บล.บัวหลวง: 

Charoen Pokphand Foods (CPF TB/CPF.BK)

CPF – สูงกว่าคาด; คาดพลิกกลับเป็นกำไรหลัก YoY ในไตรมาส 4/65

กําไรหลักดีกว่าที่เราคาด

CPF รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/65 ที่ 5.11 พันล้านบาท พลิกกลับ YoY จากขาดทุนสุทธิ 5.37 พันล้านบาทในไตรมาส 3/65 และเพิ่มขึ้น 21% QoQ ถ้าหากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาส 3/65 ได้แก่ 1) กําไรจากอัตรา แลกเปลี่ยน 394 ล้านบาท 2) ขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพ 837 ล้านบาท และ 3) กำไรหลังหักภาษีจากการเทรดดิ้งหุ้น CPALL 22 ล้านบาท กำไรหลักไตรมาสนี้อยู่ที่ 5.53 พันล้านบาท พลิกกลับ YoY จากขาดทุนหลัก 4.96 พันล้านบาทในไตรมาส 3/65 และเพิ่มขึ้น 67% QoQ กําไรสุทธิและกำไรหลักสูงกว่าที่เราคาด 9% และ 23% ตามลำดับ เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจาก CPALL และ CTI ที่มากกว่าคาด ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้อยู่ที่ 15% ต่ำกว่าที่เราคาดก่อนหน้าที่ 15.3% เล็กน้อย (และเทียบกับ 8.8% ในไตรมาส 3/64 และ 14.5% ในไตรมาส 2/65) ส่วนแบ่งกําไรจากบริษัทร่วมมากกว่าที่เราคาด 100% โดยหลักมาจากกำไรของ CPALL และ CTI เป็นหลักที่สูงกว่าคาด

ประเด็นสําคัญจากผลประกอบการ

การพลิกกลับไปเป็นกำไรหลัก YoY เนื่องจาก: 1) ราคาหมูที่ปรับเพิ่มขึ้นในประเทศไทย (เพิ่มขึ้น 49% YoY) จีน (เพิ่มขึ้น 55%) เวียดนาม (เพิ่มขึ้น 22%) ลาว (เพิ่มขึ้น 80%) มาเลเซีย (เพิ่มขึ้น 56%) และฟิลิปปินส์ (เพิ่มขึ้น 15%) และราคาไก่ที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในประเทศไทย (เพิ่มขึ้น 54% YoY) เวียดนาม (เพิ่มขึ้น 98%) ลาว (เพิ่มขึ้น 58%) ฟิลิปปินส์ (เพิ่มขึ้น 43%) กัมพูชา (เพิ่มขึ้น 29%) มาเลเซีย (เพิ่มขึ้น 17%) และไต้หวัน (เพิ่มขึ้น 16%) 2) การพลิกกลับจากส่วนแบ่งขาดทุนของ CTI ไปเป็นส่วนแบ่งกำไร 1.5 พันล้านบาท 3) การพลิกกลับไปเป็นกำไรของ CPP (จากขาดทุน 3.07 พันล้านบาทในไตรมาส 3/64 และขาดทุน 588 ล้านบาทในไตรมาส 2/65 ไป เป็นกำไร 817 ล้านบาทในไตรมาส 3/65 โดยอิงจากสัดส่วนการถือหุ้นที่ 76.2% ของ CPP เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2565) และ 4) ส่วนแบ่งกําไรจาก CPALL ที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ซึ่งกลบผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นของ HyLife และ Bellisio

กำไรหลักที่เพิ่มขึ้น QoQ เนื่องจาก: 1) ราคาหมูที่ปรับเพิ่มขึ้นในประเทศจีน (เพิ่มขึ้น 47% QoQ) ไทย (เพิ่มขึ้น 6%) เวียดนาม (เพิ่มขึ้น 13%) ลาว (เพิ่มขึ้น 26%) และมาเลเซีย (เพิ่มขึ้น 10%) 2) ราคาไก่ที่ปรับเพิ่มขึ้นใน ประเทศไทย (เพิ่มขึ้น 14% QoQ) เวียดนาม (เพิ่มขึ้น 7%) และลาว (เพิ่มขึ้น 5%) และ 3) การพลิกกลับเป็นกำไรของทั้ง CPP และ CTI โดย CTI พลิกกลับจากส่วนแบ่งขาดทุน 1.63 พันล้านบาทในไตรมาส 3/64 และส่วนแบ่งขาดทุน 1.46 พันล้านบาทในไตรมาส 2/65 ไปเป็นส่วนแบ่งกำไร 1.5 พันล้านบาทใน ไตรมาส 3/65 (อ้างอิงการถือหุ้นโดยทางอ้อมของ CPF สัดส่วน 26.7% ใน CTI ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.) ทั้งนี้ผลการดำเนินงานหลักของธุรกิจปศุสัตว์ ในประเทศไทยพลิกกลับจากขาดทุนจากการดำเนินงานที่ 2.6 พันล้านบาทในไตรมาส 3/64 ไปเป็นกําไรจากการดำเนินงานที่ 6.6 พันล้านบาทในไตรมาส 3/65 ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจปศุสัตว์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 87% YoY

