บล.เอเซีย พลัส:

หุ้น DEEP VALUE ที่น่าสนใจ

ทิศทางผลประกอบการครึ่งปีหลังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้อาจสู้ครึ่งปีแรกไม่ได้ หลังราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (EVA/LDPE) เริ่มปรับลง และเงิน Adder โรงไฟฟ้า TG#5 จะหมดในเดือน ส.ค นี้ แต่แผนธุรกิจระยะยาวมีความน่าสนใจ ภายใต้ฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้ TPIPL สามารถลงทุนหลายโครงการที่ช่วยลด Cost และสร้างการ เติบโตที่ยั่งยืน พร้อมกับการจ่ายเงินปันผลได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ

TPIPL ถือเป็นหนึ่งในหุ้น Deep Value ที่มีความน่าสนใจ ทั้งในเชิง Valuation ที่มี PER ต่ำสุดในบรรดาผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศ และมีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีถึง 40% เหตุผลที่หุ้นไม่ได้รับความสนใจ อาจเป็นเพราะผลกำไรในอนาคตที่ลดลง หลังเงิน Adder โรงไฟฟ้าขยะของ TPIPP ทยอยหมดลง และประเด็นกดดันจากคดีทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร 5 คดีที่แพ้ในชั้นศาลอุทธรณ์ แต่ทุกอย่างได้ถูกสะท้อนเข้าไปในราคาเหมาะสมหมดแล้ว แนะนำ ซื้อ

แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังยังแกร่ง แม้อาจสู้ครึ่งปีแรกไม่ได้

ข้อมูลจากงาน Opportunity Day วันนี้ ผู้บริหารให้ความมั่นใจเกี่ยวกับทิศทางธุรกิจช่วงครึ่งปีหลังที่น่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยธุรกิจซีเมนต์มีผลประกอบการดีขึ้นตามลำดับ แม้ต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาถ่านหินและค่าไฟฟ้า ซึ่งต้นทุนพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 60-70% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด แต่ TPIPL ได้ทยอยปรับราคาปูนซีเมนต์ขึ้น โดย 2Q65 มีการปรับราคาปูนซีเมนต์ขึ้นประมาณ 200 บาท/ตัน และเดือนนี้มีการปรับราคาในประเทศขึ้นอีก 100 บาท/ตัน เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนถ่านหิน และค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีที่ปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรสูงสุดให้ TPIPL แซงหน้าธุรกิจโรงไฟฟ้า ยังมีแนวโน้มกำไรที่โดดเด่นมาก โดย Spread EVA/LDPE-Ethylene เดือน ก.ค ส.ค ยังอยู่ที่ 2,200-2,400 เหรียญฯ/ตัน สูงกว่า Spread เฉลี่ยใน 2Q65 ที่อยู่ที่ 1,923 เหรียญฯ/ตัน แม้ว่าราคา EVA ปัจจุบันจะลดลงจากช่วง Peak ตอนปลายปี 2564 ที่ 4,000 เหรียญฯ/ตัน ลงมาเหลือ 3,000 เหรียญฯ/ตัน แต่ก็ถือว่ายังสูงมาก หากเทียบกับราคาช่วงปี 2018-2020 ที่อยู่ที่ระดับ 1,500 เหรียญฯ/ตัน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเติบโตของธุรกิจพลังงานทางเลือกในประเทศจีน เนื่องจาก EVA ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าภายใต้ TPIPP แม้โรงไฟฟ้า TG#5 สัญญา PPA 55MW จะไม่ได้รับเงิน Adder 3.50 บาท/หน่วย ตั้งแต่เดือน ส.ค 65 ซึ่งจะทำให้ TPIPP มี EBITDA หายไป 130 ล้านบาท/เดือน แต่ก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากเงินค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น 0.6866 บาท/หน่วย ในช่วงเดือน ก.ย-ธ.ค 65 ที่ช่วยเพิ่ม EBITDA ได้ราว 100 ล้านบาท/เดือน โดยภาพรวม ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า TPIPL น่าจะสร้างกำไรเกิน 1,000 ล้านบาท/ไตรมาส ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งสูงกว่าฐานกำไรในอดีตที่ TPIPL เคยทำกำไรได้เพียง 200-400 ล้านบาท/ไตรมาส

