บล.บัวหลวง:

Thaifoods Group (TFG TB/TFG.BK)

TFG – กำไรสูงกว่าคาดมีนัยสำคัญ; คาดกำไรไตรมาส 3/65 เติบโตแรงมาก

สูงกว่าที่เราคาดอย่างมาก

TFG รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/65 ที่ 1.24 พันล้านบาท เติบโต 188% YoY และ 100% QoQ หากไม่รวม 4 รายการพิเศษในไตรมาส 2/65 ได้แก่ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 116 ล้านบาท ขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพ 191 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ 17 ล้านบาท และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ทางการเงิน 41 ล้านบาท กําไรหลักในไตรมาสนี้อยู่ที่ 1.52 พันล้านบาท เติบโต 368% YoY และ 134% QoQ ทั้งกำไรสุทธิและกำไรหลักสูงกว่าที่เราคาด 49% และ 98% ตามลำดับ เนื่องจากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าคาด ยอดขายสูงกว่าที่เราคาด 8% จากยอดขายในทุกกลุ่มธุรกิจที่สูงกว่าคาด ซึ่งได้แก่ ธุรกิจหมู ไก่ และอาหารสัตว์ อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้อยู่ที่ 22.3% ซึ่งสูงกว่าที่เราคาดก่อนหน้าที่ 16.3% (และเพิ่มขึ้นอย่างมากถ้าเทียบกับ 11.5% ในไตรมาส 2/64 และ 15.3% ในไตรมาส 1/65) กำไรหลังหักภาษีสูงกว่าที่เราคาด 95%

ประเด็นสำคัญจากผลประกอบการ

กำไรหลักที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด YoY ได้รับปัจจัยหนุนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย อัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด และการล็อคต้นทุนวัตถุดิบในระดับไปจนถึงช่วงกลางปี 2565 ซึ่งกลบค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น ราคาตลาดสําหรับหมูมีชีวิตไทยเฉลี่ยในไตรมาส 2/65 อยู่ที่ 97.5 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 27% YoY และ 3% QoQ ในขณะที่ราคาไก่มีชีวิตไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 40.8 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 24% YoY และ 4% QoQ เรามองว่าอุปทานหมูที่ขาดแคลน เนื่องจากการระบาดของโรค ASF การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนพ.ค. ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การกลับมาเรียนของนักเรียนที่โรงเรียน และการเริ่มช่วงไฮซีซั่นของการส่งออกในไตรมาส 2/65 และผลกระทบบางส่วนจากการผลักภาระต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นไปยังราคาปศุสัตว์ ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่หนุนทั้งราคาขายในประเทศ ราคาส่งออกและดีมานด์การบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงค่าสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าไก่จากไทยให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/65

รายได้ธุรกิจไก่ของ TFG ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 5.79 พันล้านบาท เติบโต 43% YoY และ 15% QoQ โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาขายไก่ที่เพิ่มขึ้น (59.1 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 48% YoY และ 12% QoQ) ถึงแม้ว่าวอลุ่มขายไก่ลดลง ก็ตาม (7.42 หมื่นตัน ลดลง 8% YoY และ 15% QoQ) รายได้ธุรกิจหมูในไตรมาสนี้อยู่ที่ 3.02 พันล้านบาท เติบโต 31% YoY และ 16% QoQ โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาขายหมูที่เพิ่มขึ้น (100 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 33% YoY และ 12% QoQ) รายได้ธุรกิจอาหารสัตว์ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 1.95 พันล้านบาท เติบโต 11% YoY และ 15% QoQ (โดยหลักมาจากราคาขายอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น) ธุรกิจไก่พลิกกลับจากขาดทุนจากการดำเนินงานที่ 362 ล้านบาทในไตรมาส 2/64 ไปเป็นกำไรจากการดำเนินงานที่ 980 ล้านบาทในไตรมาส 2/65 แต่กําไรจากการดำเนินงานของธุรกิจหมูกลับปรับตัวลดลง 41% YoY ในขณะที่ขาดทุนจากการดำเนินงานของธุรกิจอาหารสัตว์อยู่ที่ 49 ล้านบาทในไตรมาสนี้ ซึ่งแสดงผลขาดทุนเพิ่มขึ้น 58% YoY และ 40% QoQ

แนวโน้ม

เราคาดกำไรหลักไตรมาส 3/65 ที่ 1.6 พันล้านบาท พลิกกลับเป็นกำไร YoY จากขาดทุนหลักที่ 213 ล้านบาทในไตรมาส 3/64 และเพิ่มขึ้น 5% QoQ เนื่องจากผลประกอบการที่ต่ำมากในไตรมาส 3/64 ราคาขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาหมูไทย (102 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 63% YoY และ 2% QoQ) และราคาไก่ไทย (64 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 54% YoY และ 8% QoQ) และวอลุ่มส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก QoQ ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากการเข้าช่วงไฮซีซั่นของการส่งออกในไตรมาส 3/65 ซึ่งจะกลบผลกระทบของต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น 5-6% QoQ เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นที่ 22-23% ในไตรมาส 3/65 เทียบกับ 4.1% ในไตรมาส 3/64 และถือว่าใกล้เคียงกับ 22.3% ในไตรมาส 2/65

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป

เนื่องจากกำาไรไตรมาส 2/65 ที่ออกมาสูงกว่าที่เราคาดก่อนหน้า เราจึงทำการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 เพิ่มขึ้นอีก 36% (ไปเป็น 4.35 พันล้านบาท) เพื่อสะท้อนยอดขายที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก 10% ไปเป็น 4.61 หมื่นล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 16.5% ไปเป็น 19.5% ราคาเป้าหมายที่อิงวิธี PER ของเราปรับเพิ่มขึ้นอีก 14% (ไปเป็น 10.58 บาท) ซึ่งอิงกับ PER ใหม่ที่ 15 เท่า

คําแนะนํา

เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” เนื่องจากผลประกอบการที่จะพลิกกลับจากขาดทุนหลักไปเป็นกำไรหลัก YoY สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และมูลค่าหุ้นที่ถูกมาก โดย PER ปี 2565 อยู่ที่เพียงแค่ 7.6 เท่า

 

- Advertisement -