บล.เอเซีย พลัส:
เข้าสู่ HIGH SEASON คาดกําไร 3Q65 พีคของปี
CKP รายงานกำไรสุทธิงวด 2Q65 เท่ากับ 864 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นมีนัยฯ จาก 39 ล้านบาท ในงวดก่อนหน้า รับปัจจัยหนุนหลักจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 แห่งของ CKP ทั้งโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า หลังจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในช่วงปลายไตรมาส 2 และคาดกำไรจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในงวด 3Q65 ตามช่วงฤดูฝนของปี
มูลค่าพื้นฐานสิ้นปี 2565 เท่ากับ 6.40 บาทต่อหุ้น หาจังหวะซื้อลงทุนเพื่อการขึ้นตามฤดูกาลน้ำรอบใหม่ โดยจะเข้าสู่ช่วง high season ของน้ำในงวด 3Q65 หวังกำไรขึ้นทำระดับสูงสุดรายไตรมาสของปีได้ อีกทั้งภาพระยะยาวยังมีโครงการหลวงพระบางหนุนการเติบโตของกำไร ซึ่งมีความคืบหน้าต่อเนื่อง คาดจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2566 ซึ่งฝ่ายวิจัยยังไม่รวมไว้ในประมาณการปัจจุบัน ถือเป็น upside ส่วนเพิ่ม
โครงการโรงไฟฟ้าหลวงพระบางคืบหน้า เริ่มก่อสร้างต้นปี 2566 จะเข้ามาต่อยอดกําไรให้ CKP ในระยะยาว
จากการประชุมนักวิเคราะห์ ยังไม่มีประเด็นใหม่ โดย CKP ตั้งเป้าหมายการเติบโตในระยะยาวที่จะเติบโตจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศ ASEAN ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งให้ได้ถึง 4.8 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2567 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 3.6 พันเมกะวัตต์ ตามเป้าหมายเดิมที่เคยนำเสนอไว้ โดยปัจจุบันยังไม่มีการระบุโครงการที่เข้าไปลงทุนอย่างชัดเจน ดังนั้น การลงทุนที่มีรายละเอียดมากที่สุดในตอนนี้ยังอยู่ที่โครงการโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง ซึ่งล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง โดยบริษัทหลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด (LPCL) ซึ่ง CKP ถือหุ้น 42% ได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติจาก กพช. เรียบร้อยแล้ว รออัยการสูงสุดสอบทาน หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงนามบันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้า (Tariff MOU) ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดจะแล้วเสร็จในงวด 3Q65 หลังจากนั้นคาด financial close จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 และเริ่มก่อสร้างต้นปี 2566 โดยโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง ในพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-River) ที่ไม่มีที่กักเก็บน้ำ แต่ใช้การไหลของน้ำตามธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.46 พันเมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 ม.ค. 2573 โดย กฟผ.จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าทั้งหมดจากโครงการด้วยอัตราค่าไฟเฉลี่ย (Levelized tariff) 2.4030 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่ง LPCL จะดำเนินการเจรจาในรายละเอียด และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับ กฟผ.และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ.ในลําดับถัดไป
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินเบื้องต้น หากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางแล้วเสร็จ คาดจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้ CKP ตามสัดส่วนการถือหุ้นเบื้องต้นที่ 42% ราว 613 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตของ CKP ปัจจุบันที่ 939 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างมีนัยฯ เนื่องจากขนาดโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางดังกล่าวมีขนาดกำลังการผลิตใหญ่กว่าโครงการ ไซยะบุรี ที่มีกำลังการผลิตที่ 1.28 พันเมกะวัตต์ (XPCL-CKP ถือหุ้น 42.5%) รวมถึงต้นทุนการก่อสร้างน่าจะสูงกว่าโครงการไซยะบุรีที่อยู่ราว 1.3 แสนล้านบาท ดังนั้นคาดส่วนแบ่งกำไรที่จะให้ CKP เบื้องต้นภายใต้สมมติฐานที่ใกล้เคียงกับไซยะบุรีจะอยู่ราว 1.2-1.5 พันล้านบาท (ภายใต้สัดส่วนการถือหุ้น 42%) ซึ่งหากอิงข้อมูลในรายละเอียดของโครงการพลังน้ำหลวงพระบางอยู่ในกรอบคล้ายกับไซยะบุรี เพื่อใช้ในการประเมินมูลค่าเบื้องต้นจะพบว่า มูลค่าพื้นฐาน ณ วันที่โครงการแล้วเสร็จเริ่ม COD ได้ 1 ม.ค. 2573 จะอยู่ราว 2.0 2.5 บาทต่อหุ้น และหาก discount กลับมาเป็นระยะเวลา 8 ปี มาอยู่ในปีปัจจุบัน คาดมูลค่าส่วนเพิ่มจะอยู่ราว 1.0-1.3 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยจะยังไม่รวมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางดังกล่าวไว้ในประมาณการและมูลค่าพื้นฐานปัจจุบัน เนื่องจากยังมีความเสี่ยงระหว่างทางอีกมาก โดยเฉพาะ Construction risk เพราะกว่าโครงการจะแล้ว เสร็จต้องใช้เวลาอีก 8 ปี แต่ถือเป็น upside ส่วนเพิ่มหากโครงการแล้วเสร็จตามแผน
กําไร 2Q65 เติบโตมีนัยฯ QoQ เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน
