นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP

กางแผนปี 66 เน้นลงทุนธุรกิจศักยภาพสูง เพิ่มนวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร รับเศรษฐกิจฟื้น

SCGP รายงานผลประกอบไตรมาส 4 มีกำไรสุทธิ 449 ล้านบาท ลดลง -79% yoy และ -76% qoq หรือ EPS 0.10 บาท แต่หากตัดรายการพิเศษออกจะมีกำไรปกติ 306 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 74% และประกาศจ่ายปันผลที่ 0.35 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend yield ครึ่งปีหลังที่ 0.63/% ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 4 เมษายน 66

ขณะที่ทั้งปี 65 มีรายได้จากการขาย 146,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากการควบรวมกิจการกับพันธมิตรชั้นนำศักยภาพสูง (M&P) การขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนกำไรลดลง มาจากผลกระทบด้านปริมาณขายลดลง และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น มองภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปี 66 มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจีนเปิดประเทศ ชู 5 กลยุทธ์สร้างธุรกิจแข็งแกร่งรับเศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ การขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่มีโอกาสเติบโตสูง การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจร การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งห่วงโซ่อุปทาน การวางแผนบริหารจัดการเชิงรุก และการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ESG 4 Plus ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตต่อเนื่องที่ 160,000 ล้านบาท

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2565 ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยต่าง ๆ โดยมีรายได้จากการขาย 146,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน ผลจากการวางกลยุทธ์ขยายกำลังการผลิตและการควบรวมกิจการกับพันธมิตร (M&P) การรับรู้รายได้เต็มปีจากการรวมผลประกอบการของบริษัทที่ M&P ได้แก่ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab การรับรู้รายได้บางส่วนจาก Peute และ Jordan และการปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วน EBITDA เท่ากับ 19,402 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากปีก่อน และมีกำไรสำหรับปี 5,801 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 30 จากปีก่อน จากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงการลดลงของปริมาณการขายและอุปสงค์กระดาษบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และในภูมิภาคจากการล็อกดาวน์ของประเทศจีน

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 SCGP มีรายได้จากการขาย 33,509 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 มี EBITDA อยู่ที่ 3,554 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสำหรับงวด 450 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 79 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการและราคาขายบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภคของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทั้งบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ยังเติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการทยอยเปิดประเทศ

SCGP ได้กำหนดแผนเงินลงทุนไว้ 100,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2564-2568) เพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ 200,000 ล้านบาท ในปี 2568 โดยในปี 2564-2565 SCGP ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 37,000 ล้านบาท ในการลงทุนและขยายกำลังการผลิตในธุรกิจที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโต ทำให้ SCGP สามารถสร้างรายได้และผลตอบแทนที่สูงท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย สะท้อนถึงโมเดลธุรกิจและทิศทางการดำเนินธุรกิจของ SCGP ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม และสามารถสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งให้ SCGP ได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท โดยบริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลงวดระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.35 บาท ในวันที่ 24 เมษายน 2566 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 5 เมษายน 2566 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 4 เมษายน 2566

นายวิชาญ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสแรกของปี 2566 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากจะได้รับปัจจัยบวกจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การนำเข้าและส่งออก ตลอดจนห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังคงมีความท้าทายจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ผันผวนต่อเนื่อง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับสูง และการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงในหลายภูมิภาค เช่น กลุ่มสหภาพยุโรปและประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าใหญ่ของภาคธุรกิจการส่งออกของอาเซียน

SCGP ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้ปีนี้ที่ 160,000 ล้านบาท ด้วย 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1. การสร้างการเติบโตจากการ M&P และการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และมองโอกาสขยายสู่ธุรกิจอื่น ๆ ที่มีศักยภาพสูง โดยมุ่งเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และผสานความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทย่อย (Synergy) ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี การขยายฐานลูกค้าและจัดหาวัตถุดิบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงาน โดยตั้งงบประมาณการลงทุนในปีนี้ที่ 18,000 ล้านบาท

2. การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มคุณค่าและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ด้วยงบประมาณและค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา 800 ล้านบาท

3. การยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานของทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain integration) การดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Operational excellence) ด้วยการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตและผลิตผล และการใช้ Data Analytics เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านข้อมูลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (End-to-End)

4. การวางแผนบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน การวางแผนบริหารความเสี่ยงในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้น การบริหารจัดการเงินสด และงบประมาณการลงทุน (CAPEX) อีกทั้งยังมีการกระจายฐานลูกค้าหลากหลายประเทศและกลุ่มอุตสาหกรรม การมองหาตลาดใหม่ในแถบตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกาใต้

5. ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวคิด ESG 4 Plus โดยมีเป้าหมายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนที่จะเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ทั้งหมดร้อยละ 100 จากปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตทั้งหมดในปี 2568 พร้อมทั้งการดำเนินงานตามแผนงานเพื่อที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

- Advertisement -