บล.พาย:

CRC: บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น “ผลประกอบการพลิกเป็นกำไรใน 2Q22”

คงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 43.00 บาท กำไรสุทธิ 2Q22 อยู่ที่ 1.49 พันล้านบาท ฟื้นตัวจากขาดทุน YoY และโต +24%QoQ สูงกว่าที่เราคาด 6% และดีกว่าที่ Bloomberg consensus ประเมิน 9% กำไรที่ฟื้นตัวดีได้แรงหนุนจากอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) จากกลุ่มสินค้าแฟชั่นที่แข็งแกร่ง +56% YoY และรายได้ค่าเช่าและบริการที่โตขึ้น สืบเนื่องจากการมอบส่วนลดค่าเช่าที่น้อยลง ส่วน SSSG ในเดือน ก.ค. 2022 ยังแข็งแกร่งต่อเนื่องที่ระดับหลักสิบ ทั้งนี้ คาดกำไร 3Q22 จะพลิกฟื้นจากขาดทุนสุทธิ YoY เป็นกำไรได้ แต่ในเชิง QoQ คาดว่าจะปรับลดลงจากปัจจัยตามฤดูกาล

กำไร 2Q22 ฟื้นตัวเป็นอย่างดี

  • หากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรปกติจะอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท (+68%YoY) กำไร 1H22 คิดเป็น 49% ของประมาณการทั้งปี 2022E
  • กำไรที่ฟื้นตัว YoY เป็นผลจากจำนวนลูกค้าที่ฟื้นตัวขึ้นใน 3 ประเทศ (ไทย เวียดนาม และอิตาลี) และรายได้ค่าเช่าและบริการที่โตขึ้น เพราะมอบส่วนลดค่าเช่าน้อยลง
  • ยอดขายช่องทางผสม (Omnichannel) ในช่วง 1H22 โต 29%YoY และคิดเป็น 18% ของยอดขายรวม ผลงานที่แข็งแกร่งนี้ได้แรงกระตุ้นจากแพลตฟอร์มและบริการใหม่ทั้งในกลุ่มอาหารและสินค้าอื่น
  • รายได้ 2Q22 อยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท (+23%YoY, +1%QoQ) หนุนจาก 1) SSSG ที่แข็งแกร่งในทุกกลุ่ม แยกเป็นกลุ่มอาหารที่ +18% YoY กลุ่มฮาร์ดไลน์ +2% YoY และกลุ่มแฟชั่น +56% YoY และ 2) รายได้ค่าเช่าและบริการที่พุ่งขึ้นเป็น 2 พันล้านบาท (+32%YoY)
  • อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) อยู่ที่ 27.2% (+220bps YoY, +210bps QoQ) สูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส การเติบโต YoY และ QoQ เป็นผลอัตรากำไรจากการขายที่เพิ่มเป็น 25.5% (+215bps YoY) และอัตรากำไรในส่วนค่าเช่าและบริการที่เพิ่มเป็น 72.6% (+100bps YoY)

SSSG เดือน ก.ค. 2022 แข็งแกร่งต่อเนื่อง

  • SSSG ในเดือน ก.ค. 2022 ของบริษัทยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ด้วยการเติบโตระดับหลักสิบ คาดผลประกอบการเชิง YoY พลิกเป็นกำไรใน 3Q22 จากขาดทุน แต่ในเชิง QoQ คาดว่าจะลดลงตามปัจจัยฤดูกาล

คงคำแนะนำ “ซื้อ” คาดผลประกอบการที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง

คงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 43.00 บาท คำนวณด้วยวิธีคิดลดเงินสด (DCF) (WACC 8.2% และ TG 2%) อิง 35XPE’23E หรือใกล้เคียงค่าเฉลี่ยกลุ่มพาณิชย์ไทย

Revenue breakdown

รายได้ของบริษัทมาจาก 3 ธุรกิจหลักได้แก่:

  • ธุรกิจกลุ่มอาหาร คิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้ทั้งหมด โดยส่วนนี้ประกอบด้วยซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตรวม 350 แห่งในประเทศไทยและเวียดนาม และร้านสะดวกซื้อ 805 แห่งในประเทศไทย ซึ่งธุรกิจกลุ่มอาหารนั้นดำเนินงานภายใต้แบรนด์ Central Food Hall, Tops, FamilyMart, Big C (GO!), Lanchi Mart และ Matsumoto Kiyoshi
  • ธุรกิจกลุ่มฮาร์ดไลน์ คิดเป็นสัดส่วน 35% ของรายได้ทั้งหมด ธุรกิจกลุ่มนี้ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า 466 แห่งในประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์ ไทวัสดุ Baan & Beyond, Powerbuy, B2S, OfficeMate และ Nguyen Kim
  • ธุรกิจกลุ่มแฟชั่น คิดเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยห้างสรรพสินค้ารวม 74 แห่งในประเทศไทย และ 9 แห่งในอิตาลี ธุรกิจกลุ่มแฟชั่นนั้นดำเนินงานภายใต้แบรนด์ Central, Robinson, OMG, Supersports และ Rinascente
  • ธุรกิจให้เช่าและบริการ มีองค์ประกอบรายได้มาจากร้าน Robinson Lifestyle ในไทย 24 แห่ง, Tops Plaza 5 แห่งในไทย และ Big C / GO! 40 แห่งในเวียดนาม
- Advertisement -