บล.บัวหลวง: 

GFPT (GFPT TB/GFPT.BK)

GFPT – ราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งจนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าราคาไก่มีชีวิตได้ปรับตัวลดลงเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่กลับฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลบวกต่อ GFPT โดยตรง ซึ่งเป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่ในประเทศรายสําคัญ ราคาลูกเจี๊ยบที่ทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนภาวะการขาดแคลนพันธุ์ไก่ ณ ปัจจุบัน เรามองว่าราคาหุ้น ณ ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ถูกมาก

ราคาไก่มีชีวิตปรับตัวลดลง แต่ราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่กลับปรับตัวเพิ่มขึ้น

ถึงแม้ว่าราคาไก่มีชีวิตในกทม. ได้ปรับตัวลดลง 6% ในเดือนธ.ค. จาก 43.5 บาท/กก. (25 ต.ค.-20 พ.ย.) เหลือ 41 บาท/กก. (8 ธ.ค. จนถึงปัจจุบัน) เนื่องจากมีวันหยุดยาว 3 วันติดต่อกัน 2 ช่วง (ส่งผลให้อุปสงค์การบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงชั่วคราว) แต่ราคาไก่มีชีวิตในต่างจังหวัดยังคงทรงตัวในระดับดีที่ 45-46 บาท/กก.- 45บาท/กก. (6 ธ.ค. ถึงปัจจุบัน) ในจังหวัดนครปฐม และ 46 บาท/กก. (5 ก.ย. จนถึงปัจจุบัน) ในจังหวัดชลบุรี สิ่งที่น่าสนใจ คือ ราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับต่ำครั้งล่าสุดในเดือนต.ค. 2565 (ซึ่งสวนทางกับราคาไก่มีชีวิตที่อ่อนตัวลงใน เดือนต.ค.-ธ.ค.) ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของประชาชนให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น โดยเปลี่ยนจากการบริโภคเนื้อไก่ที่เป็นชิ้นส่วนหลักไปสู่ผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ และชิ้นส่วนไก่แทน  เราเห็นราคาโครงไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตั้งแต่กลางเดือนต.ค. จากระดับต่ำสุดในครั้งล่าสุดที่ 19 บาท/กก. (10-24 ต.ค.) ไปเป็น 25 บาท/กก. (8-12 ธ.ค.) นอกจากนี้ ราคาขาไก่ได้ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนก.ย. จากระดับต่ำสุดครั้งล่าสุดที่ 66.5 บาท/กก. (12 ก.ย.-24 ต.ค.) ไปเป็น 72.50 บาท/กก. (8-12 ธ.ค.)

และเนื่องจาก GFPT ไม่ได้ขายไก่มีชีวิต แต่ขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่ในประเทศ ราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้นจึงส่งผลบวกต่อยอดขายไก่ในประเทศของทั้ง GFPT และ GFN ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง YoY ในไตรมาส 4/65 (แม้ว่ายอดขายในประเทศจะมีแนวโน้มลดลง QoQ ถ้าเทียบกับราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่ในประเทศที่แตะระดับสูงสุดไปในไตรมาส 3/65) เราคาดราคาโครงไก่เฉลี่ยที่ 22.3 บาท/กก. ในไตรมาส 4/65 เพิ่มขึ้น 64% YoY (จาก 13.6 บาท/กก. ในไตรมาส 4/64) แต่ลดลง 18% QoQ (จาก 27.3 บาท/กก. ในไตรมาส 3/65) โดยภาพรวมแล้ว เราคาดว่าทั้งราคาไก่มีชีวิตและราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในเดือนม.ค. 2566 เนื่องจากเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน

ราคาลูกเจี๊ยบที่ยืนในระดับสูงต่อเนื่องสะท้อนภาวะการขาดแคลนพันธุ์ไก่

ราคาลูกเจี๊ยบทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 19.25 บาท/ตัว ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์การขาดแคลนลูกเจี๊ยบอย่างต่อเนื่อง เรามองว่าเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันของการระบาดของโรคไข้หวัดนกใน หลายประเทศ บวกกับอุปทานลูกเจี๊ยบส่วนใหญ่อยู่ในมือผู้ประกอบการไก่รายใหญ่ (ไม่ใช่รายย่อย) ผู้ประกอบการไก่รายย่อยจึงไม่น่าที่จะมีจํานวนลูกเจี๊ยบเพียงพอ และอาจยกเลิกแผนการขยายกำลังการผลิตเนื่องจากต้นทุนอาหาร สัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อัพไซด์จากการใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่ และค่าขนส่งที่ลดลง

อัพไซด์ของยอดขายในปี 2566 ของเราจะมาจากการลดการเว้นระยะห่างทางสังคมในโรงงาน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตในไลน์ไก่ปรุงสุก 5 ไลน์จาก 80% ไปเป็น 100% ในปี 2566 พร้อมกับการรับรู้เข้ามาเต็มปีของโรงงานไก่แปรรูปแห่งใหม่แห่งที่สาม ซึ่งมีกำลังการผลิต 3 หมื่นตัน/ปี ของ McKey ในปี 2566 และโรงเชือดแห่งใหม่ ซึ่งมีกำลังเชือดที่ 1.5 แสนตัว/วัน ของ GFPT ซึ่งอัตราการเชือดเริ่มต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 40-50% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นอกจากนี้ อัพไซด์ต่อกำไรในปี 2566 ยังจะมาจากอัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวลดลง ซึ่งลดลงมาแล้ว 30-40% จากระดับสูงสุด และ ณ ปัจจุบันมูลค่าหุ้นของ GFPT ถือว่าอยู่ในระดับที่ถูกมาก โดยซื้อขายที่ PER ที่ 7.6 เท่า หรือคิดเป็น -0.37 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PER ระยะยาวที่ 10.75 เท่า PER ที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา (ที่ไม่รวม PER ที่ 2-5 เท่าในช่วงที่รายงานขาดทุนรายไตรมาสในช่วงปี 2549-50 และ 2555) อยู่ที่ 7.49 เท่าในเดือนส.ค. 2558

- Advertisement -