บล.พาย:

BA: บมจ.การบินกรุงเทพ “ผู้โดยสารฟื้นต่อเนื่อง เป้าทั้งปีไม่น่าพลาด”

เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานได้ใหม่ที่ 12.65 บาท (2.5XPBV’22E ค่าเฉลี่ยของผู้ให้บริการด้านการบินและสนามบิน) จากเดิม 13 บาท ด้วยปัจจัยบวกจากการเป็นผู้ที่ได้รับผลดีจากมาตรการเปิดประเทศของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงในระยะยาวยังจะได้รับผลดีจากการเปิดสนามบินอู่ตะเภาเพิ่ม ส่วนการขายสนามบินสมุยเข้ากอง BAREITs จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้บริษัท ทั้งนี้ปัจจัยลบยังคงเป็นราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง

ผู้โดยสารฟื้นต่อเนื่อง คาดทั้งปี 2.6 ล้านคน

  • ภาพรวมผู้โดยสารของ BA มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากภาครัฐเปิดประเทศตั้งแต่เดือน เม.ย. เห็นได้จากจํานวนผู้โดยสารในช่วง 2Q22 ปรับตัวเพิ่มเป็น 0.54 ล้านคน (+469YoY, +43% QoQ) และหลังจากภาครัฐมีการยกเลิกการใช้ Thailand Pass ในเดือน ก.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เป้าทั้งปีที่ทางผู้บริหารคาดไว้ที่ 2.6 ล้านคนยังมีความเป็นไปได้ (1H22 มีแล้วกว่า 0.9 ล้านคน)
  • สำหรับการเปิดเส้นทางบินในช่วงที่เหลือของปี ทาง BA เตรียมเปิดเส้นทางบินในเส้นทาง CLMV อย่างเช่นหลวงพระบาง ดานัง ฟู้ก๊วก เพิ่ม สำหรับเส้นทางอินเดียทาง BA มีการศึกษาอยู่ ซึ่งหากเปิดได้จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้อีกทาง
  • การขายสนามบินสมุยเข้ากองทุน BAREITs จะทำให้ BA ได้รับกระแสเงินสดเข้ามาประมาณ 14,000 ลบ. โดยส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ซื้อหน่วยชลงทุนในสัดส่วน 25% คืนเงินกู้ประมาณ 5,000 ลบ. ส่วนที่เหลือจะใช้สําหรับการลงทุนในโครงการอู่ตะเภาเป็นหลัก ทั้งนี้จะไม่มีการบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาแต่อย่างใด
  • สำหรับแผนการเพิ่มเที่ยวบินในสนามบินสมุยคาดจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ในการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินจาก 50 เที่ยวบิน/วัน เป็น 70 เที่ยวบิน/วัน

ปรับขาดทุนเพิ่มหลัง 1H22 ขาดทุนกว่า 1.8 พันลบ.

  • จากผลประกอบการช่วง 1H22 ที่ BA ขาดทุนกว่า 1,867 ลบ. ขณะที่แนวโน้มในช่วง 2H22 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นแต่ด้วยการฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เราปรับผลขาดทุนทั้งปีขึ้นเป็น 2,450 ลบ. จากเดิม 2,094 ลบ. แต่ปรับเพิ่มรายได้จากเดิม 11% มาอยู่ที่ 9,426 ลบ. (โดยปรับเพิ่มค่าโดยสารเฉลี่ยเป็น 2,900 บาท/คน/ เที่ยวบินจากเดิม 2,500 บาท/คน/เที่ยวบิน)
  • เรายังคงแนะนำ “ซื้อ” อยู่เนื่องจากมองว่าเป็นผู้ประกอบการที่จะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว ทั้งในแง่จำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการสายการบิน และสนามบิน โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมได้ใหม่ที่ 12.65 บาท (2.5XPBV’22E)

2Q22 ขาดทุนอีกไตรมาสที่ 848 ลบ.

