บล.เอเซีย พลัส:

คาดกําไร 4Q65 ลดลง จาก MARGIN ลดลง

คาดกําไรสุทธิงวด 4Q65 เท่ากับ 1.4 พันล้านบาท ลดลงถึง 45% qoq และ 27% yoy ขณะที่คาดกําไรปกติงวด 4Q65 เท่ากับ 1.8 พันล้านบาท ลดลง 9% qoq (แต่เพิ่มขึ้น 3% yoy) มีปัจจัยกดดันจาก Gross margin อ่อนตัวลง จาก Product mix ที่เปลี่ยนไป และช่วง low season ของธุรกิจ Red Lobster

คาดกําไรสุทธิปี 2566 จะเติบโต 7% yoy จากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตและ Red Lobster ฟื้นตัว ทั้งนี้ ในเบื้องต้น คาดกําไรปกติงวด 1Q66 จะทรงตัวใกล้เคียง งวด 4Q65 จากช่วง high season ของธุรกิจ Red Lobster หักล้างแนวโน้ม gross margin ที่จะอ่อนตัวลงบ้าง จากแนวโน้มค่าเงินบาทเฉลี่ยงวด 1Q66 ที่แข็งค่าขึ้น จากงวด 4Q65 ราคาหุ้นปัจจุบันมีค่า PER ปี 2566 ที่ 11 เท่า และคาด Div yields ราว 4-5% แนะนําซื้อลงทุนรับปันผล

ที่มา: สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส

PRODUCT MIX และ RED LOBSTER กดดันแนวโน้มกำไร 4Q65

คาดกำไรสุทธิงวด 4Q65 เท่ากับ 1.4 พันล้านบาท ลดลงถึง 44.6% qoq และ 27.4% yoy เนื่องจากคาดว่า TU จะบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษเข้ามาทั้งสิ้น 425 ล้านบาท (เทียบกับงวด 3Q65 ที่ TU บันทึกกำไรพิเศษเข้ามามากถึง 532 ล้านบาท) แบ่งเป็น 1) แนวโน้มผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 200 ล้านบาท และ 2) คาดค่าใช้จ่ายพิเศษจากการประเมินมูลค่ายุติธรรมของ Preferred shares ของ Red Lobster (TU ถือหุ้น Preferred shares ใน Red Lobster 24% ของทุนชำระแล้ว) เข้ามาสุทธิ (หลังหักภาษี) 225 ล้านบาท (เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี ไม่กระทบเงินสด)

ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการพิเศษ คาดกำไรปกติงวด 4Q65 เท่ากับ 1.8 พันล้านบาท ลดลง 8.6% goq (แต่เพิ่มขึ้น 3.4% yoy) มีปัจจัยกดดันจาก

1) แนวโน้ม Gross margin งวด 4Q65 จะปรับลดลงมาที่ 17.5% จาก 18.2% ในงวด 3Q65 ผลกระทบจากแนวโน้ม Product mix ที่เปลี่ยนไป เพราะเป็นช่วง high season ของธุรกิจอาหารแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่มี Margin ต่ำกว่าธุรกิจอื่น และค่าเงินบาทเฉลี่ยงวด 4Q65 แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย 0.2% qoq (แต่อ่อนค่าลง 8.9% yoy) มาที่ 36.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

และ 2) คาดส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมงวด 4Q65 จะอยู่ที่ 350 ล้านบาท แย่ลง จากที่บันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมงวด 3Q65 อยู่ที่ 256 ล้านบาท และ 244 ล้านบาทในงวด 4Q64 สาเหตุหลักมาจากแนวโน้มส่วนแบ่งขาดทุนจากธุรกิจ Red Lobster งวด 4Q65 จะปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 490 ล้านบาท แย่ลงจากที่ TU บันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจาก ธุรกิจ Red Lobster เข้ามา 456 ล้านบาท ในงวด 3Q65 เนื่องจากเป็นช่วง low season ของธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาพายุหิมะในหลายรัฐ ทำให้ผู้บริโภคออกมาทานอาหารนอกบ้านลดลงชั่วคราว

ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 1) แนวโน้มรายได้รวมงวด 4Q65 ที่จะปรับเพิ่มขึ้น 0.8% qoq และ 6.7% yoy มาที่ 4.1 หมื่นล้านบาท ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาส โดยคาดรายได้ธุรกิจอาหารแช่เย็นและแช่แข็ง (38% ของรายได้รวม) งวด 4Q65 จะปรับเพิ่มขึ้น 14.7% qoq และ 2.3% yoy) มาที่ 1.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วง high season ของธุรกิจอาหารแช่เย็นแช่แข็ง เพราะมีวันหยุดยาวเยอะ หนุนผู้บริโภคออกไปทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ขณะที่คาดรายได้ธุรกิจอาหารกระป๋อง (42% ของรายได้รวม) งวด 4Q65 จะปรับลดลง 0.2% qoq (แต่เติบโต 11.9% yoy) มาที่ 1.7 หมื่นล้าน บาท และคาดรายได้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและสินค้ามูลค่าเพิ่ม (20% ของรายได้รวม) งวด 4Q65 จะปรับลดลงถึง 20.2% QoQ (แต่เติบโต 6.3% yoy) มาที่ 7.1 พันล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 4 มีวันหยุดยาวในต่างประเทศ ทำให้ลูกค้าในสหรัฐฯ และยุโรปมีการเตรียมสั่งซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงไว้ล่วงหน้าบ้างแล้วในงวด 3Q65 และปรับลดคำสั่งซื้อชั่วคราวในช่วงวันหยุดยาวในช่วงปลายธ.ค. 65 และ 2) สัดส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/Sales งวด 4Q65 จะอยู่ที่ 12.0% ดีขึ้นจาก 12.4% ในงวด 3Q65 ผลบวกจากแนวโน้มค่าขนส่งปรับลดลงจนใกล้ช่วงก่อนโควิดแล้ว

โดยรวมแล้ว คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2565 เท่ากับ 7.3 พันล้านบาท ลดลง 8.9% yoy สูงกว่าประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ 8% และคาดการณ์กำไรปกติปี 2565 เท่ากับ 7.2 พันล้านบาท ลดลง 0.6% yoy สอดคล้องกับประมาณการกำไรปกติปี 2565 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้

ธุรกิจหลักจะกลับมาเติบโตในปี 2566

คงประมาณการ คาดกำไรสุทธิปี 2566 จะเติบโต 7.4% yoy จากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารกระป๋องเติบโต ขณะที่คาด gross margin ปี 2566 จะฟื้นตัวเล็กน้อยมาที่ 17.8% นอกจากนี้ ยังคาดส่วนแบ่งกำไรจาก Red Lobster จะทยอยฟื้นตัวในปี 2566

ในเบื้องต้นคาดกำไรปกติงวด 1Q66 จะทรงตัวใกล้เคียงงวด 4Q65 โดยคาดธุรกิจ Red Lobster จะฟื้นตัวจากช่วง high season ของธุรกิจ หักล้างแนวโน้ม gross margin ที่จะอ่อนตัวลงบ้าง จากแนวโน้มค่าเงินบาทเฉลี่ยงวด 1Q66 ที่แข็งค่าขึ้นจากงวด 4Q65

FAIR VALUE ปี 2566 เท่ากับ 22 บาท

กำหนด Fair Value ปี 2566 เท่ากับ 22 บาท อิงวิธี DCF (WACC 7.34%) ราคาหุ้นปัจจุบันมี PER ปี 2566 ที่ 11 เท่า และสามารถคาดหวัง Div Yields ได้ 4-5% ต่อปี แนะนำซื้อลงทุนรับปันผล

การทําธุรกิจโดยให้ความสําคัญต่อ ESG

กลยุทธ์ Sea Change มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนและดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล

Environmental: จับปลาทูน่าจากเรือที่ใช้วิธีการจับอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากลตรวจสอบย้อนกลับได้

Social: ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม เช่น จ้างแรงงานถูกกฎหมาย พัฒนาด้านการศึกษาของเด็กไทยและต่างชาติ และการเงินอย่างยั่งยืน เป็นต้น

Governance: การกำกับดูแลกิจการที่ดี ต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

ประเด็นความเสี่ยง

1. ความผันผวนของค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ บาท/ยูโร หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จะกดดันแนวโน้มกําไรสุทธิ ของ TU

2. ความผันผวนของราคาวัตถุดิบทูน่า หากราคาวัตถุดิบทูน่าปรับสูงขึ้น แต่ TU ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาขายให้ สอดคล้องกับต้นทุนได้ จะกดดันแนวโน้มกําไรสุทธิของ TU

ท่ีมา: สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส

- Advertisement -