยรายได้ส่วนใหญ่เป็นการขายในประเทศกว่า 90% และมีรายได้จากบริษัทย่อย 2 แห่งในต่างประเทศ ได้แก่ TUKL ประเทศปากีสถานทำธุรกิจอาหารปลา และ AMG-TFM ประเทศอินโดนีเซียทำธุรกิจอาหารกุ้ง