แนวโน้ม

เราคาดกำไรหลักที่ 2.98 พันล้านบาทในไตรมาส 4/65 หรือพลิกกลับ YoY ไปเป็นกำไรหลักจากขาดทุนหลัก 4.63 พันล้านบาทในไตรมาส 4/64 (จากฐานอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำมาก และขาดทุนหลักจำนวนมากในไตรมาส 4/64  บวกกับราคาหมูและไก่ในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก การพลิกกลับไปเป็นกำไรของ CPP และส่วนแบ่งกำไรของ CTI ที่เพิ่มขึ้นมีนัยสำคัญแบบก้าวกระโดด) แต่ลดลง 46% QoQ (เนื่องจากไตรมาสสี่ที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่น) สำหรับราคาตลาดเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในไตรมาส 4/65 เราใช้สมมติฐานราคาหมูไทยเฉลี่ยที่ 103 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 33% YoY และราคาไก่ไทยเฉลี่ยที่ 46 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 39% YoY เราใช้สมมติฐานราคาหมูจีนเฉลี่ยในไตรมาส 4/65 ที่ 25 หยวน/กก. เพิ่มขึ้น 54% YoY และราคาหมูเวียดนามเฉลี่ยในไตรมาส 4/65 ที่ 58,000 ดอง/กก. เพิ่มขึ้น 39% YoY

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป

เราทำการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 เพิ่มขึ้นอีก 11% (ไปเป็น 1.57 หมื่นล้านบาท) และปรับประมาณการกำไรหลักเพิ่มขึ้นอีก 21% (ไปเป็น 1.25 หมื่นล้านบาท) เพื่อสะท้อนส่วนแบ่งกำไรจากทั้ง CPALL และ CTI ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม และราคาเป้าหมายใหม่ที่ 33.60 บาท/หุ้น สะท้อนการปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นราคาเป้าหมายการลงทุน ณ สิ้นปี 2566

คําแนะนํา

เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” โดยอิงจากผลการดำเนินงานหลักที่จะพลิกกลับ YoY จากขาดทุนหลักไปเป็นกำไรหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

CPF – ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์

What’s new?

เราเข้าร่วมประชุมนักวิเคราะห์ของ CPF ช่วงเช้าที่ผ่านมา และยังคงมุมมองบวกต่อแนวโน้มราคาหมูไทย ไก่ไทย หมูจีนและหมูเวียดนามที่จะยังยืนในกรอบราคาสูงไปจนถึงปี 2023 รวมถึงผลประกอบการหลักของ CPF ที่คาดว่าจะเติบโตแรง YoY ไปจนถึงอย่างน้อยกลางปี 2023 โดยเฉพาะส่วนแบ่งกำไรจาก CTI (ธุรกิจหมูจีน) ที่จะพลิกกลับไปเป็นกำไรทั้งปี 2023

Highlights:

  • ผู้บริหารมองราคาไก่เนื้อไทยจะยังคงยืนสูงในระดับราคา 45-47 บาท/กก. ต่อเนื่องไปยังปี 2023 เนื่องจากเห็นปริมาณการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศสหรัฐฯ ส่งผลให้อุปทานปู่ย่าพันธุ์ลดลงและไม่เพียงพอสำหรับปีหน้า
  • ผู้บริหารมองราคาหมูไทยยังยืนในระดับสูง และมองว่ามีโอกาสที่ราคาหมูจะปรับเพิ่มขึ้นจากราคาปัจจุบันเนื่องจากจำนวนประชากรพ่อแม่พันธุ์และลูกหมูที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมองราคาหมูเวียดนามมีแนวโน้มกลับไปยืนที่ 6 หมื่น/ดองอีกครั้งเพื่อรองรับเทศกาลตรุษจีนเวียดนามและงานเฉลิมฉลองในเดือนม.ค. และกำลังซื้อที่ฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้
  • ผู้บริหารมองว่าผลประกอบการของ Bellisio และ HyLife มีแนวโน้มเป็นจุดต่ำสุดในปี 2022 ก่อนที่จะฟื้นตัวในปี 2023 โดยผลประกอบการของ HyLife มีแนวโน้ม ดีขึ้นในปี 2023 จากค่าเงินเยนที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกไปญี่ปุ่นเริ่มดีขึ้น (ซึ่ง HyLife พึ่งพาตลาดส่งออกญี่ปุ่นกว่า 50%)
  • ในส่วนของ Bellisio ปัญหาอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงงานที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับการแก้ไขจากการปรับราคาขายเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอีก 30-50% ซึ่งการปรับราคาระลอกที่สามจะเสร็จสิ้นในเดือนธ.ค.นี้ บวกกับการใช้อัตรากำลังการผลิตเต็มที่ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้าสำหรับลูกค้าห้างรายใหม่ ในสหรัฐฯ
  • ผู้บริหารมองว่าราคาไก่ส่งออกไปยุโรปยังคงเป็นทิศทางขาขึ้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงของ recession เนื่องจากการระบาดไข้หวัดนกส่งผลให้ปริมาณไก่เข้าสู่ตลาดน้อยลง บวกกับต้นทุนคู่แข่งในฝั่งยุโรปที่สูงกว่าไทยจากต้นทุนค่าไฟฟ้าและ ค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า

View From Fundamental:

ภายใต้สมมติฐานที่ราคาหมูจีนสามารถยืนได้เหนือ 20 หยวน/กก. บวกกับการพลิกกลับมาขาดทุนลดลงของทั้ง HyLife และ Bellisio เรามองว่าเป็นอัพไซด์ต่อประมาณการกำไรหลักของเรา ณ ปัจจุบันสำหรับในปี 2023 เรายังคงแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ที่ราคาเป้าหมาย 33.60 บาท ซึ่ง PER ในปี 2023 ที่ 12.1 เท่าถือว่ายังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 13.3 เท่า

- Advertisement -