บล.บัวหลวง:

Thaifoods Group (TFG TB/TFG.BK)

TFG – มองบวกอย่างมากต่อวงจรราคาขาขึ้นธุรกิจหมูไทย

เรารู้สึกว่าผู้บริหารมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อวงจรขาขึ้นของธุรกิจหมูไทย ถ้าเปรียบเทียบกับครั้งก่อนหน้า โดยมองวงจรขาขี้นรอบนี้ ยืดต่อออกไปอีก 6 เดือน (หรือจนถึงสิ้นปี 2566 ภายใต้สมมติฐาน ในกรณีปกติ) เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปทานหมูของผู้ประกอบการรายย่อยที่ช้ากว่าคาด หรือเลื่อนออกไปจากเดิม ทั้งนี้เรายังคงมีมุมมองอย่างอนุรักษ์นิยมว่าวงจรราคาหมูขาขึ้นของธุรกิจหมูไทยรอบนี้น่าจะยืนยาวไปจนถึงถึงช่วงกลางปี 2566 และคาดว่าจะ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แต่ในปีนี้กำไรของบริษัทคาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งอย่างมาก ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เรายังคงคําแนะนํา “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น TFG เนื่องจากกำไรปี 2565 ที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมูลค่าหุ้นที่ยังคงถูกมาก โดยมี PER ปี 2565 อยู่เพียงแค่ 8 เท่า (เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 19 เท่า)

แนวโน้มราคาไก่ไทยที่จะยังคงดีต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2565

ผู้บริหารยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาไก่ไทย เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยที่เข้ามาในระบบมีเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น อัตราการเชือดไก่ของทั้งอุตสาหกรรม ณ ปัจจุบันอยู่ ที่ 35-36 ล้านตัว/สัปดาห์ ซึ่งยังคงไม่กลับไปที่ระดับก่อนช่วง COVID-19 นอกจากนี้การนําเข้าไก่ปู่ย่าพันธุ์ (GGP) ยังคงอยู่ในระดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลง สําหรับภาพในระยะสั้น ผู้บริหารคาดว่าราคาไก่มีชีวิตมีแนวโน้มยืนในระดับสูงไปจนถึงสิ้นปี 2565 โดยมีปัจจัยหนุนจากดีมานด์ ส่งออกไปยุโรปที่เพิ่มขึ้น ราคาลูกเจี๊ยบที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา (จาก 17.25 บาท/ตัว ไปเป็น 19.25 บาท/ตัว ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.) และการหันมาบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมู สําหรับภาพในระยะกลางถึงระยะยาว บริษัทคาดราคาไก่มีชีวิตมีแนวโน้มยืนในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 ภายใต้สมมติฐานว่าอุปทานไก่ปู่ย่าพันธุ์ที่ยังคงตึงตัวต่อเนื่องไปในปี 2566 เราใช้สมมติฐานอย่างอนุรักษ์นิยมว่าราคาไก่มีชีวิตมีแนวโน้มยืนสูงไปจนถึงสิ้นปี 2565 ถ้าอ้างอิงจากรอบระยะเวลาการเลี้ยงไก่ที่สั้นกว่าหมู ซึ่งอยู่ที่เพียงแค่ 45 วัน

มุมมองบวกมากขึ้นต่อวงจรขาขึ้นของราคาหมูไทยไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2566

ผู้บริหารมีมุมมองบวกมากขึ้นกว่าเดิมต่อแนวโน้มธุรกิจหมูไทย เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปทานจากผู้ประกอบการหมูรายย่อยที่ล่าช้าไปจากเดิม ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของ ASF ที่ยังคงมีอยู่ในประเทศไทยและต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงยืนในระดับสูง เห็นได้จากราคาหมูไทยที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา (จาก 102 บาท/กก. ในช่วงวันที่ 17 พ.ค.-7 ส.ค. ไปอยู่ที่ 104 บาท/กก. ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. เป็นต้นมา) ภายใต้สมมติฐานในกรณีที่ดีที่สุดซึ่ง ได้แก่ จํานวนสต๊อกพ่อแม่พันธุ์หมูไม่เพิ่มขึ้น และราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงยืนในระดับสูงต่อเนื่อง ผู้บริหารคาดว่าราคาหมูไทยมีแนวโน้มยืนในระดับสูงต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 3 ปี (โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ไปจนถึงช่วงกลางปี 2567)

ภายใต้สมมติฐานในกรณีปกติ ซึ่งได้แก่ จำนวนสต๊อกพ่อแม่พันธุ์หมูไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ได้ขยายเพิ่มขึ้นไปกว่าเดิม  และราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อย ผู้บริหารมองว่าราคาหมูไทยมีแนวโน้มยืนในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2566 (ซึ่งยืดต่อออกไปจากสมมติฐานก่อนหน้าที่คาดว่าจะยาวไปถึงช่วงกลางปี 2566) เรายังคงประมาณการแบบอนุรักษ์นิยมว่าราคาหมูไทยจะยังคงยืนในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางปี 2566 ถ้าอ้างอิงจากวงจรการเลี้ยงหมูเป็นระยะเวลา 2 ปี (นับตั้งแต่หมูปู่ย่าพันธุ์ไปเป็นหมูขุน) หรือระยะเวลา 9 -12 เดือน (นับตั้งแต่ลูกหมูไปเป็นหมูขุน)

วอลุ่มส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/65; มุมมองบวกมากขึ้นต่อเป้ายอดขายปี 2565

เราคาดวอลุ่มไก่ส่งออกในไตรมาส 3/65 (รวมไก่สดแช่แข็งและไก่ปรุงสุก) ของ TFG ที่ 2.4 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 8% QoQ และราคาไก่ส่งออกเฉลี่ยในไตรมาส 3/65 ที่เพิ่มขึ้นอีก 7-8% QoQ บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโต 20-25% ในปี 2565 และ 10-15% ในปี 2566 โดยปัจจัยหนุนอัตราการเติบโตของยอดขายในปี 2566 จะมาจากวอลุ่มขายที่เพิ่มขึ้น (วอลุ่มขายไก่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% และวอลุ่มขายหมูที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20-30%) การขยายสาขาของร้านไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต (เพิ่มขึ้นอีก 135 สาขา ไปเป็น 220 สาขา ณ สิ้นปี 2565 และเพิ่มขึ้นอีก 160-180 สาขาไปเป็น 380-400 สาขา ณ สิ้นปี 2566) เราคาดธุรกิจร้านไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต มีแนวโน้มถึงจุดคุ้มทุนได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

- Advertisement -