บล.ฟิลลิป:
ธนาคารทหารไทยธนชาต – TTB มีจุดเด่นด้านสินเชื่อรายย่อย
Key Point
TTB เป็นธนาคารที่มีจุดเด่นทางด้านสินเชื่อรายย่อย และเมื่อควบรวม กับ ธ.ธนชาตทำให้จุดแข็งในเรื่องนี้มีมากขึ้น และถึงแม้ว่าสินเชื่อรายย่อยจะเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง แต่สินเชื่อที่ TTB มีจะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ทำให้ NPL มีไม่มาก นอกจากนี้ TTB ยังมีจุดเด่นทางด้านเงินฝากที่มีความหลากหลายตรงความต้องการของลูกค้า ยังคงราคาพื้นฐานไว้ที่ 1.50 บาท และยังแนะนำ “ทยอยซื้อ”
มีจุดเด่นด้านสินเชื่อรายย่อย
หลังจากการควบรวมกับ ธ.ธนชาต ทำให้มีการโอนพอร์ตสินเชื่อของ ธ.ธนชาตมาที่ TTB ซึ่งสินเชื่อส่วนใหญ่ของ ธ.ธนชาตเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ ส่งผลให้ ณ 3Q65 พอร์ตสินเชื่อของ TTB ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายย่อย คิดเป็นถึง 58% ของสินเชื่อทั้งหมด โดยสินเชื่อเช่าซื้อเป็นสัดส่วน 20% ของสินเชื่อทั้งหมด และสินเชื่อบ้านเป็นอีก 23% ของสินเชื่อทั้งหมด ส่วนอีก 5% เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งถึงแม้ว่าสินเชื่อรายย่อยจะเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง แต่สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ทำให้ TTB มี NPL ต่ำ โดยมีอยู่ 2.72% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่มี NPL อยู่ 2.93% อยู่พอสมควร
มีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลาย
TTB เป็นธนาคารที่มีนวัตกรรมทางด้านเงินฝาก และมีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลาย อย่างเช่น เงินฝากเพื่อการออมเงิน No-Fixed, Me Save และเงินฝาก Ultra saving ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 45% ของเงินฝากทั้งหมดของ TTB นอกเหนือจากเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป และเงินฝากกระแสรายวันที่คิดเป็น 40% ของเงินฝากทั้งหมด ส่วนเงินฝากประจำนั้นคิดเป็นเพียง 15% ของเงินฝากทั้งหมด ถึงแม้ว่า TTB จะมีเงินฝากเพื่อการออมเงินคิดเป็นสัดส่วนถึง 45% และเงินฝากประเภทนี้เป็นเงินฝากที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป แต่ต้นทุนเงินฝากของ TTB ก็ถือว่าอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก โดย 3Q65 อยู่ที่ 0.92% เท่ากับค่าเฉลี่ยต้นทุนเงินฝากของกลุ่มธนาคารพอดี
คาดกำไร 4Q65 เพิ่มขึ้น 20.7% y-y แต่ลดลง 9% q-q
คาดกำไร 4Q65 ของ TTB จะออกมาที่ 3.7 พันลบ. เพิ่มขึ้น 20.7% y-y จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ และการลดลงของการตั้งสำรองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คาดว่ากำไรจะเพิ่มมากขึ้น แต่คาดว่ากำไรจะลดลง 9% q-q โดยรายได้ดอกเบี้ยอาจจะทรงตัวเนื่องจากการหดตัวลงของสินเชื่อ และคาดว่าการตั้งสำรองจะทรงตัว แต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นปกติในช่วงปลายปีจะทำให้กำไรลดต่ำลง คาดว่าปี 65 TTB จะมีกำไร 13.7 พันลบ. เพิ่มขึ้นถึง 31.1% y-y จากการตั้งสำรองที่ลดลงมากเป็นหลัก ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยทรงตัว และรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง ส่วนปี 66 คาดว่ากำไรจะลดลง 2.2% y-y เนื่องจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจากการกลับไปจ่ายเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ ในระดับเดิม
ความเสี่ยง
- ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
- ความเสี่ยงด้านเครดิต
- การเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน