บล.บัวหลวง: 

Khon Kaen Sugar Industry (KSL TB/KSL.BK)

KSL – แย่กว่าคาด; คาดกำไรหลักไตรมาส 1/66 ทรงตัว YoY

ต่ำกว่าคาดอย่างมีนัยสําคัญ

KSL รายงานทําไรสุทธิไตรมาส 4/65 (1 ส.ค.-31 ต.ค. 2565) ที่ 55 ล้านบาท ลดลง 63% YoY และ 89% QoQ หากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาส 4/65 ซึ่งได้แก่ 1) ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 13 ล้านบาท 2) ขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ชีวภาพ 7 ล้านบาท 3) กำไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 121 ล้านบาท 4) ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ถาวร 59 ล้านบาท 5) ขาดทุนจากการขายและตัดจําหน่ายสินทรัพย์ 31 ล้านบาท และ 6) ค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ 5 ล้านบาท บริษัทรายงานขาดทุนหลักที่ 13 ล้านบาทในไตรมาสนี้ หรือคิดเป็นขาดทุนหลักที่ลดลง 96% YoY แต่แย่ลง QoQ ถ้าเทียบกับกำไรหลักในไตรมาส 3/65 ที่ 479 ล้านบาท กำไรสุทธิต่ำากว่าที่เราคาด 78% ในขณะที่ขาดทุนหลักแย่กว่าที่เราคาดก่อนหน้า ซึ่งเราคาดก่อนหน้าเป็นกำไรหลักที่ 200 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายที่ต่ำกว่าคาด ยอดขายต่ำกว่าคาด 28% เนื่องจากวอลุ่มส่งออกน้ำตาลที่น้อยกว่าคาดจากการเลื่อนส่งมอบไปเป็นไตรมาส 1/66 แทน อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้อยู่ที่ 14.2% ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับที่เราคาดก่อนหน้าที่ 14.4% ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่ำกว่าที่เราคาด 13% เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งที่ลดลง บริษัทรายงานส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมที่ 9 ล้านบาทในไตรมาสนี้ โดยหลักๆ มาจากผลขาดทุนของ BBGI

ประเด็นสําคัญจากผลประกอบการ

ขาดทุนหลักที่ลดลงอย่างมาก YoY เนื่องจากการเปรียบเทียบกับขาดทุนหลักจํานวนมากในไตรมาส 4/64 (ซึ่งเป็นผลมาจากกำไรของธุรกิจนํ้าตาลที่ต่ำมากจากต้นทุนอ้อยที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด และขาดทุนจำนวนมากของธุรกิจไฟฟ้าเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงที่นานถึง 20 วันในไตรมาส 4/64) แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในปีนี้การปิดโรงไฟฟ้าเพื่อซ่อมบำรุงได้กระจายออกไปทั้งในไตรมาส 3/65 และไตรมาส 4/65 ทั้งนี้วอลุ่มขายน้ำตาลของประเทศไทยอยู่ที่ 1.19 แสนตันในไตรมาส 4/65 (ลดลง 27% YoY และ 51% QoQ) ซึ่งในส่วนของวอลุ่มส่งออกอยู่ที่เพียงแค่ 8.87 หมื่นตัน (ลดลง 32% YoY และ 57% QoQ) วอลุ่มขายน้ำตาลรวม (รวมวอลุ่มขายในต่างประเทศ) อยู่ที่ 1.32 แสนต้นในไตรมาส 4/65 ลดลง 21% YoY และ 46% QoQ ราคาขายนํ้าตาลเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 19,436 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 18% YoY และ 7% QoQ (โดยมีปัจจัยหนุนมาจากราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้น)

ยอดขายธุรกิจน้ำตาลและกากน้ำตาลอยู่ที่ 2.84 พันล้านบาทในไตรมาสนี้ ทรงตัว YoY แต่ลดลง 42% QoQ ในขณะที่ยอดขายธุรกิจไฟฟ้าอยู่ที่ 302 ล้านบาทในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้น 37% YoY แต่ลดลง 14% QoQ วอลุ่มขายไฟฟ้า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 28% YoY ไปอยู่ที่ 79,527 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ในขณะที่ราคาขายไฟเฉลี่ยในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 7% YoY และ 5% QoQ ไปอยู่ที่ 3,543 บาท/เมกะวัตต์-ชั่วโมง (จากค่า Ft ที่ปรับเพิ่มขึ้น) ขาดทุนขั้นต้นของธุรกิจไฟฟ้าในไตรมาสนี้ลดลง 68% YoY ขณะที่กำไรขั้นต้นของธุรกิจน้ำตาล และกากนํ้าตาลเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 240% YoY

แนวโน้ม

เราคาดกำไรหลัก 350 ล้านบาทในไตรมาส 1/66 (1 พ.ย. 2565-31 ม.ค. 2566) ทรงตัว YoY เนื่องจากฐานกําไรหลักไตรมาส 1/65 ที่อยู่ในระดับสูงมาก แต่เพิ่มขึ้น QoQ อย่างมีนัยสำคัญ (เทียบกับขาดทุนหลัก 13 ล้านบาทในไตรมาส 4/65) เนื่องจากการเลื่อนส่งมอบวอลุ่มน้ำตาลจากไตรมาส 4/65 ไปเป็นไตรมาส 1/66 แทน เราคาดวอลุ่มขายน้ำตาลของประเทศไทยของ KSL ในช่วง 1.5-2 แสนตันในไตรมาส 1/66 เพิ่มขึ้นจาก 1.19 แสนตันในไตรมาส 4/65 นอกจากนี้ ราคาขายน้ำตาลคาดว่าจะยังทรงตัวในระดับสูงในช่วงไตรมาส 1/66 โดยราคาเฉลี่ยของราคานํ้าตาลทรายดิบเบอร์ 11 ในตลาดโลกนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 1/66 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 19.7 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้น 3% YoY และ 8% QoQ ในขณะที่ผลการดำเนินงานของธุรกิจ ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น QoQ เช่นกัน เนื่องจากไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในไตรมาส 1/66

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป

เราทำการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ลงอีก 13% (เหลือ 1.38 พันล้านบาท) เพื่อสะท้อนประมาณการยอดขายปี 2566 ที่ปรับลดลงอีก 5% ราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2566 ที่อิงวิธี PER ปรับลดลงอีก 14% (จาก 5.85 บาทเหลือ 5 บาท) ซึ่งอิงจาก PER ที่ 16 เท่า

คําแนะนํา

เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” เนื่องจากราคาน้ำตาลที่ยังคงทรงตัวในกรอบสูงที่ 18-21 เซนต์/ปอนด์ (โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากน้ำตาลโลกที่เกินดุลแค่เล็กน้อยในปี 2566/67) วอลุ่มอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยและของ KSL ที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2566 และกำาไรหลักที่คาดว่าจะยังคงเติบโตแข็งแกร่งในปี 2566

- Advertisement -