ชี้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงต่างชาติเพิ่มศักยภาพสู่ฮับด้านการผลิตของโลก ‘พรินซิเพิล เวียดนาม’ ให้ผลตอบแทนสูงสุดในกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนาม ปี 2564 ที่ 42.95% และ 1 ปีที่ 96.84% พร้อมเปิดซื้อขายได้ทุกวันทำการตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมเป็นต้นไป
บลจ. พรินซิเพิล ประเมินเศรษฐกิจเวียดนามแข็งแกร่ง รับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ยกระดับประเทศสู่ ‘ฮับด้านการผลิตของโลก’ และก้าวสู่สังคมเมือง หนุนการเติบโตในระยะยาว มองสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ล่าสุด แม้ส่งผลต่อการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังเติบโตสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย ชี้เป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้น หลังตลาดปรับฐานแล้วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และจะกระทบต่อตลาดทุนในระยะสั้น ชูกองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (PRINCIPAL VNEQ) ให้ผลตอบแทนสูงสุดในปี 2564 (กรกฎาคม) ที่ 42.95% และ 1 ปีย้อนหลังที่ 96.84% สูงสุดเมื่อเทียบกับกองทุนหุ้นเวียดนามทั้งหมด (Benchmark : 51.18% และ 110.26% Source Bloomberg ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564) โดดเด่นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนามในประเทศไทย**
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า จากการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตสูงและน่าสนใจต่อการเข้าลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากภายหลังเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา – จีน ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) จำนวนมากจากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิต เนื่องจากค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศไทยและจีน 2 – 2.5 เท่า และมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีเพื่อสิทธิประโยชน์จากภาษีมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายการบริหารประเทศที่ค่อนข้างนิ่ง มีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้เวียดนามกำลังยกระดับจากประเทศ ‘เกษตรกรรม’ ไปสู่ ‘ฮับด้านการผลิตของโลก’ และการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมเมืองหรือ Urbanization จากรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวและกลายเป็นประเทศที่น่าจับตามองที่สุดในภูมิภาคนี้
สำหรับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติหรือ FDI ในเวียดนามในปี 2564 คาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 6% ของ GDP และเคยพุ่งขึ้นสูงสุดคิดเป็นสัดส่วน 10% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าประเทศไทย จีนและค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุน FDI 3 อันดับแรกอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต สาธารณูปโภคและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมีการลงทุนในเซ็กเตอร์อื่นๆ เช่น ค้าปลีก-ส่ง, เทคโนโลยีและยานพาหนะ, โลจิสติกส์และการขนส่ง เป็นต้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามกำลังก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมการผลิตและสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดส่งออกจากจีนได้มากพอสมควร โดยมีบริษัทต่างชาติชั้นนำที่ลงทุนในเวียดนาม อาทิ Nidec ผู้ผลิตมอเตอร์จากญี่ปุ่น, LG และ SAMSUNG บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้, Goertek ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในจีน ฯลฯ
ทั้งนี้ มองว่าอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในเวียดนาม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์และที่อยู่อาศัย โดยในเซ็กเตอร์นิคมอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีการขยายตัวจากพื้นที่ตอนใต้ สู่ตอนกลางและตอนเหนือของเวียดนาม เนื่องจากความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง เช่น อุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี, อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์, Vinfast แบรนด์รถยนต์ของเวียดนาม เป็นต้น ส่งผลให้ราคาที่ดินในเวียดนามภายหลังเกิดเทรดวอร์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้รุกขยายธุรกิจจากการพัฒนาที่อยู่อาศัย สู่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองดีมานด์ รวมถึงเกิดความต้องการด้านโลจิสติกส์และที่อยู่อาศัยโดยรอบนิคมฯ เพื่อรองรับการลงทุน จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ภาคการนำเข้า-ส่งออกของเวียดนามในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตสูงมาก โดยไตรมาส 2 ของปีนี้เติบโตถึง 40%
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. พรินซิเพิล กล่าวต่อว่า หากพิจารณาสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ของเวียดนามในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในระยะสั้น โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังเพิ่มขึ้นเป็น 7,878 คนต่อวัน และมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 150,000 คน ล่าสุดรัฐบาลเวียดนามจึงขยายระยะเวลาล็อกดาวน์นครโฮจิมินห์และอีก 18 พื้นที่ต่อไปถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564 ส่วนเมืองดานังและฮานอยอาจถูกขยายระยะเวลาล็อกดาวน์เช่นกัน ขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 แล้วมีสัดส่วน 5.49% และ 0.6% ของประชากรทั้งประเทศ (กว่า 90 ล้านคน) การฉีดวัคซีนจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้าย โดยมีเป้าหมายฉีดวัคซีนแก่ประชาชนถึง 50% ภายในสิ้นปีนี้ และ 70% ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า พร้อมทั้งได้จัดหาวัคซีนรองรับจำนวน 100 ล้านโดส
ทั้งนี้ แม้ว่านักวิเคราะห์ทั่วโลกได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้เหลือ 6.55% (ข้อมูล ณ 30 กรกฎาคม 2564) จากเดิม 6.7% (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564) และ 7.3% (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) อย่างไรก็ตาม บลจ. พรินซิเพิล มีมุมมองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามยังมีความน่าสนใจอย่างมาก โดย IMF คาดการณ์อัตราเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2022 – 2026 (ณ 6 เมษายน 2564) ที่อัตราเฉลี่ย 6.84% ต่อปี ซึ่งจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคเอเซีย ดังนั้นในช่วงไตรมาส 3 นี้ เป็นจังหวะดีในการ ‘ทยอยสะสม’ หุ้นเวียดนามโดยการซื้อเฉลี่ยแบบ DCA หลังจากในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามได้ปรับฐานไปแล้ว โดยดัชนี VNINDEX ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1,243 จุด ณ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากจุดสูงสุดที่ 1,420 จุด ณ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา และเชื่อว่าหากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบนี้ได้ ตลาดหุ้นเวียดนามพร้อมปรับตัวขึ้นตอบรับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามผ่านกองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ (PRINCIPAL VNEQ) ซึ่งเป็นกองทุนแฟลกชิพที่เข้าลงทุนโดยตรงในหุ้นเวียดนามและเน้นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต โดยมีผลการดำเนินงานในปี 2564 (YTD – กรกฎาคม 2564) ที่ 42.95% และผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ที่ 96.84% (Benchmark : 51.18% และ 110.26% Source Bloomberg ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564) โดดเด่นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนามในประเทศไทย** โดยสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป