บล.บัวหลวง:

Charoen Pokphand Foods (CPF TB/CPF.BK)

CPF – คาดราคาหมูจีนและเวียดนามฟื้นตัวในไตรมาส 2/66

เรามองว่าการพลิกกลับเป็นกำไรของ CTI และ CPP หนุนโดยราคาหมูจีนและเวียดนามที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ และส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก CPALL และ MAKRO จะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของกำไรของ CPF ในปี 2566 มูลค่าหุ้น ณ ปัจจุบันถือว่ายังคงถูกและน่าสนใจ โดยซื้อขายที่ PER ปี 2566 ที่ 12 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 13.2 เท่า

ส่องกล้องไตรมาส 4/65–พลิกกลับเป็นกําไรหลัก YOY

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/65 ที่ 2.2 พันล้านบาท ลดลง 67% YoY และ 57% QoQ หากไม่รวมรายการอัตราแลกเปลี่ยนขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพ (ส่วนใหญ่เป็นของเวียดนามและไทย) และกําไรจากการเทรดดิ้งหุ้น CPALL เราคาดกําไรหลักไตรมาส 4/65 ที่ 2.48 พันล้านบาท พลิกกลับเป็นกำไร YoY แต่ลดลง 55% QoQ การพลิกกลับไปเป็นกําไรหลัก YoY หนุนโดย: 1) ราคาหมูที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย (เพิ่มขึ้น 32% YoY) จีน (เพิ่มขึ้น 43%) เวียดนาม (เพิ่มขึ้น 29%) ลาว (เพิ่มขึ้น 84%) มาเลเซีย (เพิ่มขึ้น 84%) และ ไต้หวัน (เพิ่มขึ้น 13%) 2) ราคาไก่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย (เพิ่มขึ้น 35% YoY) เวียดนาม (เพิ่มขึ้น 19%) ลาว (เพิ่มขึ้น 53%) อินเดีย (เพิ่มขึ้น 12%) และไต้หวัน (เพิ่มขึ้น 9 %) 3) กำไรที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดของ CTI (บริษัทร่วมของ CPF ที่ทำธุรกิจหมูในประเทศจีน) ผ่านการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม 4) การพลิกกลับมาเป็นกำไรของ CPP และ 5) การเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดของกําไรหลักของ CPALL และ MAKRO ผ่านการรับรู้ส่วนแบ่งกําไรจากบริษัทร่วม ซึ่งกลบต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ผลขาดทุนจาก HyLife ที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น และภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด กําไรหลักที่ลดลง QoQ เป็นผลมาจากช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจส่งออกและธุรกิจสัตว์น้ำ ราคาหมูที่ลดลงหลักๆ ของประเทศไทย (ลดลง 1% QoQ) เวียดนาม (ลดลง 14%) และกัมพูชา (ลดลง 26% QoQ) เราคาด อัตรากำไรขั้นต้นที่ 14% ในไตรมาส 4/65 เทียบกับ 7.1% ในไตรมาส 4/64 และ 15% ในไตรมาส 3/65

คาดราคาหมูจีนเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/66 เป็นต้นไป

ราคาหมูจีนปรับตัวลดลงต่อเนื่องลงสู่ระดับต่ำสุดล่าสุดที่ 14.38 หยวน/กก. ในวันที่ 12 ม.ค. 2566 (เทียบกับระดับสูงสุดล่าสุดที่ 28.18 หยวน/กก. เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565) ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ 15.19 หยวน/ กก. ในช่วงวันที่ 19-20 ม.ค. (ซึ่งถือว่ายังคงขาดทุนถ้าเทียบกับต้นทุนการผลิตของ CTI ที่ 16-17 หยวน/กก.) เรามองว่าการปรับตัวลดลงของราคาหมูจีนในช่วงเร็วๆ นี้เป็นปัจจัยลบระยะสั้น เนื่องจากราคาหมูจีนในอีก 4 เดือน ข้างหน้าอยู่ที่ 17-18 หยวน/กก. ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์การบริโภคหมูที่กลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากที่จีนกลับมาเปิดประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 เป็นต้นไป เราคาดราคาหมูจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ เรายังมองว่าราคาหมูเวียดนามล่าสุดที่ลดลงเหลือ 52,000 ดอง/กก. ในช่วงเดือนธ.ค.-ม.ค. เป็นปัจจัยลบระยะสั้นเช่นกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามที่แย่ลงและการจับจ่ายใช้สอยของประเทศ เวียดนามที่ลดลง เรามองว่าปัจจุบันถือว่าเป็นจุดต่ำสุดเนื่องจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ

การระบาดของ ASF ในประเทศไทยหนุนราคาหมูไทย

นอกจากอุปสงค์เนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและเทศกาลตรุษจีนในช่วงที่ผ่านมาแล้ว การระบาดของโรค ASF ในประเทศไทยกลับมาขยายวงกว้างมากขึ้นได้ส่งผลให้ราคาหมูไทยกลับมาเพิ่มขึ้นมาอยู่ในช่วง 96-99.50 บาท/กก. ในเดือน ม.ค. (จาก 94-97.5 บาท/กก.) และเนื่องจากอุปทานลูกหมูที่มีจำกัด ราคาลูกหมูและอาหารสัตว์ที่ยังคงยืนในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทยที่กลับมาใหม่ เราจึงมองว่าเป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการหมูรายย่อยจะกลับเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ผลประกอบการ Bellisio และ HyLife มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี 2566

การปรับราคาขายเพิ่มขึ้นของ Bellisio ซึ่งจะสะท้อนในปี 2556 บวกกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบในอัตราที่ชะลอตัวลง จะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ Bellisio ปรับตัวดีขึ้นในปี 2566 นอกจากนี้ การรวมธุรกิจและปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่องของ HyLife ส่งผลให้เราคาดว่า HyLife มีแนวโน้มขาดทุนลดลงในปี 2566

- Advertisement -