บล.กรุงศรีฯ:

BANKING SECTOR – ได้แรงส่งจากเศรษฐกิจฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น (POSITIVE)

พอร์ตสินเชื่อหดตัวลงเล็กน้อยหลังกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ชำระคืนหนี้ในเดือนพ.ย. ขณะด้านกำไรรวมของกลุ่มธนาคารใน 4Q22 เราคาดจะปรับลดลง qoq จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล แต่คาดว่ากำไรรวมจะยังเพิ่มขึ้น yoy จากพอร์ตสินเชื่อ และ NIM ที่ปรับตัวดีขึ้น เราคงให้น้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารที่ OW เนื่องจากสภาวะด้านบวกจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น และวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเลือก SCB (155 บาท) และ BBL (180 บาท) เป็นหุ้นเด่นของเราในกลุ่มนี้

พอร์ตสินเชื่อเดือนพ.ย. ชะลอตัวหลังกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ชำระคืนหนี้

พอร์ตสินเชื่อของธนาคารขนาดใหญ่ลดลง 0.7% mom ในเดือนพ.ย. 2022 แต่ยังขยายตัวได้ 2% ytd สำหรับงวดรวม 11M22 โดยธนาคารใหญ่ที่พอร์ตสินเชื่อหดตัวได้แก่ BBL, KBANK, SCB และ TTB โดย BBL หดตัวมากที่สุด 3.5% mom หลังลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ชำระคืนหนี้ ในขณะที่พอร์ตของ KBANK, SCB และ TTB หดตัวลงเล็กน้อย 0.7%, 0.3% และ 0.1% mom ตามลำดับ อย่างไรก็ดีด้านสินเชื่อของกลุ่มธนาคารที่เน้น HP และสินเชื่อผู้บริโภคกลับสามารถมีการขยายตัวของสินเชื่อได้โดยพอร์ตสินเชื่อของ KKP ขยายตัว 1.1% mom ส่วนของ TISCO ขยายตัว 0.9% mom และของ KTB ขยายตัว 0.8% mom ตามลำดับ

 

โมเมนตัมกำไรแผ่วลงเพราะ OPEX เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล

ด้านการประเมินผลประกอบการของกลุ่มธนาคารใน 4Q22 เราคาดว่ากำไรรวมของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ราว 3.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 9% qoq แต่เพิ่มขึ้น 15% yoy โดยกำไรที่ลดลง qoq หลักๆจะเป็นเพราะ OPEX ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลในช่วงปลายปี โดยเราประเมินสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้อาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับประมาณ 40% ปลายๆ เนื่องจากต้นทุนบุคคลกร การบริหาร และค่าใช้จ่ายด้านระบบ IT ที่มีการบันทึกสูงขึ้นเข้ามาในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม เราคาดว่ากำไรจะยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ yoy ต่อเนื่องจากพอร์ตสินเชื่อที่มีการขยายตัวมา ytd, NIM ปรับดีขึ้น และ ECL ทีทยอยกลับเข้าสู่ระดับปกติ

 

กลุ่มธนาคารได้แรงส่งจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น

เราคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารที่ overweight โดยเลือก SCB (ราคาเป้าหมาย 155 บาท) และ BBL (ราคาเป้าหมาย 180 บาท) เป็นหุ้นเด่น เรามองว่ากลุ่มธนาคารจะได้อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในปี 2023 ซึ่งจะทำให้อุปสงค์สินเชื่อแข็งแกร่งขึ้น, NIM ฟื้นตัวต่อ และคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มดีขึ้น เราคาดว่า SCB จะได้แรงส่งจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยอย่างมากเพราะธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดในสินเชื่อโรงแรมสูงที่สุดที่ประมาณ 20% ในขณะเดียวกัน เรามอง BBL จะได้อานิสงส์จากอุปสงค์สินเชื่อที่แข็งแกร่งจากการลงทุนภาคเอกชน และการส่งผ่านผลของการขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างราบรื่นเพราะลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารมี financial profile ที่แข็งแรง

- Advertisement -