หลายโครงการลงทุน ช่วยลดต้นทุนและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน TPIPL อยู่ในระหว่างการลงทุนหลายโครงการที่มีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิต และสร้างการเติบโตในระยะยาว โครงการลดต้นทุนที่สำคัญ อาทิ โครงการ Pre-Pol ที่มีทั้งการปรับปรุงเครื่องจักรลดการสูญเสียพลังงานและนำเชื้อเพลิง RDF มาใช้แทนถ่านหินในเตาเผาปูนซีเมนต์ทั้ง 4 สายการผลิตได้ถึง 25% เมื่อโครงการเสร็จสิ้นในปี 2565 คาดหวังจะลดต้นทุนลงได้สูงถึง 1,300 ล้านบาท/ปี และโครงการปรับปรุง Boiler B6,88 ของ TPIPP จากการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิง RDF 100% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนรวมกันมากกว่า 2,000 ล้านบาท/ปี ส่วนโครงการที่ช่วยเพิ่มรายได้ในอนาคต อาทิ การขยายโรงงานผลิตปูนมอร์ตาร์ 6 แสนตัน/ปี การเพิ่มกำลังการผลิตโรงงาน RDF เพื่อชดเชยการ ซื้อ RDF จากภายนอกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ สงขลา 7.92 MW และโรงไฟฟ้าขยะนครราชสีมา 9.9 MW โดยโครงการที่อยู่ระหว่างลงทุนของ TPIPL ส่วนใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ถือเป็นการลงทุนที่ช่วยสร้างผลตอบแทนในทางเศรษฐกิจควบคู่กับนโยบายการขับเคลื่อนด้าน ESG ของบริษัท

หุ้น DEEP VALUE ที่น่าสนใจ ราคาเหมาะสม 2.45 บาท แนะนํา ซื้อ

TPIPL ถือเป็นหนึ่งในหุ้น Deep Value ที่มีความน่าสนใจ ทั้งในเชิง Valuation ที่มี PER ต่ำสุดในบรรดาผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของประเทศ โดยมี PER ปี 2565 ต่ำเพียง 5 เท่า และมีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีถึง 40% เหตุผลที่หุ้นไม่ได้รับความสนใจ อาจเป็นเพราะผลกำไรในอนาคตที่ลดลง หลังเงิน Adder โรงไฟฟ้าขยะของ TPIPP ทยอยหมดลง และทุกประเด็นกดดันจากคดีทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร 5 คดีที่แพ้ในชั้นศาลอุธรณ์ แต่ทุกอย่างได้ถูกสะท้อนเข้าไปในราคาเหมาะสมหมดแล้ว โดยฝ่ายวิจัยประเมินกำไรสุทธิปี 2566 ลดลง 42%YoY จากฐานที่สูงมากในปีนี้ภายใต้หลักอนุรักษ์นิยม สะท้อนกำไรของ TPIPP ที่ลดลงจากผลกระทบของต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาถ่านหินและเงิน Adder ที่หายไป สำหรับค่าเสียหายจากคดีทำเหมืองนอกเขตประทานบัตรทั้ง 5 คดี ประเมินไว้ 1.6 พันล้าน บาท หรือเท่ากับ 25% ของเงินค่าปรับทั้งหมด 6,358 ล้านบาท ตามคำตัดสินของศาล จากการว่าจ้างผู้รับเหมาภายนอกในการปรับคืนสภาพพื้นที่บนหลักอนุรักษ์นิยม หาก TPIPL ต้องนำหินปูนไปถมคืนสภาพในคดีบุกรุกทำเหมือง ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่ TPIPL เคยประเมินไว้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายราว 1 พันล้านบาท หักออกจากส่วนของผู้ถือหุ้น ส่งผลให้ Fair Value ของ TPIPL ที่ประเมินด้วยวิธี Sum of the part อยู่ที่ 2.45 บาท มี Upside 45.92% แนะนำ ซื้อ

ประเด็นความเสี่ยง

1. TPIPL ถูกฟ้องร้องโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรียกค่าเสียหาย 6,358 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี) หรือนำหินปูนและหินดินดานไปถมคืนพื้นที่ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในชั้นศาลฎีกา

2. การเปลี่ยนแปลงของราคาถ่านหินจะกระทบต่อกำไรของ TPIPL หากไม่สามารถปรับราคาขายปูนซีเมนต์ขึ้นได้ โดยราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้นทุก 1 USD/ตัน จะทำให้ TPIPL มีต้นทุนการผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้น 6 บาท/ตัน

3. กำไรหลักของ TPIPL มาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าของ TPIPP ซึ่งมีความเสี่ยงจากรายได้ที่ลดลงหลัง Adder 3.5 บาท/kWh จะหมดอายุลงสำหรับโรงไฟฟ้า TG3+TG5 ในปี 2565 และ TG4+TG6 ในปี 2568

TPIPL แนะนํา ซื้อ

ราคาปัจจุบัน (บาท) 1.68

ราคาเป้าหมาย (บาท) 2.45

Upside (%) 45.92

- Advertisement -