CKP รายงานกำไรสุทธิงวด 2Q65 เท่ากับ 864 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นมีนัยฯจาก 39 ล้านบาท ในงวดก่อนหน้า รับปัจจัยหนุนหลักจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 แห่งของ CKP ทั้ง โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า หลังเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในช่วงปลายไตรมาส 2 โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าน้ำดื่ม 2 ในงวด 2Q65 มีค่าความพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 391 จาก 331 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ในงวดก่อนหน้า ตามปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในช่วงงวด 2Q65 ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะใน เดือน พ.ค. และ มิ.ย. ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูงหากเทียบกับปีก่อนหน้าสำหรับปริมาณน้ำไหล แต่หากพิจารณากำลังการผลิตไฟฟ้าพบว่าในงวด 2Q65 อยู่ต่ำกว่าในงวด 2Q64 เนื่องจากในปี 2564 มีปริมาณน้ำสะสม ณ ต้นปี 2564 อยู่ในระดับสูง เพราะปี 2563 ทาง CKP ได้ประกาศเป็นปีแล้ง (drought year) โดยจะไม่ถูกค่าปรับหากผลิตไม่ได้ตาม minimum guarantee ที่ตกลงไว้ในสัญญา (กฟผ.กำหนดให้ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี สามารถแจ้งเป็นปี drought year ได้ 2 ครั้ง โดยการประกาศในปี 2563 ครั้งนี้ถือเป็นปีแรกที่โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ประกาศเป็นปีแล้ง) จึงประกาศความพร้อมจ่ายในปี 2563 ให้ต่ำไว้ก่อน ทำให้ปริมาณน้ำสะสมตั้งแต่ต้นปี 2564 สูงมากกว่าปกติ ซึ่งในปี 2565 ถือเป็นปีที่สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ในงวด 2Q65 ส่วนแบ่งเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกันและบริษัทร่วมพลิกกลับมาเป็นส่วนแบ่งกำไรที่ 772 ล้านบาท จากงวดก่อนหน้าเป็นส่วนแบ่งขาดทุน 3 ล้านบาท หลักๆ เป็นผลมาจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรี (CKP ถือหุ้น 42.5%) มีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าเฉลี่ยมากขึ้นจากงวดก่อนหน้า และมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะเป็นเขื่อน run of river ขึ้นกับปริมาณน้ำไหลผ่าน ส่งผลให้ปริมาณขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจน (BIC) ในงวด 2Q65 ที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากงวดก่อนหน้า จากปริมาณขายไฟฟ้าให้ EGAT และ IUs ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 306 และ 75 จาก 301 และ 75 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ในงวดก่อนหน้า รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติในงวดนี้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 423 จาก 442 บาทต่อ MMBTU ซึ่งส่งผล ให้อัตราค่าไฟฟ้าในส่วนของ Energy Payment ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงไฟฟ้าโซลาร์ BKC มีรายได้ปรับตัวลดลงตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงมาอยู่ที่ 5.9 จาก 6.1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เนื่องจากมีฝนตกในช่วงเดือน พ.ค. ทำให้ความเข้มแสงลดลง
โดยรวมแล้วกำไรสุทธิงวด 1H65 เท่ากับ 903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 48% ของประมาณการทั้งปี 2565 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้
คาดกําไร 3Q65 จะขึ้นทำระดับสูงสุดรายไตรมาสของปี
เบื้องต้นยังคงประมาณการกำไรปี 2565 โดยให้น้ำหนักกำไรในงวด 3Q65 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลฤดูฝนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ คาดผลการดำเนินงานน่าจะขึ้นทำระดับสูงสุดรายไตรมาสของปี 2565 โดย CKP ประกาศความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ในงวด 3Q65 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 555 จาก 391 กิกะวัตต์ชั่วโมง เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าไซยะบุรี (CKP ถือหุ้น 42.5%) ที่ปริมาณน้ำปรับตัวเพิ่มขึ้นมีนัยฯ โดยในเดือน ก.ค. 65 มีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.9 พันลบ.ม./วินาที และในเดือนส.ค.ถึงปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นไปอยู่สูงถึง 8.0 พันลบ.ม./วินาที เทียบกับค่าเฉลี่ยในงวด 2Q65 ที่ 3.8 พันลบ.ม./วินาที
ประเด็นความเสี่ยง
1. โครงการหลักของ CKP ในปัจจุบัน คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะต้องขึ้นอยู่กับปริมาณฝนตกในแต่ละปีว่าจะเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ตามสัญญาที่กําหนดไว้หรือไม่
2. การขายไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงที่ลูกค้าอาจเกิดเหตุขัดข้องฉุกเฉินไม่สามารถรับไฟฟ้าได้ตามสัญญา
3. การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้องขึ้นอยู่กับความเข้มแสง และฤดูกาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งอาจมีผลให้ผลิตไฟฟ้าได้ไม่เป็นไปตามแผน
4. การดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของการก่อสร้าง ซึ่งอาจทําให้โครงการไม่เสร็จตามแผนที่กําหนดไว้
CKP แนะนํา ซื้อ
ราคาปัจจุบัน (บาท) 5.20
ราคาเป้าหมาย (บาท) 6.40
Upside (%) 23.1
Dividend yield (%) 0.0