ร่วมวิจัยเทคโนโลยีและพัฒนาระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม

ศูนย์สร้างนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ แห่งแรกในประเทศไทย ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ScII) ว่าด้วยความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนิสิต สตาร์ทอัพ ตลอดจนธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและการผลิต พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ

นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนต่างประเทศ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ทัส จำกัด นายฟรานซิส ชาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ทัส จำกัด และศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย กรรมการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ อันเป็นการผนึกกำลังระหว่างภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษา

ความร่วมมือระยะเวลา 5 ปีนี้ มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ระบบนิเวศด้านนวัตกรรม มุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลใหม่ ๆ รวมไปถึงการริเริ่มโครงการวิจัยและการบ่มเพาะธุรกิจร่วมกัน ใน 3 สาขา ได้แก่ 1. เทคโนโลยีใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์และอื่น ๆ 2. การผลิตขั้นสูงและกระบวนการทำงานในภาคอุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยทรานฟอร์มระบบการทำงานสู่ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. การพัฒนาทรัพยากรบุคคล อาทิ งานวิจัยและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะในหลากหลายสาขา เช่น การเป็นผู้ประกอบการ การบริหารจัดการ และอื่นๆนอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะสำรวจโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือและการสนับสนุนเงินทุนแก่ธุรกิจที่กำลังสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต ภายใต้บ่มเพาะโดย ScII และ/หรือทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ อีกด้วย

สืบเนื่องจากความร่วมมือในครั้งนี้ นิสิตจากสถาบันฯ มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการฝึกงานกับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ เพื่อนำความรู้และทักษะต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง โดยนิสิตจะได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้จากปัญหาที่พบเจอในภาคส่วนอุตสาหกรรม จนสามารถวิเคราะห์ ทำความเข้าใจปัญหา ตลอดจนนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้บริษัทนำไปพิจารณาปรับปรุงและต่อยอดได้ นอกจากนี้ ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ จะให้บริการพื้นที่ทำงานในศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมแก่นิสิตจากสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการพิเศษของ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับการบ่มเพราะโดยสถาบันฯ อีกด้วย ซึ่งทั้งนิสิตและสตาร์ทอัพจะได้รับประโยชน์จากบริการบ่มเพาะธุรกิจหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ รวมถึงบริการเพื่อการขยายธุรกิจ (Soft Landing) หรือโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพอื่น ๆ ที่ ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ พร้อมให้บริการแก่สมาชิกที่มาใช้บริการ

รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี ด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในระหว่างพิธีลงนาม ว่า “การจับมือกันของทั้งสามฝ่ายในวันนี้ นอกจากจะตอกย้ำวิสัยทัศน์และเป้าหมายอันแน่วแน่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และทัสโฮลดิ้งส์ แล้ว ยังสอดคล้องกับการพัฒนาหลักสูตรความเชี่ยวชาญของสถาบันฯ ที่สร้างโอกาสในการพัฒนาความร่วมมืออันทรงคุณค่าร่วมกับพันธมิตร อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อแวดวงการศึกษา ตลอดจนสังคมไทยและจีนอีกด้วย การร่วมมือครั้งนี้จะครอบคลุมการแบ่งปันทรัพยากรทางวิชาการ การฝึกอบรม โครงการแลกเปลี่ยน การฝึกงาน รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอันยั่งยืน เกิดเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างคุณค่าสู่สังคม ภายใต้เป้าหมายในการยกระดับประเทศให้พร้อมแข่งขันในระดับเอเชียแปซิฟิกต่อไป”

ศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการปูรากฐานที่แข็งแกร่งในด้านการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษา เหล่าพันธมิตร และอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในสายธุรกิจ การบริหารจัดการ และปัญญาประดิษฐ์ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นิสิตชั้นปีที่ 3 หลายคนได้รับโอกาสในการฝึกงานภาคฤดูร้อนเป็นเวลาสองเดือนกับดับบลิวเอชเอ ทัส รวมถึงดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป อีกด้วย”

นายวิวัฒน์ จิรัฐติกาลสกุล กล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมของไทยกำลังอยู่ในยุคของการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัล เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ ได้มีโอกาสสนับสนุนสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคต ผู้ที่เปี่ยมไปด้วยทักษะและความสามารถที่จำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การพลิกโฉมให้การทำงานในโรงงานและสำนักงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความสอดคล้องต่อเนื่องกันทั้งระบบ เราหวังว่าความร่วมมือกับสถาบันฯ ในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมทั้งส่งเสริมโครงการนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยให้ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง”

นายเสี่ยวเว่ย หม่า ประธานบริหาร บริษัท ทัสโฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านการให้บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศจีน ทัสโฮลดิ้งส์ มุ่งมั่นแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและประสานความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ตลอดจนสถาบันการศึกษา องค์กร และภาคส่วนอื่น ๆ เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย เรามุ่งหวังที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสร้างระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีน ไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อไป”

- Advertisement -