บล.พาย:

AAV: บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น “2Q22 รายได้พื้นหลังเปิดประเทศ”

เรายังคงคำแนะนำ “ขาย” โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานได้ใหม่ที่ 2.4 บาท (1.8XPBV’22E เดิม 2.5 บาท) แม้ว่าผลประกอบการจะเริ่มเห็นผลดีจากการเปิดประเทศที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา และทำให้รายได้ในช่วง 2Q22 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 174%YoY, 51%QoQ สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านคน สูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส แต่ด้วยต้นทุนหลักอย่างราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้มีผลขาดทุนสูงถึง 4,724 ลบ.

2Q22 ขาดทุน 4,724 ลบ.

  • 2Q22 ถ้าไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ขาดทุนจากด้านเครดิต และกำไรจากตราสารอนุพันธ์ AAV จะขาดทุนสุทธิ 2,319 ลบ. เพิ่มจาก 1,294 ลบ. ใน 2Q21 และ 1,968 ลบ. ใน 1Q22 เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันยังคงกดดันอยู่ แม้ว่าในส่วนของรายได้จะเพิ่มเป็น 2,692 ลบ. (+174%YoY,+51%QoQ) เป็นผลจากมีจำนวนผู้โดยสาร 1.7 ล้านคน (+133%YoY,+16%QoQ) หลังจากไทยผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ
  • ขาดทุนขั้นต้น 85% ลดลงจาก 184% ใน 2Q21 และ 143% ใน 1Q22 เนื้องากราคาตั๋วมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ หลังมีการบินเส้นทางต่างประเทศเพิ่ม ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 376 +20%YoY, +2%QoQ ลบ.
  • แนวโน้มช่วง 2H22 คาดจำนวนผู้โดยสารปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยในงวด 3Q22 จะได้รับผลดีจากการเปิดประเทศเต็มไตรมาส ซึ่งปี 22 ตั้งเป้าผู้โดยสารอยู่ที่ระดับ 10 ล้านคน เพิ่มจาก 2.4 ล้านคนในปี 21
  • เตรียมขยายเส้นทางบินเพิ่ม โดยเฉพาะที่ภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น ที่อินเดีย บังคลาเทศ และเนปาล ซึ่งจะเข้ามาชดเชยตลาดประเทศจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนในการเปิดประเทศอยู่

ปรับขาดทุนเพิ่ม

  • หลังจากในช่วง 1H22 AAV มีผลขาดทุนปกติกว่า 5,000 ลบ. ทำให้เรามีการปรับขาดทุนทั้งปีที่ไม่รวมรายการพิเศษเพิ่ม 31% เป็น 7,404 ลบ. และทำให้เราประเมินมูค่าพื้นฐานได้ใหม่เป็น 2.2 บาท (1.8XPB’22E)
  • ในแง่พื้นฐานเราแนะนำ “ขาย” แต่อาจเก็งกำไรตามมาตรการเปิดประเทศของไทยได้

อินเดีย ตัวช่วยในช่วงที่จีนยังปิดประเทศ

  • เนื่องจากจีนยังคงมาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มข้น ทำให้ยังไม่สามารถเปิดให้เดินทางได้โดยไม่ต้องกักตัว ทำให้ AAV มีการหาลูกค้าจากกลุ่มประเทศอื่นเพิ่ม โดยในปี 22 นี้ AAV ได้หันไปเปิดเส้นทางบินในกลุ่มเอเชียใต้เพิ่มขึ้นแทน โดยเฉพาะประเทศอินเดีย ที่มีการเปิดเส้นทางบินทั้งสิ้น 5 จุด และทำให้ในช่วง 1H22 มีสัดส่วนรายได้จากเส้นทางดังกล่าวสูงถึง 41% ของรายได้จากเส้นทางระหว่างประเทศ (เดือน พ.ค.-ก.ค. AAV มีจำนวนผู้โดยสารจากเส้นทางอินเดียรวมกว่า 9 หมื่นคน) ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวนอกจากจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มแล้วยังทำให้รายได้จากค่าบริการเสริมปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทยอยเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร

  • ในช่วง 2Q22 ที่ผ่านมา AAV มีการใช้เครื่องบินเพียง 25 ลำ จากทั้งหมด 59 ลำ และมีกำลังการผลิตเพียง 33% ของภาวะปกติก่อนโควิด โดยคาดว่าในช่วง 3Q22 ต่อเนื่องถึง 4Q22 จะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนถึง ณ สิ้นปีที่คาดว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มมาอยู่ที่ระดับ 76% ของก่อนโควิดและมีการใช้เครื่องบินรวม 43 ลำ
  • การเพิ่มกำลังการผลิตดังกล่าวสอดคล้องกับการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ เพิ่มอย่างเช่นที่เวียดนามอีก 3 เส้นทาง อินเดีย 1 สำหรับประเทศจีน ในปัจจุบันมีการบินเดือนละ 2 เที่ยวบินโดยทาง AAV เองมีการเตรียมความพร้อมด้านพนักงานที่จีนเพื่อให้สามารถกลับมาเปิดบินได้ หากจีนมีการยกเลิกมาตรการควบคุมการเข้าประเทศ

ประเมิน 2H22 ยังขาดทุน แต่คาดลดลงจาก 1H22

เราคาดว่าผลประกอบการในช่วง 2H22 ของ AAV ยังมีผลขาดทุนอยู่ เนื่องจากยังไม่สามารถกลับมาบินเส้นทางต่างประเทศได้เต็มที่ แต่คาดว่าจะมีผลขาดทุนลดลงจาก 1H22 หลังจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่ม รวมถึงราคาตั๋วเครื่องบินที่ทยอยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4Q21 ที่ 1,130 บาท/คน/เที่ยวบิน เป็น 1,317 บาท/คน/เที่ยวบิน ใน 2Q22

Revenue breakdown

โครงสร้างรายได้ของ AAV มาจาก 2 กลุ่มได้แก่ 1 รายได้จากค่าโดยสารสายการบิน (มีทั้งเที่ยวบินประจำและเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ) และ 2. รายได้ค่าบริการเสริม (Ancillary income) เช่นซื้อน้ำหนักกระเป๋า การเลือกที่นั่ง หรือการขายอาหารบนเครื่อง เป็นต้น ขณะที่ผู้โดยสารปัจจุบันยังมาจากในประเทศเป็นหลัก (93%) แต่ช่วงก่อนโควิดจะมีผู้โดยสารในประเทศในสัดส่วนประมาณ 60%

- Advertisement -