บล.บัวหลวง:
ICT – ไฟเขียวควบรวมกิจการ TRUE-DTAC แบบมีเงื่อนไข
What’s new?
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา กสทช. ได้มีมติเสียงข้างมาก “รับทราบ” การควบรวมกิจการ TRUE-DTAC พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม โดยเสียงข้างมากมองว่าการรวมธุรกิจของ TRUE-DTAC ไม่ใช่การถือครองในธุรกิจประเภทบริการเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศกสทช. เรื่องมาตรการป้องกันมิให้กระทำการเป็นอันผูกขาดพ.ศ. 2006 และให้ดำเนินการตามประกาศกสทช. ปี 2018 โดยให้กสทช.รับทราบการรวมธุรกิจ และเมื่อรับทราบแล้ว ให้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2018
Highlights:
มาตรการเฉพาะที่ออกครอบคลุม 5 ประเด็น ได้แก่
1) เรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ ซึ่งได้แก่ การกำหนดเพดานราคาอัตราค่าบริการเฉลี่ย ซึ่งเพดานราคาค่าบริการเฉลี่ยต้องลดลง 12% ภายใน 90 วันหลังการควบรวม ราคาค่าบริการกำหนดโดยดูจากโครงสร้างต้นทุนเฉลี่ย แสดงอัตราค่าบริการที่เป็นทั้ง bundle และ unbundle ให้ยังคงแยกแบรนด์ TUC และ DTN เป็นเวลา 3 ปี
2) เรื่องการแข่งขัน มีการกำหนดเงื่อนไขให้จัดทำแผนการให้มี MVNO ซึ่งรวมการให้บริการโครงข่ายกับ MVNO โดยจัดให้มีคาปาซิตี้อย่างน้อย 20% ให้กับ MVNO
3) เรื่องสัญญาณและคุณภาพการให้บริการ ได้แก่ ต้องไม่ลดจำนวน cell site หลัง ควบรวมมีเจ้าหน้าที่เพียงพอ และความครอบคลุมของโครงข่าย 5 จีที่ 85% ใน 3 ปีและ 90% ใน 5 ปี
4) เรื่องการถือครองคลื่นและการเข้าใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และ
5) เรื่องเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรม และช่องว่างทางดิจิทัล
View From Fundamental:
การอนุมัติของกสทช. สำหรับดีลรวมกิจการ TRUE-DTAC แบบมีเงื่อนไขถือว่าเป็นไปตามที่เราคาดก่อนหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ดีลนี้เดินหน้าต่อทันที ขั้นตอนต่อไปได้แก่ การทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์แบบสมัครใจ (VTO) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนต.ค.-พ.ย. และการรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่ทำการคัดค้าน และการประชุมผู้ถือหุ้นของทั้ง TRUE และ DTAC ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. และท้ายที่สุดการจัดตั้ง MergeCo หรือบริษัทใหม่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนธ.ค. 2022 หรือคาบเกี่ยวไปยัง 1Q23 เป็นอย่างช้าสุด
ในส่วนของมาตรการเฉพาะ 5 ประเด็น โดยภาพรวม เรามองว่าทั้ง TRUE และ DTAC สามารถจัดการได้และเป็นมาตรการปกติของการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในส่วนมาตรการกำหนดเพดานราคาค่าบริการเฉลี่ยต้องลดลง 12% ภายใน 90 วัน เรามองว่า ณ ปัจจุบันอัตราค่าบริการทั้งบริการเสียงและบริการดาต้าต่ำกว่าเพดานอยู่แล้ว (เพดานค่าบริการเสียง ณ ปัจจุบันในส่วนที่เกินโปโมชั่นอยู่ที่ 1.6 บาท/นาทีและเพดานบริการอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่อยู่ที่ 0.9 บาท/MB) เนื่องจากบริการ fixed speed unlimited ซึ่งเป็นโปรโมชั่นที่ฉุดอัตราค่าบริการลง ดังนั้นการปรับลดเพดานค่าบริการลงอีก 12% จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการจริงอย่างมีนัยสำคัญ เรามองว่าการแข่งขันด้านราคาหลังควบรวมกิจการ TRUE-DTAC จะยังคงรุนแรงในช่วง 1-2 ปีแรกแต่จะลดลงหลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป ถึงแม้ว่ากสทช.จะออกแบบมาตรการเรื่องการป้องกันการฮั้วค่าบริการก็ตาม แต่เรามองว่ากลไกการแข่งขันที่ลดลงจะเป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราค่าบริการทยอยปรับเพิ่มขึ้นเองโดยธรรมชาติอยู่ดีในระยะยาว
ในแง่ของการลงทุน เรามองว่าราคาหุ้นของทั้ง TRUE และ DTAC จะกลับไปยืนเหนือราคา tender ในระยะยาว (ราคา tender TRUE ที่ 5.09 บาท และ DTAC ที่ 47.76 บาท) ตลาดจะกลับมารวมมูลค่า synergy ให้กับทั้งสองบริษัทก่อนที่จะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่เกิดขึ้น เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น TRUE (ราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 6.40 บาท) และหุ้น DTAC (ราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2023 ที่ 63 บาท) ราคาเป้าหมายของทั้งสองบริษัทได้รวม synergy ที่ 0.97 บาท/หุ้นสำหรับ TRUE และ 13.7 บาท/หุ้นสำหรับ DTAC เข้าไปแล้ว สำหรับราคาเป้าหมายของบริษัทใหม่ (MergeCo) เราประเมินได้ที่ 10 บาท/หุ้น (ซึ่งรวม synergy เข้าไปแล้วที่ 0.94 บาท/หุ้น เรามองว่า ADVANC จะได้รับผลบวกจากการแข่งขันที่จะลดลงในระยะยาวโดยทางอ้อมและยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 250 บาท