บล.บัวหลวง: 

Thaicom (THCOM TB/THCOM.BK)

THCOM – ปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย; รวมมูลค่าเพิ่มจากสองใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม

ณ ปัจจุบันเราได้ทำการรวมมูลค่าเพิ่มจากสองใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมที่ THCOM ชนะการประมูลเข้าไปในประมาณการของเราแล้ว (วงโคจร 119.5/120 องศาตะวันออก และวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก) ส่งผลให้ราคาเป้าหมายของเราสําหรับ THCOM ปรับเพิ่มขึ้นอีก 30% (ไปเป็น 18.24 บาท) เราประเมินว่าใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมทั้งสองใบอนุญาตซึ่งมีอายุ 20 ปี จะสร้างความมั่นคงต่อรายได้ให้กับ THCOM ในระยะยาว

THCOM เป็นผู้ชนะสองใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม

กสทช. ประกาศผลการประมูลใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่ (1) Space Tech Innovation (บริษัทย่อยของ THCOM) ชนะประมูลใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม 119.5/120E (องศาตะวันออก) หรือแพ็คเก็จ 3 ที่ราคา 417.408 ล้านบาท และวงโคจรดาวเทียม 78.5E (แพ็ค เก็จ 2) ที่ราคา 380.017 ล้านบาท และ (2) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) (NT) เป็นผู้ชนะประมูลใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม 126E (แพ็คเก็จ 4) ที่ราคา 9.076 ล้านบาท บริษัท Prompt Technical Services จํากัด เข้าร่วมประมูลสําหรับแพ็คเก็จ 2 (วงโคจรดาวเทียม 78.5E) แต่ถอนตัวในเวลาต่อมา ทั้งนี้ไม่มีผู้ที่สนใจเข้าประมูลวงโคจรดาวเทียม 50.5/51E (แพ็คเก็จ 1) และ 142E (แพ็คเก็จ 5) แต่อย่างใด ทั้งนี้ราคาชนะประมูลของแพ็คเก็จ 2 3 และ 4 ถือว่าสูงกว่าราคาจองคิดเป็น 5.6% 5% และ 5% ตามลำดับ และเนื่องจากแพ็คเก็จ 1 (วงโคจรดาวเทียม 50.5E) จำเป็นต้องยิงดาวเทียมให้ทันภายในเดือนพ.ย. 2567 เพื่อที่จะให้ประเทศไทยยังคงได้สิทธิหรือรักษาสิทธิของวงโคจรของประเทศไทยกับไอทียู ดังนั้นจึงส่งผลให้ไม่มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลในวงโคจรดาวเทียมนี้

เซอร์ไพรซ์! THCOM ชนะ 2 ใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม ส่งผลให้เราคํานวณมูลค่าเพิ่มเข้าไปในราคาเป้าหมาย

เนื่องจากราคาที่ชนะการประมูลสูงกว่าราคาประมูลตั้งต้นเพียงแค่ 5% เรามองว่าการแข่งขันในครั้งนี้ถือว่าน้อยมาก (หรือแทบจะไม่มีเลย) ก่อนหน้านี้ เราใช้สมมติฐานว่า THCOM จะสนใจเข้าประมูลเพียงแค่แพ็คเก็จเดียว (คือ แพ็คเก็จ 3 ของวงโคจรดาวเทียมที่ 119.5/120E) ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเพิ่มอีก 2.20 บาท/หุ้นให้กับราคาเป้าหมายของ THCOM ของเรา ณ สิ้นปี 2566 ซึ่ง อิงกับราคาชนะประมูลที่ 477 ล้านบาท และเนื่องจาก ณ ปัจจุบัน THCOM ชนะการประมูล 2 แพ็คเก็จ (ซึ่งรวมแพ็คเก็จ 2 ของวงโคจรดาวเทียม 78.5E) ดังนั้นจึงส่งผลให้เราทำการปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 2.02 บาท/หุ้น นอกจากนี้ สําหรับแพ็คเก็จ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้เราคาดว่าราคาชนะประมูลจะอยู่ที่ 477 ล้านบาท หรือคิดเป็นสูงกว่าราคาประมูลตั้งต้น 20% แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ตาม เนื่องจากราคาที่ชนะประมูลสูงกว่าราคาประมูลตั้งต้นเพียงแค่ 5% เราจึงทําการปรับมูลค่าของแพ็คเก็จ 3 เพิ่มขึ้นอีก 0.04 บาท/หุ้น (จาก 2.20 บาท/หุ้น เป็น 2.24 บาท/หุ้น)

ณ ปัจจุบันเราเปลี่ยนวิธีการประเมินราคาเป้าหมายของ THCOM โดยมาอิงกับวิธี SOTP ซึ่งประกอบไปด้วย (1) มูลค่า 14 บาท/หุ้นจากวิธี P/BV โดยอิงกับค่าเฉลี่ยกรอบบนของ P/BV ที่สูงเป็นอันดับสองที่ 1.42 เท่า ในช่วงเดือนมิ.ย. 2559-ก.ค. 2560 (ซึ่งเคลื่อนไหวในกรอบ 1.35-1.59 เท่า) (2) มูลค่า 2.24 บาท/หุ้น สําหรับใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมที่ 119.5/120E และ (3) มูลค่า 2.02 บาท/หุ้นสำหรับใบอนุญาตวงโคจร ดาวเทียมที่ 78.5E เราทำการปรับราคาเป้าหมายของเราสำหรับ THCOM เพิ่มขึ้นอีก 30% (จาก 14 บาทไป เป็น 18.24 บาท)

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนยังคงต่ำกว่าข้อกําหนดการดำรงเงื่อนไขทางการเงินหลังจากการเบิกเงินกู้ที่เพิ่มเติม

เราใช้สมมติฐานอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 3:1 สำหรับทั้งสองใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม (119.5/120E และ 78.5E) โดยงบลงทุนรวมสำหรับดาวเทียมทั้งสองดวงรวมกันอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท และการเบิกเงินกู้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2566-2568 เพื่อใช้ในการสร้างดาวเทียมดวงใหม่อีก 2 ดวง การรวมภาระมูลหนี้ใหม่จากดาวเทียมทั้งสองดวงเข้ามาจะส่งผลให้ภาระหนี้รวมของ THCOM เพิ่มขึ้นจาก 5.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ไปเป็น 1.12 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อทุนของบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0.36 เท่า ณ สิ้นปี 2565 ไปเป็น 0.55 เท่า ณ สิ้นปี 2566 และ 1.07 เท่า ณ สิ้นปี 2568 ซึ่งถือว่ายังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ หรือหุ้นกู้ที่ต้องคงไว้ไม่ให้เกิน 2 เท่า เราคาด IRR ของใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม 119.5/120E และใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียม 78.5E ที่ 10.2% และ 12.1% ตามลำดับ โดยมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 7 ปีและ 6 ปีตามลำดับ เราคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากทั้ง 2 ใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมเข้ามาตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

- Advertisement -