  • งวด 2Q22 BA มีผลประกอบการขาดทุน 848 ลบ. จาก 686 ลบ. ใน 2Q21 และ 1,020 ลบ. ใน 1Q22 ถ้าไม่รวมรายการพิเศษอย่างกำไรจากตราสารอนุพันธ์ 1 ลบ. และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 221 ลบ. จะขาดทุนปกติ 628 ลบ. ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และต้นทุนค่าเช่าเครื่องบินที่ยังต้องบันทึกเข้ามาแม้บางลำยังไม่ได้ใช้งาน แต่ในส่วนของจำนวนผู้โดยสารมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 0.54 ล้านคน (+469YoY, +43%QoQ) และด้วยเส้นทางบินมากกว่า 50% เป็นการบินเส้นทางสมุยทำให้ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นกันมาอยู่ที่ระดับ 2,828 บาท/คน/เที่ยวบิน (+36%YoY, +15%QoQ) ทำให้รายได้จากค่าโดยสารเพิ่มเป็น 1,566 ลบ. (+ 642%YoY, 48%QoQ)
  • รายได้จากธุรกิจอื่นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้น 50%YoY, 5%QoQ มาอยู่ที่ 529 ลบ. เป็นการฟื้นตัวทั้งในส่วนของการให้บริการในสนามบินและธุรกิจครัวการบิน ส่วนรายได้ค่าบริการผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเช่นกันมาอยู่ที่ 50 ลบ. (+455%YoY, +50%QoQ) สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาที่สนามบินสมุยที่เพิ่มขึ้น 386%YoY, 46%QoQ รวมแล้วมีรายได้ 2,153 ลบ. (+276%YoY, +46%QoQ)
  • ด้วยต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้ในงวดนี้ยังขาดทุนขั้นต้นอีก 14.8% ลดลงจาก 156% ใน 2Q21 และ 38% ใน 1Q22 ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 488 ลบ. (+31%YoY, +10%QoQ) แต่รวมแล้วผลขาดทุนจากการดำเนินงานลดลงเหลือ 806 ลบ. จาก 1,264 ลบ. ใน 2Q21 และ 1,010 ลบ. ใน 1Q22
  • ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน 104 ลบ. ทรงตัวจาก 1Q22 แต่ลดลง 32%YoY เนื่องจากไม่มีส่วนแบ่งจากกองทุน SPF เข้ามา สำหรับงวดนี้มีเงินปันผลรับจาก BDMS เข้ามา 207 ลบ.
  • รวมแล้วในช่วง 1H22 BA มีรายได้ 3,631 ลบ. (+192%YoY) และมีผลขาดทุนสุทธิ 1,867 ลบ. เพิ่มจาก 1,432 ลบ. ใน 1 H21 แต่ถ้าไม่รวมรายการพิเศษจะขาดทุน 1,685 ลบ.

ปรับลดฝูงบินเพื่อลดค่าใช้จ่าย

  • จากการที่จำนวนผู้โดยสารและเส้นทางบินยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดทำให้ทาง BA มีแผนปรับลดขนาดฝูงบินลงจากปัจจุบันที่มีจำนวน 37 ลำ เหลือ 27 ลำ ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะมีทั้งการขายเครื่องบิน และการส่งคืนให้กับผู้ให้เช่า จะเริ่มตั้งแต่ 3Q22 เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเช่าเครื่องบินลงได้ปีละประมาณ 6-8 ล้านเหรียญฯ

ขายสนามบินสมุยเข้ากอง BAREITs ระยะสั้นอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

  • จากการขายสนามบินสมุยเข้ากองทุน BAREITs ในส่วนของ BA จะได้รับเงินสดเข้ามากว่า 14,000 ลบ. (ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการยกเลิกกองทุน SPF ในปี 21 ที่มีมูลค่า 18,000 ลบ. เนื่องจากการขายสินทรัพย์ครั้งนี้มีพื้นที่น้อยกว่า โดยยังเหลือพื้นที่ในเชิงพาณิชย์และลานจอดบางส่วนที่ยังไม่ได้ขายให้กองทุน) ซึ่งจะนำไปใช้ในการซื้อหน่วยลงทุน คืนเงินกู้ และใช้สำหรับโครงการลงทุนในอนาคตอย่างสนามบินอู่ตะเภา
  • ส่วนผลกระทบกับการดำเนินงาน BA จะยังคงได้รับรายได้จากค่าโดยสารและค่าใช้บริการผู้โดยสารตามปกติแต่จะมีการจ่ายเงินให้กับกองทุนในอัตราประมาณ 1,100 ลบ./ปี ที่จะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจ่ายในแต่ละไตรมาส โดยจะมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนเข้ามาชดเชย ทั้งนี้ คาดว่าในปีแรกจำนวนรายได้จากสนามบินสมุยที่ BA ได้รับอาจจะยังไม่คุ้มกับจำนวนที่จ่ายให้กับกองทุน เพราะการฟื้นตัวไปถึงระดับก่อนโควิดที่มีผู้โดยสารขาออกสนามบินสมุยจำนวน 1.2 ล้านคนจะอยู่ในปี 24 ทำให้ในช่วง 4Q22-23 BA อาจจะยังต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขกองทุนก่อน (ก่อนโควิด BA มีรายได้จากสนามบินสมุยประมาณปีละกว่า 10,000 ลบ.)
  • โครงสร้างรายได้ของ BA แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.รายได้ค่าโดยสาร 2.รายได้จากการให้ขายและบริการ (ธุรกิจขายอาหารบนเครื่องบินและการให้บริการในสนามบิน) 3.รายได้ค่าระวางขนส่ง และ 4.รายได้ค่าบริการผู้โดยสาร โดยมีเส้นทางสมุยเป็นเส้นทางหลักในการใช้บริการของลูกค้า
- Advertisement -