บล.พาย: 

MINT: บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

“ความกังวลต่อค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้นในยุโรปสะท้อนผ่านราคาหุ้นแล้ว”

ราคาหุ้นที่ลดลง 17% QTD เปิดโอกาสให้เข้าสะสม เพราะสะท้อนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้นแล้ว สืบเนื่องมาจากสภาวะอุปทานก๊าซที่ตึงตัวในยุโรปที่มีส่วนแบ่งรายได้ธุรกิจโรงแรม 73% ในครึ่งแรกปี 2022 คาดว่าอัตราราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) ที่เพิ่มสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ 20%-30% ของกลุ่มโรงแรม NHH จะสามารถชดเชยผลกระทบจากค่าพลังงานที่สูงขึ้นได้ คงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 41.0 บาท ยังชอบ MINT ตรงที่พอร์ตโรงแรมโดยรวมฟื้นตัวแข็งแกร่ง ด้วย downside risk ที่จำกัดจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

คาดค่าห้องที่สูงขึ้นสามารถชดเชยผลกระทบได้

ผู้บริหารระบุว่าต้นทุนด้านสาธารณูปโภคคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของค่าใช้จ่ายการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมของบริษัท คาดว่าความกังวลเกี่ยวกับราคาก๊าซที่สูงยิ่งขึ้นจะกระทบกำไรปี 2023 แต่ไม่มากนัก เพราะคาดว่ารัฐบาลในสหภาพยุโรป (EU) จะยังคงมาตรการช่วยเหลือค่าพลังงานต่อไป ขณะเดียวกันบริษัทได้ปรับเพิ่ม ARR สำหรับพอร์ตกิจการในยุโรปสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ราว 20%-30% สอดคล้องกับอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะไกล และกิจกรรมประเภท MICE ที่เพิ่มขึ้น คาดว่าพัฒนาการเหล่านี้จะช่วยชดเชยผลกระทบดังกล่าวได้ ด้านอัตราการเข้าพักในไตรมาส 3/22 สำหรับธุรกิจในยุโรป คาดว่าจะยังแข็งแกร่งที่ 70% จากฤดูร้อนที่ยาวนานกว่าปกติ

คาดธุรกิจโรงแรมใน 2H22 จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

ธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากอุปสงค์สะสมในยุโรปช่วงไตรมาส 3/22 ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวในไตรมาส 4/22 สำหรับพอร์ตในไทย (10% ของรายได้รวม) คาดว่าอัตราการเข้าพักจะแตะ 70% ได้ภายในสิ้นปี 2022 จาก 43% ในไตรมาส 2/22 หนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไหลเข้ามาเฉลี่ย 1.5 ล้านคน/เดือน ตั้งแต่ไตรมาส 4/22 เป็นต้นไป (1.4 ล้านคนในเดือน ส.ค. 2022) สืบเนื่องมาจากการยกเลิกมาตรการ “Thailand Pass” ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. คาด ARR ของธุรกิจโรงแรมในไทยจะยังอยู่ในระดับคิดลด 5%-10% ต่อช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในครึ่งหลังปี 2022 แต่น่าจะแตะค่าเฉลี่ยได้ภายในต้นปี 2023

“ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 41.0 บาท

คงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐานที่ 41.0 บาท คำนวณด้วยวิธีคิดลดเงินสด (DCF) (WACC 8.0%) อิง 37.6x PE’23E หรือคิดลด 10% ต่อค่าเฉลี่ยหุ้นกลุ่มโรงแรมในไทยที่วิเคราะห์อยู่

Revenue breakdown

รายได้ของบริษัทมาจาก 3 ธุรกิจหลัก ดังนี้

(1) ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม คิดเป็นสัดส่วน 66% ของรายได้ทั้งหมด ปัจจุบันธุรกิจนี้ประกอบด้วยโรงแรม 535 แห่ง จำนวนห้องทั้งหมด 75,621 ห้อง ภายใต้แบรนด์ Anantara, AVANI, TIVOLI, NH Hotel, NH Collection, nhow และ OAKS

(2) ธุรกิจอาหาร คิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมด ปัจจุบันธุรกิจนี้ประกอบด้วยร้านอาหารจำนวน 2,389 สาขา ใน 26 ประเทศทั่วโลก ภายใต้ 10 แบรนด์หลัก ดังนี้ The Pizza Company, Swensens, Sizzler, Dairy Queen, Burger King, The Coffee Club, Thai Express, Jiang Bian Cheng Wai, Benihana และ Bon Chon

(3) ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า คิดเป็นสัดส่วน 4% ของรายได้ทั้งหมด ปัจจุบันธุรกิจนี้ประกอบด้วยร้านจัดจำหน่ายสินค้า 386 ร้านในไทย ภายใต้แบรนด์ Anello, Esprit, Bossini, Charles & Keith, Etam, OVS และ Redley

- Advertisement -