เสิร์ฟข่าวดี บอร์ดไฟเขียวจ่ายปันผล 0.18 บาท/หุ้น
บมจ.แอดเทค ฮับ (ADD) เดินหน้าโชว์ศักยภาพความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โชว์งบ 6 เดือนแรกของปี 64 โตตามเป้า โกยรายได้ 262.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113.6 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 51.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ขับเคลื่อนให้สังคมไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว หนุนรายได้การให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์พุ่งแรงถึง 78.5% จากปีก่อน และการให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโตถึง 20.8% จากปีก่อน พร้อมเสิร์ฟข่าวดีผู้ถือหุ้น หลังบอร์ดอนุมัติจ่ายปันผลงวดครึ่งปีแรก 0.18 บาท/หุ้น จ่อ XD วันที่ 24 สิงหาคม และจ่ายเงินปันผลวันที่ 9 กันยายนนี้
นายชวัล บุญประกอบศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดเทค ฮับ จำกัด (มหาชน) หรือ ADD ดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการระบบสนับสนุนบริการดิจิทัลคอนเทนต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่และให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนของปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ว่า บริษัทฯมีรายได้จากการให้บริการรวม เท่ากับ 262.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 76.1 เมื่อเทียบจากปีก่อนที่มีรายได้ 149.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 51.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 62.2 เมื่อเทียบจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 31.5 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมจากการให้บริการ เท่ากับ 128 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.7 ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 24.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากการขยายตัวของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก 1.) การให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ผ่านช่องทางโทรคมนาคม มีรายได้รวมเท่ากับ 226 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีการเพิ่มคู่ค้าด้านการตลาดในช่องทางออนไลน์ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น และมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 61.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.5 เทียบกับปีก่อน ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง ตามต้นทุนส่วนใหญ่ที่เป็นต้นทุนมาจากส่วนแบ่งรายได้ให้แก่คู่ค้าด้านการตลาดซึ่งจะแปรผันไปตามรายได้ และคู่ค้าด้านการตลาดรายใหม่ในช่องทางออนไลน์มีอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่สูงขึ้น
2.) การให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เท่ากับ 36.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 เทียบกับปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯมีการให้บริการโครงการใหม่แก่ลูกค้ากลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เทียบกับปีก่อน โดยอัตรากำไรขั้นต้นลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าบริการคลาวด์เซิร์ฟเวอร์และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานเพิ่มขึ้นรวม 3.7 ล้านบาท และ 3.) การให้บริการโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.5 เทียบกับปีก่อน เนื่องจากลูกค้ากลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีการใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณาลดลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 และมีขาดทุนขั้นต้น 1.2 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพนักงานซึ่งเป็นต้นทุนคงที่
“ภาพรวมของตลาดบริการ Digital ในปี 2564 คาดว่าจะมีการเติบโตร้อยละ 13.2 และมีมูลค่าตลาดรวมที่ 231,220 ล้านบาท จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้สังคมไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลเร็วขึ้น ส่งผลให้การให้บริการออนไลน์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ทุกภาคบริการภายใต้การขยายการให้บริการโครงข่ายการสื่อสาร 4G ของผู้ประกอบการโทรคมนาคม และอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่เอื้ออำนวยให้เกิดการใช้ดิจิทัลในทุกวงกว้างมากขึ้นเพิ่มความสะดวกสบายและรวดเร็วให้กับลูกค้า รวมถึงการลงทุนเครือข่าย 5G ถือเป็นโครงข่ายความเร็วสูงที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการใช้งานได้จริงในอนาคต หนุนให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Digital Content ใหม่ๆ ออกมารองรับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะการใช้บริการ Digital Content ในรูปแบบการสมัครสมาชิก ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวสนับสนุนให้ภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีแรกเติบโตอย่างโดดเด่น”
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติจ่ายปันผลงวด 6 เดือนแรกปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย. 2564) ในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท รวมเป็นเงินปันผลทั้งหมด 28.8 ล้านบาท โดยวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 25 สิงหาคม 2564 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เพื่อดำเนินการจ่ายปันผลในวันที่ 9 กันยายน 2564
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดเทค ฮับ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่าภาพรวมธุรกิจของบริษัทฯ ในครึ่งปีหลัง 2564 ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้บริการดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงได้รับอานิสงส์จากระบบชำระเงินค่าบริการหรือสินค้าผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Carrier Billing) ที่โอเปอเรเตอร์พยายามให้ลูกค้าหันมาจ่ายค่าคอนเทนต์ผ่านซิมมือถือ โดยจะทำให้ได้ส่วนแบ่งจากผู้ผลิตคอนเทนต์มากขึ้นก็จะเป็นผลดีต่อบริษัทฯ ที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากโอเปอเรเตอร์เช่นกัน ดังนั้นจากปัจจัยดังกล่าวจึงถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ในส่วนของรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต